DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 6 DeFi Vaccine ฟาร์มยังไงไม่ให้เงินหายและสิ่งที่นักฟาร์มควรรู้

สวัสดีครับหลังจากที่เราเล่าไปในตอนที่แล้วเกี่ยวกับว่าผลตอบแทนใน DeFi นั้นมาได้อย่างไรซึ่งหวังว่าแต่ละคนจะเข้าใจว่าที่มาที่ไปของ APR นั้นมาจากไหน โดยในบทความนี้เราจะมาเล่าถึงคำถามที่พบบ่อยในวงการ DeFi รวมไปถึงกรณีผิดพลาดมักเกิดขึ้นซึกบางครั้งก็นำไปสู่ความเสียหายมหาศาลเลยทีเดียว (ข้อมูลบางส่วนนำมากจากซีรี่ย์ DeFi Vaccine ที่จัดทำโดยเจไดเอิร์ธ)

ความแตกต่างระหว่าง Private Key, Public Key, Seed, Address

ความรู้เรื่อง Private Key นั้นเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่คุณจะต้องเข้าใจ ซึ่งคุณไม่ควรลงทุนในแพลตฟอร์ม DeFi ใดๆ หากยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ เพราะมันอาจจะทำให้คุณเสียเงินไปทั้งหมดได้ หากไม่รู้วิธีรักษาเหรียญคริปโตที่ดีพอ หลายท่านอาจไม่ทราบว่า Private Key และ Seed นั้นมีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าคุณจะติดตั้งระบบความปลอดภัยที่ดีกี่ชั้นหรือซื้อ Hardware Wallet มาใช้ ก็จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าคุณทำรหัส Seed หลุดไปให้โจร

Seed Pharse 1 ตัวสามารถมีหลาย Address ได้

โดยทั่วไปแล้วถ้าคุณใช้ Metamask 1 Seed จะมีแค่ Address เดียวแต่ใน Hardware Wallet หรือ Mobile Wallet จะมีสิ่งที่เรียกว่า extended public key” (xpub) ที่จะทำให้คุณสามารถสร้าง Address  จำนวนมากโดยอ้างอิงจาก Seed เดียวได้ 

วิธีการดูแล Seed word และ Private Key

โดยทั่วไปแล้วในบาง Wallet จะสามารถ Export Private Key ออกมาดูได้ แต่อย่างไรก็ตามนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่คุณควรจะทำ เพราะ private key ต่างๆสามารถเข้าถึงได้ด้วย seed ได้อยู่แล้ว โดยหลังจากที่คุณได้ Seed word มาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือให้คุณจด Seed word เหล่านั้นใส่กระดาษเท่านั้น “ห้ามถ่ายรูป, ห้ามแคปหน้าจอ, ห้ามพิมพ์ลงใน Notepad, google drive, line, facebook หรือทำให้มันอยู่ในรูปแบบดิจิทัลเด็ดขาด” มีกรณีมากมายของคนที่ถูก Hack จากความมักง่ายโดยเก็บ Seed ในรูปแบบดิจิทัล และหลังจากคุณจด Seed แล้วคุณควรลองเอา Seed มาลอง Recover ดูซักครั้งหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าคุณไม่ได้จด Seed ผิดไม่เช่นนั้นเมื่อถึงคราวที่คุณต้องการใช้มัน คุณอาจจะไม่สามารถกู้เงินของคุณก็เป็นได้

โดยปกติแล้วเมื่อเราทำการย้าย Wallet เช่นหากเราใช้ Metamask อยู่เราก็สามารถเอาไป Recover ที่ Safepal หรือ Trust Wallet ได้ แต่คุณควรจะเอา Seed มา Recover ในกรณีที่คุณทำ Wallet หายเท่านั้นหากคุณจะย้าย Wallet ในระหว่างที่คุณย้าย Seed ของคุณอาจจะเกิดการรั่วไหลได้

