เมื่อเกมเปลี่ยนจากตัวร้ายในสายตาผู้ใหญ่ กลายเป็นช่องทางใหม่ที่ก่อให้เกิดโอกาส ไม่เพียงเกิดการแข่งขันอีสปอร์ต ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ยังเกิดเกมประเภท “Play to Earn” ยิ่งเล่น ยิ่งได้เงิน สอดรับกับการเติบโตของโลกคริปโตเคอร์เรนซี ที่สามารถเปลี่ยนเงินเพื่อนำมาใช้ในชีวิตจริง
ในหัวข้อสนทนา Play2earn Workshop by Phil GuildFi: How to enter play2earn games and the opportunities of earning เมื่อวันที่ 22 มกราคม ในงาน ‘META Thailand 2022: Esports & Digital Life มหกรรมอีสปอร์ตสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม ในรูปแบบออนไลน์ ได้ พีรวิชญ์ เกษมโกเมศ เกมเมอร์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการคริปโตฯ และเป็น Manager แห่ง GuildFi แพลตฟอร์มด้านเกมคริปโตฯ อันดับ 1 ของประเทศไทย มาสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงประโยชน์นานา และความเสี่ยงของเกมเหล่านี้ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน
เมื่อของในเกมมีมูลค่า-จับต้องได้จริง
ขึ้นชื่อว่าเกม คนที่เล่นส่วนมากมักไม่ได้คาดหวังอะไรตอบแทนนอกจากความสนุก แต่พีรวิชญ์ เผยว่า เกมแนว Play to Earn มีจุดแตกต่างจากเกมที่ผู้คนคุ้นชินอย่างมีนัยสำคัญ หากที่ผ่านมาซื้อไอเทมในเกมปกติ ทุกอย่างจะหมุนเวียนอยู่ใน “ระบบเศรษฐกิจของเกม” ไม่สามารถซื้อขาย ถ่ายโอนให้ใคร แล้วก่อให้เกิดมูลค่าในโลกแห่งความเป็นจริงได้
แต่ระบบเศรษฐกิจภายในเกม Play to Earn ผู้เล่นสามารถแลกเปลี่ยนไอเทมออกมาเป็นเงินจริงๆ ได้ ไม่เพียงแค่นั้น ค่ายผู้ผลิตยังสามารถให้รางวัลผู้เล่นในรูปแบบต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน คริปโตเคอร์เรนซี ที่ก็แลกเปลี่ยนออกมาเป็นรูปตัวเงินได้เช่นกัน
“ข้อดีของบล็อกเชนคือความโปร่งใส เราสามารถตรวจสอบธุรกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเกมได้ ว่า ที่ผ่านมาผู้คนเคยมีการซื้อขายอะไรมาบ้าง ใครคือผู้ที่ครอบครอง เป็นเจ้าของตัวจริง ที่สำคัญยังโอนย้ายมูลค่าให้กันนอกเกมได้ สามารถแลกเปลี่ยนสกุลเงินในเกมเป็นสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ได้ หรือจะเปลี่ยนให้เป็นสกุลเงินบาทก็ได้”
เมื่อกระแสเกม Play to Earn ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเกิดเกมลักษณะดังกล่าวตามมาอีกมาก นำโดย Axie Infinity เกมแนว Pokemon Go ที่ใช้สัตว์ประหลาดต่อสู้กันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม Cryptocars เกมแนวแข่งรถ หรือ Thetan Arena เกมแนวโมบ้า (Moba) ลักษณะคล้ายเกม RoV ที่ต้องให้ผู้เล่นรวมทีม 4 คนทำภารกิจสู้กับทีมอื่น และฝ่ายที่ชนะจะได้รางวัลรูปแบบต่างๆ ไปครอง
