Bitcoin คืออะไร? เงินดิจิทัล? เงินที่ไม่มีตัวกลาง? สินทรัพย์ชนิดใหม่? เงินเถื่อน? สินทรัพย์เก็งกำไร? Blockchain คืออะไร? ฟองสบู่ชนิดใหม่? เมื่อเราพูดถึง Bitcoin หลายคนคงมีคำตอบในใจของตัวเองว่ามันคืออะไร บ้างก็ยังมีความเคลือบแคลงว่าเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้ ทำไมถึงเป็นที่นิยมขึ้นมาในสิบปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะให้ได้คำตอบนี้อย่างถ่องแท้ เราจะไปค้นหาคำตอบนี้ในยุคสมัยก่อนที่ Bitcoin จะกำเนิดขึ้นมาก่อนจะดีกว่า
โลกแห่งอินเทอร์เน็ต ระบบการเงินและความล้มเหลวของตัวกลาง
เมื่ออินเทอร์เนตกำเนิดขึ้นมาบนโลก มนุษย์ชาติก็ได้รู้ว่าข้อมูลข่าวสารนั้นสามารถส่งหากันได้ทั่วโลกแล้ว แต่มนุษย์ชาติก็ได้พบความจริงอีกหนึ่งสิ่งนั้นคืออินเทอร์เนตนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถควบคุมได้ และนั้นทำให้อินเทอร์เนตเต็มไปด้วยข้อมูลที่มากมายจริงบ้างหลอกลวงบ้าง และนั้นทำให้มนุษย์ชาติได้ทราบว่า มันเป็นไปได้ยากมาที่จะเชื่อถือข้อมูลใดๆบนอินเทอร์เนตยิ่งข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างข้อมูลทางการเงิน
ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์และระบบการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในแต่ละยุคนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการทำให้เม็ดเงินสามารถหมุนเวียนในระบบได้ดีขึ้นเรื่อยๆเพราะในทางเศรษฐศาสตร์เศรษฐกิจที่ดีคือการที่เม็ดเงินสามารถหมุนไปในระบบได้อย่างไม่ติดขัดและมีสภาพคล่องที่ดี และหมายความว่าถ้าเราสามารถส่งเงินได้เร็วเท่ากับความเร็วของอินเทอร์เนตก็จะทำให้ระบบการเงินของโลกเติบโตและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีกระดับนึง
ซึ่งมนุษย์ชาติก็แก้ปัญหาด้วยการสร้างตัวกลางตัวหนึ่งขึ้นมาดูแลข้อมูลทางการเงิน ซึ่งนั้นก็คือธนาคารนั้นเองแต่ตัวกลางอย่างธนาคารนั้นมีข้อบ่งพร่องที่ร้ายแรงอยู่สามข้อ
- การจะสร้างตัวกลางที่น่าเชื่อถืออย่างธนาคารได้นั้นมีต้นทุนที่หมาศาลมากเพื่อให้ธนาคารมีความน่าเชื่อถือซึ่งต้นทุนตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ระบบการเงินไม่ใช่ของที่ใครๆจะดูแลหรือเข้าถึงได้
- ระบบตัวกลางนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการโจรกรรมหรือการจู่โจมทางไซเบอร์ซึ่งหากตัวกลางนี้ถูกจู่โจมจนล้มเหลวระบบทั้งหมดจะใช้งานไม่ได้เหมือนการที่ระบบธนาคารล่ม
- ตัวกลางนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ฉ้อโกงเสียเองจากประวัติศาสตร์ของเรามีธนาคารมากมายที่ทำการฉ้อโกงในรูปแบบต่างไม่ว่าจะการผลิตเงินเพิ่มการลดค่าเงินทำให้เงินเฟ้อจนไปถึงการฟอกเงิน