Hardware Wallet ไม่ได้ช่วยคุณได้เสมอไป

การใช้ Hardware Wallet เป็นสิ่งที่ใครที่คิดอยากเป็นนักลงทุน DeFi หรือคนที่ต้องการความปลอดภัยสูงควรหามาใช้ ข้อดีของ Hardware wallet คือเป็นอุปกรณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้อง Private Key ของคุณใน Hardware Wallet จาก Malware หรือไวรัสคอมต่างๆ ในขณะที่คุณใช้งาน รวมถึงตอนที่คุณสร้างกระเป๋า Wallet ขึ้นมาครั้งแรก รหัสคำ Seed word นี้จะปรากฎอยู่บนตัวอุปกรณ์ Hardware Wallet เท่านั้น เพื่อให้คุณทำการจดเก็บใส่กระดาษได้ ทำให้คุณวางใจได้ว่าจะไม่โดนขโมย Seed ไปแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตามหาก ถ้าคุณทำ Seed หลุดเอง เงินคุณก็โดนขโมยได้อยู่ดี ให้คุณลองนึกภาพว่า Hardware Wallet เปรียบเสมือนระบบกันขโมยที่คุณติดไว้ในบ้านคุณเพื่อป้องกันไม่ให้โจรขึ้นบ้าน แต่ถ้าคุณเอาของมีค่าของคุณไปวางไว้นอกบ้านซะเอง ระบบกันขโมยก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้ เช่นเดียวกันกับ Hardware Wallet และ Seed นั่นคือเรายังจำเป็นที่จะต้องเก็บ Seed ไว้ในที่ที่ปลอดภัยอยู่ดี

Blockchain มีหลากหลายเครือข่าย(chain) 

โดยที่แต่ละเหรียญคริปโตหรือแพลตฟอร์ม DeFi จะต้องตั้งอยู่บน เครือข่ายของ Blockchain ใดๆสักหนึ่งเครือข่ายเสมอ บางแพลตฟอร์มมีตัวตนอยู่ในหลาย chain โดย chain ที่แตกต่างกันนี้เปรียบเสมือนคนละมิติ คนละโลก เหมือนเล่นเกมออนไลน์คนละเซอเวอร์ แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เวลาโอนเหรียญ คุณต้องทำการเลือก chain ให้ถูกต้องกับ chain นั้นๆ และถ้าคุณโอนเหรียญไปผิด chain เงินคุณมีโอกาสหายได้ หรือไปโผล่ผิดกระเป๋าทำให้ต้องเสียเงินและเสียเวลาในการพาเงินกลับมายังปลายทางที่ถูกต้อง

ทำความเข้าใจ chain ที่ support ทั้งต้นทางและปลายทางก่อนโอนเสมอ เช่น คุณไม่สามารถโอนเหรียญ USDT จากเว็บเทรดไทย ไปกระเป๋า Metamask ของคุณที่ chain ของ Binance Smart Chain ได้ เพราะเว็บเทรดไทยสามารถส่ง USDT ผ่าน chain ของ Ethereum และ Omni ได้เท่านั้น และถ้าคุณส่งเหรียญแบบ BEP-20 มาที่ Exchange ไทยคุณอาจจะต้องเสียค่าจัดการ (Bitkub คิดค่าธรรมเนียม 3000 บาท Zipmex ไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่จะเสียเวลานานมาก)

ตัวอย่างการโอนเหรียญที่มักจะผิดบ่อยๆคือความเข้าใจผิดระหว่าง Binance Smart Chain (BEP-20) และ Ethereum Chain (ERC-20) เนื่องจาก Binance Smart Chain นั้นเป็น Blockchain ที่ทำการ Copy มาจาก Ethereum ทำให้รูปแบบของ Address นั้นเป็นรูปแบบเดียวกันซึ่งจะไม่สามารถทำให้ระบบช่วยเหลือที่คอยตรวจสอบรูปแบบของ Address ไม่ให้เราโอนผิด Chain สามารถช่วยเราได้

Note: ในกรณที่เราใช้ Wallet ของตัวเอง Private Key ตัวเดียวกันจะสามารถเข้าถึงเลขกระเป๋าเดียวกับบน BSC และ Ethereum ได้ เพราะงั้นถ้าเราโอนผิดบน Wallet ของเราเองที่เรามี Private Key การกู้คืนจะง่ายกว่าการโอนผิดบนเว็บเทรด Exchange มาก

เครือข่าย Chain ต่างๆในปัจจุบัน

– Ethereum (ERC-20)
– Binance Smart Chain (BEP-20)
– Binance Chain (ฺBEP-2)
– Terra
– Solana
– Wanchain
– Tron (TRC-20)