อีกเกมที่น่าสนใจคือ The Sandbox เกมที่เปิดให้ซื้อขายที่ดินในโลกเสมือน เพื่อนำไปใช้งานในรูปแบบต่างๆ โดยที่ดินในเกมหลัง พีรวิชญ์แย้มว่า มีคนเข้ามาซื้อขายสูงถึงระดับหลายล้านบาทเลยทีเดียว
เกมยอดฮิต สร้างวิถีชีวิตใหม่ให้ชาวฟิลิปปินส์
แม้โรคโควิด-19 จะทำให้ผู้คนยากจนและตกงานจำนวนมาก แต่ใครจะไปคิดว่า ท่ามกลางวิกฤต กลับเกิดโอกาสขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อผู้คนทุกเพศทุกวัยใช้เวลาที่ต้องอยู่บ้าน เล่นเกม Axie Infinity จนกลายเป็นเกมยอดฮิตในชั่วข้ามคืน และเป็นช่องทางทำเงินมหาศาลที่ช่วยให้ผู้คนลืมตาอ้าปากได้
“ปกติแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำของคนฟิลิปปินส์อยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ตอนนั้นผู้คนมีรายได้จากเกม Axie Infinity มากกว่านั้นหลายเท่า มีตายายคู่หนึ่งประกอบอาชีพขายของชำ แต่พอขายไม่ได้ พวกเขาเลยมาเล่นเกมนี้ แล้วได้เงินมาจ่ายค่าต่างๆ รวมทั้งค่ายารักษาโรค
“และยังมีผู้เล่นอีกคนที่ได้เงินจากเกม จนสามารถซื้อบ้านจริงๆ ได้ถึง 2 หลัง จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ หรือเพศไหน ก็สามารถเล่นเกม Axie Infinity ได้ทั้งนั้น” Manager แห่ง GuildFi เผย
กระแสเกม Axie Infinity ยังดังไกลไปทั่วโลก มีปัจจัยสำคัญจากสารคดีขนาดสั้น ‘PLAY-TO-EARN: NFT Gaming in the Philippines’ ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจเกมนี้ โดยพีรวิชญ์กางสถิติที่น่าสนใจออกมาพบว่า ในช่วงพีกขั้นสุดมีคนเล่นเกมนี้สูงถึง 2 ล้านคนต่อวัน มากกว่าเกมโมบ้าอย่าง Dota 2 ที่มียอดคนเล่นประมาณ 6 แสนคน! แม้ปัจจุบันกระแสความนิยมในเกมนี้ลดลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นเกมที่ครองใจผู้คนจำนวนไม่น้อยอยู่ดี
รู้ว่าเล่นแบบไหน มีชัยไปกว่าครึ่ง
เมื่อใครๆ ก็สามารถเข้าถึงเกมแนว Play to Earn ได้ผ่านสมาร์ทโฟน แต่หากคิดจะเล่นให้ให้ผลประกอบการงอกงาม พีรวิชญ์วิเคราะห์ว่า ต้องรู้ตัวเองด้วยว่าเป็นผู้เล่นแบบไหน โดยสามารถแบ่งประเภทผู้เล่นได้ 3 รูปแบบคือ คนที่เล่นเกมเอง คนที่เป็นนายทุน และคนที่เล่นเกมให้นายทุน
“คนเล่นเกมเอง จะใช้ทุนตัวเองซื้อไอเทมและเล่นเอง ข้อดีคือจะได้ทั้งเงิน ได้สนุก คลายเครียด มีอิสระในการตัดสินใจ จะซื้อเพิ่ม หรือจะขายไอเทมเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ข้อเสียคือ จำเป็นต้องใช้เงินก้อนเพื่อซื้อไอเทมในเกม มีราคาตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักล้าน หลักสิบล้านก็มี
“แบบต่อมาคือ ไม่เล่นเอง แต่เป็นนายทุน ใช้ทุนทรัพย์ตัวเองซื้อไอเทม แล้วเอาไปให้คนอื่นเล่นเมื่อมีกำไรก็เอามาแบ่งกัน ข้อดีของรูปแบบนี้คือ เราไม่ต้องเล่นเอง แต่มีอิสระในการตัดสินใจ เพราะสินทรัพย์ในเกมจะยังเป็นของเราอยู่ แต่รายรับที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เล่นที่มาเล่นแทน ข้อดีของคนที่เล่นให้นายทุนคือ ไม่ต้องใช้เงินตั้งต้น แต่จะขาดอิสระในการตัดสินใจ เพราะสิทธิ์ต่างๆ ในเกมอยู่ที่นายทุน”