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็ดำเนินมาจนในช่วงปี 2007-2008 ในช่วงวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพของอสังหาริมทรัพย์อเมริการซึ่งเกิดจากความโลภของนายธนาคารทำให้ธนาคารสหรัฐต้องผลิตเงินจำนวนมากเพื่ออุ้มเศรษฐกิจ
ผู้สร้าง Bitcoin นามว่า Satoshi Nakamoto
“ผมกำลังสร้างเงินอิเล็คทรอนิคส์ที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องใช้ตัวกลางใดๆ” มีโปรแกรมเมอร์ปริศนาที่ใช่นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ซึ่งปัจจุบันก็ไม่มีใครทาราบว่าเขาเป็นใคร เขาได้เผยแพร่ White paper ของ Bitcoin ที่เรียกว่า “BITCOIN: A PEER-TO-PEER ELECTRONIC CASH SYSTEM” เป็นการเปิดตัวเงินดิจิทัลที่เปลี่ยนหน้าของประวัติศาสตร์การเงิน ลงในอินเทอร์เน็ต และเปิดทำงานระบบ Bitcoin ตั้งแต่ปี 2009 และระบบ Bitcoin ก็ยังทำงานอยู่จนถึงปัจจุบัน
หมายเหตุ : ใน Genesis Transaction หรือข้อมูลการทำธุรกรรมของ Bitcoin แรกนั้น Satoshi ได้แฝงข้อความว่า “The Times 03/Jan/2009 Chancellor on brink of second bailout for banks” ซึ่งเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ Time ที่มีหมายถึง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษกำลังจะผลิตเงินเพิ่มเข้าไปในระบบเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนเป็นการประชดประชันรัฐบาล
คุณสมบัติของระบบ Bitcoin
ในเมื่อตัวกลางเดียวเป็นปัญหางั้นเราก็สร้างระบบที่รองรับโดยตัวกลางหลายๆตัวสิ และนั้นเป็นแนวคิดของ Bitcoin ปกติแล้วระบบทั่วไปหรือซอฟต์แวร์ต่างๆจะมีลักษณะของศูนย์กลางมีเพียงแค่จุดเดียวหรือกลุ่มเดียว แต่ Bitcoin กลับนำเสนอแนวคิดที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมกับระบบได้เพียงแค่ดาวโหลดโปรแกรมของ Bitcoin มาก็สามารถเข้าร่วมได้อย่างอิสระโดยปราศาจากเงื่อนไข ทำให้ระบบมันถูกเรียกว่าระบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ทำให้มันเป็นระบบการเงินระบบแรกของโลกที่ไม่สามารถถูกแทรงแซงหรือล้มล้างได้โดยรัฐบาลใดๆเพราะมีคอมพิวเตอร์ของระบบ Bitcoin ทำงานอยู่ทั่วโลก
และนั้นทำให้ระบบการโอนเงินของ Bitcoin ไม่ขึ้นกับตัวกลางใดๆในปัจจุบันเราสามารถโอน Bitcoin ข้ามประเทศได้โดยเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 70 สตางค์ไปจนถึง 100 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนการโอนซึ่งจะเสร็จสิ้นกระบวนการโอนภายในเวลา 1 ชั่วโมงไปจนถึง 1 วัน หรือเร็วกว่านั้นขึ้นกับผู้ให้บริการและค่าธรรมเนียม
Blockchain บัญชีสาธารณะที่ป้องกันการปลอมแปลงได้