ลักษณะของการหลอกลวงที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

นอกจากการที่เราที่เราจด Seed word ไว้ในรูปแบบดิจิทัลและมีโอกาสหลุดออกไป การหลอกลวงที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือการถูก Phishing และมักจะเกิดบน Application อย่าง Telegram ที่เป็นเหมือนแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการสื่อสารของโครงการต่างๆ

รูปแบบการหลอกลวงที่เกิดขึ้นบ่อยๆคือการที่เราเข้าไปถามคำถามบางอย่างใน Telegram ของโครงการ DeFi ใดๆ ซึ่งโดยปกติแล้วเจ้าของโครงการหรือทีมงานจะไม่ส่งข้อความมาหาคุณโดยตรง จะเป็นการโต้ตอบในกลุ่มเท่านั้น

แต่บ่อยครั้งที่เมื่อเราเข้าไปถามคำถามอะไรก็ตามในกลุ่มเหล่านี้อาจจะมีผู้ที่แอบอ้างเป็นแอดมินโดยตั้งชื่อโปรไฟล์และรูปเป็นหนึ่งในทีมงานของโครงการนั้นๆ และพยายามส่งลิ้งค์ที่อาจจะเป็นหน้า Web ที่หลอกให้เราใส่ Seed word ไป และเมื่อเราเผลอใส่ Seed word ลงไป เงินของเราก็จะถูกขโมยไปอย่างไม่มีวันกลับมา

Block Explorer เครื่องมือสำคัญที่ทุกคนต้องรู้

Block Explorer เป็นเว็บที่เอาไว้ดูบัญชีและธุรกรรมการโอนเงินที่เกิดขึ้นใน Blockchain คุณสามารถดู transaction หรือ address ไหนของใครก็ได้ และสามารถดูได้แม้กระทั่งรายละเอียดว่า transaction นี้คุณทำอะไร Block Explorer (ฺBscscan สำหรับ Binance Smart Chain หรือ Etherscan สำหรับ Ethereum Chain) เป็นตัวช่วยของคุณในหลายสถานการณ์ เช่น

  • Transaction ที่ fail จะมีรายละเอียดของสาเหตุบอกใน Block Explorer เช่น อาจจะเกิดจาก gas ไม่พอ หรือ หารเลขแล้วทศนิยมมากเกินไปให้ตัดเลขทศนิยมออกตอนฝากเงิน
  • บอกรายละเอียดว่ามีการเรียก Smart Contract ไหนบ้าง และมีโค้ดเป็นอย่างไร
  • เรียก Smart Contract ตรงๆ หากหน้าเว็บของฟาร์มนั้นมีปัญหาหรือปิดหนีไปแล้ว
  • นักลงทุน DeFi ต้องฝึกใช้ Block Explorer ให้เป็น โดยเริ่มจากทำความเข้าใจว่า transaction ที่เราทำจะสามารถดูได้บนเว็บเหล่านี้ หากจะขอความช่วยเหลือจากใคร สามารถส่งลิงค์ transaction ให้คนอื่นดูได้ เพื่อที่จะได้สามารถช่วยได้อย่างตรงจุด

โอนเหรียญไปแล้ว เหรียญไม่ขึ้น

เวลาโอนเหรียญไปกระเป๋าเราใน Metamask แล้วเหรียญไม่ขึ้น เป็นเพราะเรายังไม่ได้ Add Token นั้นในกระเป๋า ให้เรากด Add Token แล้วเลือกเหรียญที่เราโอนมาให้ถูกต้อง แล้วยอดเหรียญนั้นถึงจะขึ้นใน Metamask ถ้าเหรียญนั้นไม่มีให้เลือก ให้หา Contract Address ของเหรียญนั้นมาใส่ในหน้า Custom Token

หากคุณใช้ Binance Smart Chain คุณจะไม่สามารถ search เหรียญแล้ว Add Token ได้ เพราะที่ไม่ขึ้นอาจเพราะเหรียญเหล่านั้นเป็นของฝั่ง Ethereum คุณจะต้องเข้าไป search ชื่อเหรียญใน bscscan แล้วไปหา Contract Address ของเหรียญนั้นมาใส่ใน Custom Token เท่านั้น

ระวัง! อย่าเอา Contract Address ของปลอมมาใช้ เพราะของปลอมนี้สร้างขึ้นโดย hacker ที่รอขโมยเงินคนที่ไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง ให้เช็คที่เว็บของ DeFi นั้นๆเพื่อให้ได้ Contract Address ที่ถูกต้อง

