เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยว่า ปี 2563 ประเทศไทยถูกมัลแวร์เรียกค่าไถ่ Bitcoin โจมตีกว่า 1,969 ครั้ง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เปิดเผยว่า ข้อดีของเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีมาก และมีความสำคัญกับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ที่ประสงค์ร้ายหรือแสวงหาประโยชน์ในลักษณะจับข้อมูลเป็นตัวประกันที่เรียกว่ามัลแวร์หรือการแฮ็กข้อมูล ที่มักมาในรูปแบบของการเรียกค่าไถ่ (ส่วนมากมักเรียกร้องเป็น Bitcoin หรือเหรียญ Crypto ที่เน้นปกปิดตัวตน) จากหน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชนขนาดใหญ่
โดยในช่วงปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (ETDA) หน่วยงานสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตรวจพบกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาโจมตีข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยใช้ชื่อ เช่น วันนาคราย (WannaCry) แกนด์แครบ สต็อป (GandCrab Stop) โพลีแรนซัม เวอร์ล็อก (PolyRansom/Virlock) และไครซิส/ดาร์มา (Crysis/Dharma) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบสถิติการโจมตีของมัลแวร์ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 มีการโจมตีทั้งสิ้น 1,969 ครั้ง มาในลักษณะของมัลแวร์ที่เข้ามาแฮกระบบเพื่อสร้างความเสียหายต่อข้อมูล โดยที่ผ่านมาได้ตรวจพบว่ากลุ่มผู้ไม่หวังดีจะใช้เซิร์ฟเวอร์ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศโจมตีหน่วยงานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมบันเทิง ภาคการเงินและสาธารณสุข ในหลายๆ ประเทศพร้อมๆกัน เพื่อสร้างผลกระทบ ทั้งการสูญเสียข้อมูลสำคัญ สูญเสียความพร้อมใช้งานของระบบคอมพิวเตอร์
สำหรับการรับมือและป้องกันมัลแวร์ต่างๆ เบื้องต้นอาจพิจารณาบล็อกการเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง ตามข้อแนะนำของศูนย์ไทยเซิร์ต อาทิ กรณีที่พบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ติดมัลแวร์ ควรตัดการเชื่อมต่อจากเครือข่ายทันที เช่น การดึงสายแลนด์ออกใช้เทคนิค Application Whitelist เพื่อป้องกันมัลแวร์ และโปรแกรมที่ไม่ได้รับการอนุญาตสามารถทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้
นอกจากนี้ ควรอัพเดตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ รวมถึงโปรแกรมป้องกันไวรัสให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงในการเปิด Macro จากไฟล์เอกสารแนบที่มากับอีเมล กรณีหน่วยงานและ องค์กรขนาดใหญ่ ควรทำการบล็อกอีเมลที่มีไฟล์แนบจากแหล่งที่มา ที่ไม่น่าเชื่อถือ
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน รพ.สระบุรี ก็ถูก Ransomware โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล ทำให้ไม่สามารถใช้งานในระบบต่างๆ รวมถึงฐานข้อมูลระบบบริการผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลประวัติเก่าหรือให้บริการออนไลน์ได้มาแล้ว
ซึ่งทางด้านนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า “ตัวอย่างล่าสุดจากเคสการถูกมัลแวร์โจมตีของโรงพยาบาลสระบุรีที่ถูกแฮ็กข้อมูลของโรงพยาบาลและคนไข้เมื่อช่วงเดือนกันยายน2563 ที่ผ่านมานั้น เป็นลักษณะของการเรียกค่าไถ่เพื่อแลกกับการปลดล็อกการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งต้องชื่นชมศูนย์ไทยเซิร์ตที่ตรวจสอบและพบความผิดปกติที่รวดเร็ว สามารถเร่งกู้ประวัติคนไข้กลับมาได้อย่างรวดเร็วและไม่มีการนำข้อมูลไปทำให้โรงพยาบาลเสียหาย ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ มีระบบป้องกันหรือรองรับที่เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาเจาะข้อมูลได้”
อ้างอิง : LINK