เทคโนโลยี Blockchain นั้นฟังดูเข้าใจยากแต่ด้วยพื้นฐานแล้ว Blockchain ไม่ต่างอะไรกับการบันทึกบัญชีเงินเข้าเงินออกแม้แต่นิดเดียว จุดที่แตกต่างคือ ข้อมูลแต่ละจุดหรือที่เราเรียกว่า Block จะมีการเชื่อมโยงกันอยู่เสมอเช่น ถ้ามีการโอนเงินจาก A->B 50 BTC บรรจุลงใน Block ที่ 1 และมีการโอนของ B->C 25 BTC อยู่ใน Block ที่ 2 ใน Block ที 2 นั้นจะไม่ได้เก็บเพียงแค่ข้อมูลการโอนของตัวเองเท่านั้นแต่จะเก็บข้อมูลการโอนของ Block ที่ 1 ก่อนหน้าด้วยและการอ้างอิงนี้เองเป็นที่มาของคำว่า chain ข้อมูลที่เก็บใน Blockchain จะถูกเก็บใน Block อ้างอิงด้วย Chain ทำให้หากเกิดการปลอมแปลงข้อมูลใน Block นั้นเป็นไปไม่ได้เพราะมีข้อมูลอ้างอิงถึงกันเสมอ
หมายเหตุ : Blockchain นั้นเป็นบัญชีสาธารณะที่ใครก็สามารถดูได้ โดยมันจะบันทึกตั้งแต่ธุรกรรมแรกที่ Bitcoin ถือกำเนิดขึ้นมาจนปัจจุบันสามารถเข้าไปดูได้ที่ blockexplorer.com แต่เราจะไม่รู้ว่า Address ที่โอนไปมานั้นเป็นของใคร
Cryptography หรือการเข้ารหัส
ระบบของ Bitcoin ไม่ว่าจะข้อมูลธุรกรรมหรือการยืนยันบัญชีผู้ใช้นั้น จะใช้หลักการเข้ารหัสเข้ามาช่วยให้ปลอดภัยและเพิ่มความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ตัวอย่างการเข้ารหัสง่าย ๆ เช่นผมอยากบอกคุณว่า ‘hello’ แต่ผมกลัวคนอื่นจะรู้ก็เลยเลื่อนอักษรไป 1 ตัวจึงกลายเป็นคำว่า ‘ifmmp’ ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างง่าย ๆ เท่านั้น Cryptography ที่ใช้ในระบบของ Bitcoin นั้นมีความปลอดภัยสูงมาก โดยระบบบัญชีของ Bitcoin จะแบ่งเป็น Address กับ Private Key โดยตัว Private key จะเหมือนกับ Password ในการยืนยันความเป็นเจ้าของบัญชี และหากเรามี Address ของ Bitcoin 1 ตัวแล้วเราอยากจะหา Private key ความน่าจะเป็นในการเดาสุ่ม Private Key ได้ถูกต้อง คือ 1/(2^256) ซึ่งมันเป็นเลขที่มหาศาลมาก ๆ ต่อให้เรารวบรวมคอมพิวเตอร์ของคนทั้งโลกมาเพื่อมาหา Private key ของ Bitcoin อาจจะใช้เวลานับล้านปีก็เป็นไปได้
หมายเหตุ : สิ่งที่น่าสนใจในระบบของ Bitcoin คือ Private key ที่ใช้ในการยืนยันความเป็นเจ้าของบัญชีนั้น จะมีเราเป็นผู้ใช้งานคนเดียว ไม่มีใครนำ Bitcoin ของเราออกมาได้หากเราไม่ได้มอบ Private key ไม่เหมือนกันระบบธนาคาร ที่ธนาคารสามารถอายัดเงินเราได้เช่น ในกรณีของ คดีหวย 30 ล้านที่ลุงจรูญโดนอายัดบัญชี ถ้าลุงจรูญใช้ Bitcoin เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น
ระบบการขุดเพื่อยืนยันธุรกรรม (Mining)
ในระบบธนาคารทั่วไปผู้ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมคือธนาคาร หรือบางครั้งธนาคารก็อาจจะมีผู้ตรวจสอบบัญชีมาตรวจสอบธนาคารอีกที แต่ระบบของ Bitcoin นั้นไม่มีตัวกลาง จึงต้องหาคนที่มาตรวจสอบธุรกรรมและนั่นก็คือ นักขุด โดยนักขุดที่ช่วยตรวจสอบธุรกรรมของ Bitcoin ก็จะได้ค่าแรงนั้นก็คือ Bitcoin จำนวนหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นใหม่และค่าธรรมเนียมที่แต่ละคนจ่ายในการทำธุรกรรม ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะได้สิทธินี้ เพราะมีนักขุดมากมายที่อยากได้ Bitcoin จึงต้องมีการแข่งขันกันเพื่อหาผู้ชนะ