โอนเหรียญไม่ได้ อย่าลืมเติม Gas

ถ้าไม่มีเหรียญที่ใช้สำหรับจ่ายค่า gas เราจะทำอะไรไม่ได้เลย Gas คือ ค่าธรรมเนียมที่ใช้ในการทำธุรกรรมใน Blockchain สำหรับบาง Blockchain อาจจะใช้ชื่ออื่น เช่น fee

การจ่ายค่า gas จะต้องจ่ายเป็นเหรียญตามที่ Blockchain นั้นกำหนด เช่น Ethereum ใช้เหรียญ ETH หรือ Binance Smart Chain ใช้เหรียญ BNB ศึกษาก่อนลงทุนเสมอว่าต้องใช้เหรียญอะไรในการจ่ายค่า gas

  • Gas Price คือ ราคา gas ต่อหนึ่งหน่วยที่เรายินดีจ่าย ยิ่งใส่เยอะเรายิ่งเสียเหรียญมากแต่ transaction จะสำเร็จไว ถ้าใส่น้อย transaction จะช้าแต่ประหยัด
  • Gas Limit คือ ลิมิตว่าเราจะจ่ายค่า gas มากที่สุดกี่หน่วย ปกติกระเป๋าเราจะคำนวณมาให้อยู่แล้วให้เชื่อเลขนั้นเลย แต่ถ้า transaction failed ด้วยสาเหตุ out of gas ให้เพิ่ม gas limit
  • ค่า gas สุดท้ายจะคำนวณจากการเอา gas price x gas limit
  • แต่ถ้า transaction นั้นจะ fail แน่ๆแบบในรูปที่มีขึ้นเตือนแดง และใส่ gas limit สูงผิดปกติ ห้ามกด confirm เพราะจะเสียเงินฟรี ให้ตรวจสอบว่าทำไมถึง fail

อย่าลืมใส่ Memo เวลาโอน

memo จะใช้สำหรับโอนเหรียญบางชนิด เช่น XRP, LUNA โดยเฉพาะการโอนไปเว็บเทรด เพราะเว็บเทรดจะใช้ memo ในการแยกแยะว่าเหรียญนี้เป็นของใคร หากเราลืมใส่ memo จะทำให้เงินเราหายได้ หรือเสียค่าใช้จ่ายในการกู้เงินคืน หากคุณลืม memo จริงๆ ให้ติดต่อ support ของเว็บเทรดปลายทาง

โอนผิด Address ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

นี่คือวิธีทำเงินหล่นหายที่คลาสสิคที่สุดของมือใหม่ เหตุการณ์นี้มักมาาจากหลายสาเหตุ เช่น

– ก๊อป Address อีกอันไว้อยู่แล้วลืมดูตอนวาง

– ก๊อป Address ใครมาไม่รู้แล้วไม่ตรวจก่อนโอน

– ก๊อปเอา Address เหรียญที่จะ Add Token มาโอนเฉย

– ก๊อปเอา Address ของฟาร์มมาโอนไปตรงๆ

– โดนไวรัสแก้ Address ในจังหวะ copy paste

ธีแก้ปัญหา ไม่ยากเลย คือเช็ค Address ก่อนโอน เหมือนก่อนคุณจะโอนเงินไปบัญชีธนาคารไหน คุณก็ต้องเช็คชื่อ เช็คเลขบัญชีก่อน หรือทางเราแนะนำให้ บันทึก Address ไว้เป็นชื่อ

การโอนที่ผิดพลาด โอกาสได้เงินคืนน้อยมาก เพราะฉะนั้นกรุณา เช็ค Address ก่อนโอน

ชื่อเหรียญคล้ายๆกัน

ไม่ได้หมายความว่ามันคือเหรียญเดียวกัน เช่น USDT, vUSDT, wanUSDT, AUSDT, DUSDT, YUSDT, UST, TUSD, BUSD, HUSD, USDN เป็นต้น

ชื่อเหรียญด้านบนทั้งหมด เป็นคนละเหรียญกันครับ ถึงแม้จะมีชื่อละม้ายคล้ายคลึงกัน หากเจอชื่อต่างแค่นิดเดียวให้คิดว่าเป็นคนละเหรียญไว้ก่อน