อย่างไรก็ตาม พีรวิชญ์เตือนว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรูปแบบใด แต่ทุกคนต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินคริปโตเคอร์เรนซี รวมถึงเกมที่ไม่ปลอดภัย ไม่น่าเชื่อถือ เพราะอาจทำให้สูญเงินทั้งหมดในพริบตา ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นจากฝีมือแฮกเกอร์ แต่ก็มีไม่น้อยที่เกิดจากผู้พัฒนาเกมมีเจตนาจะหลอกลวงผู้คนตั้งแต่ต้น
เล่นเกมให้รุ่ง ต้องไม่ลืมหลักการลงทุน
“ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาให้ดีก่อนลงทุน” “Do Your Own Research” คือคำเตือนที่พบเจอได้เสมอก่อนการลงทุนรูปแบบต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการเล่มเกมแนว Play to Earn
พีรวิชญ์ย้ำว่า สิ่งสำคัญของการลงทุนในเกม นอกจากการใช้เงินเย็น หรือเงินที่สามารถเสียได้โดยที่ชีวิตไม่เดือดร้อน อีกปัจจัยที่จะช่วยรอดจากการขาดทุนคือ ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเกมนั้นๆ ให้ละเอียดเสมอก่อนลงเงินไปจริงๆ
“การหาข้อมูลโปรเจกต์เกมต่างๆ สามารถอ่านรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของเกมนั้นๆ ควรศึกษาไวท์เปเปอร์ให้ดีๆ ว่า ระบบเกมเป็นอย่างไร มีวิธีจ่ายเงินยังไง รวมถึงดูข้อมูลทีมผู้พัฒนาด้วย เพราะถ้าทีมสร้างเกมมีความสามารถ มีประสบการณ์สร้างเกมชื่อดัง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จะยิ่งทำให้โปรเจกต์นั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ”
GuildFi Manager ยังแนะนำด้วยว่า เมื่อคิดจะลงทุนผ่านบล็อกเชน ต้องให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัย ต้องเก็บรักษารหัสต่างๆ อย่างดีเช่นกัน โดยสามารถเก็บข้อมูลเก็บเงินสำหรับทำธุรกรรมบล็อกเชน ในฮาร์ดแวร์ วอลเล็ต (hardware wallet) หรือกระเป๋าเงินในรูปแบบของ USB ซึ่งจะเป็นกำแพงป้องกันการโดนแฮ็กได้อีกขั้น และต้องระวังอย่าทำหายเด็ดขาด มิฉะนั้นจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในกระเป๋านี้ได้อีก
“การให้คำแนะนำและความรู้ในครั้งนี้ ผมไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื้อเชิญ หรือชี้ชวนให้มาลงทุนแต่อย่างใด ก็หวังว่าการมาแบ่งปันประสบการณ์ในครั้งนี้จะมีประโยชน์สำหรับทุกคนทุกคนครับ” พีรวิชญ์ทิ้งท้าย
งาน META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE จะจัดขึ้นวันสุดท้ายในวันที่ 23 มกราคม ภายในงานยังมีเวทีเสวนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่น่าสนใจอีกมากมาย หากไม่อยากพลาดสาระดีๆ สามารถติดตามรายละเอียด และรับชมได้ทาง https://www.metathailand.io/ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/metathailand2022/
อ้างอิง : LINK