ทุกครั้งเมื่อเกิดการโอน Bitcoin ธุรกรรมจำนวนหนึ่งจะถูกเข้ารหัสกลายเป็นเหมือนกล่องที่ใส่กลอนกุญแจ และนักขุดก็จะมาไขกล่อง ๆ โดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการสุ่มคำตอบของกล่องไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอ ทำให้มีนักขุดมากมายพยายามหาอุปกรณ์ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ มาขุด Bitcoin เมื่อนักขุดคนไหนพบคำตอบก็จะมีสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรมและสร้าง Block ที่มีรายการธุรกรรมใหม่ ๆ และกระจายบอกคนอื่น ๆ และได้รางวัล (Block reward)
ส่วนคนที่ขุดแพ้นั้นก็จะไม่ได้อะไรเลย ซึ่งการขุดนี้เป็นเหมือนระบบรักษาสมดุลและความปลอดภัยแก่ Bitcoin เพราะค่าไฟของการขุดที่ต้องจ่ายนั้นทำให้คนที่คิดจะควบคุมหรือโจมตีระบบด้วยวิธีการอย่าง DDoS attack ต้องจ่ายต้นทุนที่มหาศาล และเป็นเหตุผลว่าทำไมระบบของ Bitcoin นั้นจึงมีความปลอดภัยยิ่งกว่าระบบใดๆ
หมายเหตุ : ในปัจจุบันมีผู้ขุด Bitcoin จำนวนมากทำให้มันเป็นไปไม่ได้ที่นักขุดรายย่อยจะขุด Bitcoin ได้ ทำให้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเหมือนการเล่นกีฬาสีที่เรียกว่า Pool mining โดยถ้าใครในทีมเจอก็จะแบ่งรางวัลกันไปตามสัดส่วน
Bitcoin นั้นมีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านโดยมันจะถูกผลิตขึ้นมาเรื่อย ๆ เหมือนการผลิตเงิน ทุก ๆ 10 นาทีหลังจากนักขุดสามารถหาคำตอบของ Block เจอโดยในช่วงแรก ๆ Bitcoin จะกำเนิดขึ้นถึง 50 BTC และมันจะลดลงครึ่งหนึ่ง (halving) ทุก ๆ 4 ปี เป็น 25 ,12.5, 6.25 ไปเรื่อย ๆ จนกว่า Bitcoin จะถูกขุดขึ้นมาทั้งหมดซึ่งคาดว่ามันจะถูกผลิตทั้งหมดในปี 2040 ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดเงินเฟ้อในระบบของ Bitcoin
หมายเหตุ1 : ไม่ว่านักขุดจะใช้อุปกรณ์ที่ดีแค่ไหนในการขุด Bitcoin ทุก Block ก็จะถูกแก้ไขในเวลาเฉลี่ย 10 นาที เพราะระบบจะปรับค่าความยากของโจทย์ (Difficulty) ตามกำลังของนักขุดเสมอ
หมายเหตุ2 : เมื่อ Bitcoin ทั้งหมดถูกขุดออกมา การขุดก็จะยังดำเนินต่อไปเพราะนักขุดยังได้ค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้งานจ่ายอยู่ส่วน Bitcoin ทั้ง 21 ล้านเหรียญก็จะเป็นเงินที่หมุนเวียนในระบบ
Bitcoin มีหน่วยทศนิยมย่อยได้ถึง 8 หลัก
1 หน่วยของ Bitcoin จะถูกเรียกว่า 1 BTC และมีค่าเท่ากับ 10 ล้านซาโตชิ ด้วยความที่ Bitcoin เป็นเงินดิจิทัลทำให้มันสะดวกในการใช้งานถ้าเทียบกับเงินจริง หากเราซื้อของราคา 0.5 BTC เราก็ไม่จำเป็นต้องรอเงินทอนเสมือนเงินจริง และการใช้งาน Bitcoin นั้นเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ถึง 1 หน่วย Bitcoin เพราะมันสามารถแยกย่อยได้อีก 8 หลักนั้นเอง
มูลค่าของ Bitcoin มาจากไหน