เหรียญที่คนมักจะสับสนมากที่สุด คงเป็น USDT และ UST โดยที่ USDT เป็นเหรียญ stable coin ใน Ethereum และ BSC ส่วนเหรียญ UST นั้นเป็นเหรียญ stable coin ของ Terra chain ดังนั้นอย่าโอน UST ไปยัง Address USDT ของเว็บเทรด หากคุณทำแบบนี้ เงินคุณจะหายไป หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อไปกู้เงินกลับมา เช็คชื่อเหรียญก่อนโอน

Note: Case ที่เคยเจอหนักที่สุดคือมีคนโอนเหรียญ UST ผ่าน Binance smart chain ไปยัง Address USDT ของ Ethereum บน Kucoin

ลงทุนแต่ในเว็บที่น่าเชื่อถือ

แพลตฟอร์ม DeFi ที่น่าเชื่อถือสามารถพิจารณาได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

– ผ่านการ Audit Smart Contract

– มี Community และภาพลักษณ์ที่ชัดเจน น่าเชื่อถือ

– ตรวจสอบโค้ดด้วยตนเองแล้วไม่มีช่องโหว่ หรือ สอบถามจากใน community ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่

– ลงทุนแต่ใน DeFi กระแสหลัก เช่น Uniswap, Pancakeswap, Venus, Compound, Mirror เป็นต้น

มีนักลงทุน DeFi หลายคนที่หลวมตัวไปลงทุนในเว็บอันตรายที่สร้างมาเพื่อหวังขโมยเงินจากนักลงทุน หากคุณไม่อยากรับความเสี่ยงนี้ ให้ยืนยันความน่าเชื่อถือของเว็บนั้นๆก่อนการลงทุนเสมอ

DYOR (DO YOUR OWN RESEARCH)

ศึกษาด้วยตนเองก่อนลงทุนเสมอ

ทักษะนี้เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดของนักลงทุนไม่ว่าจะในตลาดไหนก็ตาม เพราะหากคุณไม่สามารถศึกษาด้วยตนเองได้ คุณจะไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงและความปลอดภัยของเงินลงทุนของคุณได้

ศึกษาอย่างถี่ถ้วนให้มั่นใจก่อนลงทุน

เริ่มลงทุนทีละน้อยๆ จนเข้าใจแล้วจึงเริ่มลงทุนจริง

Note: สรุปง่ายๆคือใช้ Google ให้เป็น

คุณโดนขโมยเงินออกจากกระเป๋าได้

ถ้าไม่รู้จัก Spend Limit เวลาคุณใช้แอปมือถือธนาคาร คุณจะสามารถตั้งวงเงินที่ใช้โอนได้ ใน DeFi เรามีสิ่งนี้เหมือนกัน มันคือการ Approve ก่อนที่เราจะฝากเงินลงในฟาร์ม แต่ละฟาร์มจะต้องขออนุมมัติวงเงินของเหรียญนั้นๆจากกระเป๋าเราก่อน สิ่งที่หลายๆฟาร์มมักทำคือการขอวงเงินแบบ unlimited ซึ่งอันตรายมาก

เพราะเราสามารถถูกขโมยเหรียญนั้นออกไปจากกระเป๋าเราได้หมดโดยไม่รู้ตัวการ Approve แบบ unlimited เปิดโอกาสให้เว็บ DeFi ที่มีช่องโหว่สามารถดึงเหรียญออกจากกระเป๋าเราได้ สิ่งที่เราควรทำคือ กด Edit Permission ตอน Approve แล้วแก้ไขเป็น Custom Spend Limit ตามจำนวนเงินที่เราจะลงทุนเสมอ และ หากเว็บไหนเราไม่ลงทุนแล้ว ให้ไป Revoke เอาวงเงินที่อนุมัติไว้ออก การ Revoke สามารถทำได้ที่เว็บไซต์ https://app.unrekt.net/

อ่านย้อนหลังตอนก่อนหน้าได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู้การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 1 ปรับ Mindset ก่อนลงทุนใน DeFi

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 2 : ลงทุนความเสี่ยงต่ำด้วย Stablecoin ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าธนาคาร

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 3 : การฟาร์มด้วย Cryptocurrency และการคำนวณ Impermanent loss

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 4 การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ Platform และการถอนเงินผ่าน Smart Contract

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 5 : ผลตอบแทนที่สูงจาก DeFi ได้มาอย่างไร

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป

FOLLOW ME

Blockchain Life 2024

Crypto Coffee

Cryptomind Research Talk

CryptOmakase

ข่าวต่อไป