จากข้อมูลด้านบนทุกคนคงเข้าใจคร่าว ๆ แล้วว่า Bitcoin มันเป็นระบบการเงินที่แทรกแซงไม่ได้ รวมถึงมีความน่าเชื่อถือสูงมากและแทบไม่มีความผิดพลาด โดยพื้นฐานและ Bitcoin ไม่มีลักษณะเหมือนหุ้นหากจะเปรียบเทียบให้ง่ายที่สุดคือมันมีลักษณะเหมือน Commodity เช่นทองคำ ที่ไม่ได้มีคุณค่าในตัวเอง แต่เกิดจากการให้มูลค่าของผู้ใช้งาน หรือก็คือ Demand และ Supply แต่คำถามที่น่าสนใจคือด้วยมูลค่าตอนนี้มันเหมาะสมหรือเปล่ากับแค่ระบบ ๆ หนึ่งมีอะไรบ้างที่ทำให้มันก่อเกิดมูลค่า
Bitcoin นั้นมักโดนโจมตีว่า “Bitcoin ไม่มีมูลค่าพื้นฐาน ไม่มีปัจจัยพื้นฐาน” ซึ่งที่จริงแล้ว Bitcoin มีพื้นฐานจากการเป็น Payment Channel ทุกวันนี้ถ้าเราจะโอนเงินก็ต้องมีต้นทุนทั้งนั้น ธนาคารใช้เงินเท่าไหร่ถึงจะสร้างระบบได้ Paypal ใช้เงินเท่าไหร่ถึงจะสร้างระบบการเงินที่ต้องป้องกัน Hacker ได้ซึ่งในส่วนนี้ Bitcoin ก็สามารถทำได้เช่นกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่คนมักพูดถึง Bitcoin ก็คือ “Bitcoin ทำอะไรได้น้อย คนใช้ไม่เยอะ ไม่มีอนาคตเงินบาทสิดีกว่าเป็นไหนๆ” แนวคิดที่บอกว่าอะไรที่มีคนใช้เยอะจะมีมูลค่าเป็นแนวคิดที่ผิดมากๆ ทุกวันนี้เงินบาทเงินดอลอ่อนค่าวันละกี่% ถ้าของที่ใช้งานได้เยอะควรจะมีมูลค่ามีอนาคตทำไมราคาโทรศีพท์มือถือถึงตกทุกปี สุดท้ายทำไมทองคำที่โอนข้ามโลกไม่ได้โทรเข้าโทรออกไม่ได้ทำไมถึงราคาเพิ่มขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จริงๆแล้วโลกเรามีสิ่งเดียวที่สามารถรอดพ้นต่อการเสื่อมมูลค่าตลอดประวัติศาสตร์ได้และนั้นคือทองคำเพราะมันมีระบบต่อต้านเงินเฟ้อที่ผลิตได้ยาก การใช้งานเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ทองคำมีมูลค่า แต่การที่มูลค่ามันไม่เสื่อมลงเพราะความหายากของมันและข้างล่างนี้คือการใช้งาน Bitcoin ในปัจจุบันที่ทำให้เกิดกระแสและความเชื่อใน Bitcoin
- การใช้งานจริงในการแลกเปลี่ยนสินค้าเช่น ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีร้านค้ากว่า 30,000 แห่งที่รับ Bitcoin รวมถึงในอีก ๆ หลายประเทศ ในประเทศไทยก็มีร้านค้าเหล่านั้นบ้าง
- เป็นระบบการโอนเงินที่มีราคาถูกมากสำหรับการโอนเงินข้ามประเทศ เมื่อเทียบกับระบบ Swift ในปัจจุบันและทุกคนเข้าถึงได้ ขอเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต
- กลายเป็นสกุลเงินทางเลือกและมีจำนวนจำกัด จึงไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในประเทศ เวเนซูเอล่าและซิมบับเว เพราะประเทศเหล่านี้สถาบันทางการเงินดำเนินการล้มเหลว โดยเฉพาะในซิมบับเวนั้นมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 2 แสนเท่าในช่วงปี 2008 จนสกุลเงินซิมบับเวนั้นแทบไม่มีค่า จนประชาชนหันมาพึ่งพา Bitcoin
- การยอมรับในประเทศต่าง ประเทศที่ดูมีการยอมรับในปัจจุบันคือ ญี่ปุ่น ที่มีกฎหมายพร้อมที่สุด แม้ว่าในหลาย ๆ ประเทศยังคงไม่มีกฎหมายยอมรับที่ชัดเจน แต่ดูเหมือนแนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางที่ดี
- หากเราใช้ระบบ Bitcoin เป็นระบบการเงิน เราจะลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเหรียญและธนบัตรได้
- การขุด Bitcoin นั้นมีต้นทุนคือค่าไฟจำนวนนึงซึ่งทำให้ในทางเศรษฐศาสตร์มันถูกมองว่าเป็นต้นทุนในการผลิต เหมือนกับราคาของทองคำที่จะมีการคิดต้นทุนในการขุดด้วย
- Bitcoin ไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลใด ๆ ทำให้สามารถกำจัดความเสี่ยงในการบริหารงานพลาดของตัวกลางได้
- Bitcoin นั้นเป็นฐานให้กับเงินดิจิทัลทุกชนิดซึ่งในปัจจุบัน Bitcoin กินส่วนแบ่งตลาดเงินดิจิทัลที่ 40% ซึ่งหากมูลค่าโดยรวมของตลาดเงินดิจิทัลโต Bitcoin จะโตตาม โดยเงินดิจิทัลสกุลอื่น ๆนั้นก็มีคุณสมบัติและการใช้งานที่มากมาย และมีหลายตัวที่ได้ใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ซึ่งหากวันหนึ่ง Bitcoin จะมีมูลค่าเป็น 0 เท่ากับว่าเงินดิจิทัลตัวอื่น ๆต้องหมดมูลค่าเสียก่อน
- การระดมทุน ICO ที่ได้เริ่มเป็นกระแสที่มาแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมันคือการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัลและมันจะทำให้ตลาดเงินดิจิทัลโตขึ้นทำให้ Bitcoin ได้รับผลพลอยได้ไปด้วย
หา Bitcoin ได้ที่ไหน
ในต้นปี 2019 มีตลาดแลกเปลี่ยน Bitcoin และเงินดิจิตอลสกุลอื่นๆ กว่า 18,200 แห่งทั่วโลกและยังมีตู้ kiosks ในบางพื้นที่ ตลาดแลกเปลี่ยนที่มีชื่อเสียงในระดับโลกมีหลายแห่งเช่น Coinbase ใน USA ที่เป็น Wallet สำหรับ Bitcoin และมีกระดานเทรดเช่น Bittrex Bitstamp หรือ Binance ที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนแบบการเปิดออเดอร์
สำหรับในไทยนั้นมีผู้ให้บริการในการซื้อขาย Bitcoin ดังนี้
- Bitkub กระดานแลกเปลี่ยนที่สร้างโดยคนไทยที่เปิดตัวในปี 2017
- satangpro กระดานแลกเปลี่ยนที่สร้างโดยคนไทยที่เปิดตัวในปี 2017
- Binance กระดานแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ที่มีปริมาณการซื้อเงินดิจิทัลมากที่สุดในโลก
- Bitmex กระดานแลกเปลี่ยนต่างประเทศที่สามารถซื้อสัญญา leverage ได้
- coins.co.th เป็น Wallet ที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin ในอัตราคงที่คล้าย SuperRich
- satang.in.th เป็น Wallet ที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin อีกแห่งหนึ่ง
- localbitcoins.co.th เป็นแพลทฟอร์มที่จับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขายให้มาพบปะและแลกเปลี่ยน Bitcoin กันได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง (OTC)
ตลาดแลกเปลี่ยนในไทยหรือประเทศอื่น ๆที่ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นเช่น USD หรือ THB ได้นั้นจะต้องมีการเก็บข้อมูลผู้ซื้อที่เรียกว่า KYC เพื่อปฎิบัติตามหลักการต่อต้านการฟอกเงิน หรือ AML แต่สำหรับการแลกเปลี่ยนเงินดิจิตอลด้วยกันเองเช่น Bitcoin กับ Ethereum นั้นไม่จำเป็นต้องทำ KYC แต่มักจะมีข้อจำกัดในการใช้งานเช่นปริมาณ Bitcoin ที่สามารถโอนออกได้ต่อวัน
รีวิวเว็บซื้อขาย Bitcoin ในประเทศไทยที่ถูกกฎหมาย
- [รีวิว] วิธีสมัคร Huobi Thailand เว็บเทรดสินทรัพย์ดิจิตอลรายล่าสุดของไทย สำหรับมือใหม่ทุกคน
- [รีวิว] SatangPro ตลาดซื้อขาย Cryptocurrency ที่ Partner กับ Binance เว็บเทรดอันดับ 1 ของโลก
- [รีวิว] วิธีสมัครลงทะเบียนกับ Bitkub.com และคู่มือการยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อทำการซื้อขาย Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทย
กฎหมายที่ควรรู้
การซื้อขาย Bitcoin นั้นไม่ผิดกฎหมายมีการคุ้มครองจาก พรบ สินทรัพย์ดิจิทัล แต่การนำ Bitcoin ไปกระทำการอย่างอื่นเช่นหลอกลวงการลงทุนทำแชร์ลูกโซ่รวมถึงฟอกเงินนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย สำหรับภาษีนั้นจำเป็นจะต้องมีการเสียภาษี 15% จาก capital gain หรือกำไรที่ได้แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่ได้รับมอบอำนาจในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งให้สรรพากร แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการซื้อขายนั้นมีกำไร กำไรที่ได้จะถูกคำนวนเป็นภาษีบุคคลธรรมดาในกรณีบุคคล และเป็นรายได้นิติบุคคลในกรณีบริษัท
ความเสี่ยงของ Bitcoin
หลังจากที่เราเล่าถึงเรื่องดีๆ ไปแล้ว เรามาดูความเสี่ยงของ Bitcoin กันบ้างดีกว่า ว่ามันมีอะไรบ้าง
- มันยังไม่สามารถใช้แทนเงินจริงได้ในทุก ๆ ที่ มันเป็นแค่สกุลเงินทางเลือกที่ขึ้นกับว่าจะมีคนยอมรับมากแค่ไหน
- ไม่มีสถาบันหรือองค์กรใด ๆ ดูแล หากวันหนึ่งคุณโอนเงิน Bitcoin ผิดไปให้บุคคลอื่น เราไม่สามารถโทรไปหา Call center ของ Bitcoin (เพราะมันไม่มี) เพื่อให้คืนเงินของเรากลับมาได้แน่นอน
- มีความผันผวนสูงมากสามารถขึ้นลงได้ไม่จำกัดด้วยความที่ตลาดเงินดิจิตอลเป็นตลาดเสรี เปิดตลอด 24 ชั่วโมงและไม่มีการปิดตลาดเมื่อราคาพุ่งขึ้นหรือลงเกิน 30%
- หากเกิดการโจรกรรม Bitcoin ในประเทศที่ไม่มีกฎหมายรองรับจะไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ
- มูลค่าทาการตลาดยังน้อยมากมีขนาดเพียง 1 ใน 70 ของตลาดทองคำแม้จะขึ้นแรงก็ลงแรงเช่นกัน
หวังว่าผู้ที่อ่านบทความนี้จบจะเข้าใจมากขึ้นว่า Bitcoin คืออะไรทำงานยังไงทำไมถึงมีมูลค่า เทคโนโลยีอย่าง Blockchain นั้นได้สร้างความเป็นไปได้ที่มหาศาลแก่โลก และ Bitcoin เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เท่านั้นจุดหนึ่งเท่านั้นในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมหาศาลด้วยเทคโนโลยีนี้