โอกาสทองในการสร้างรายได้ของคนหัวศิลป์ขยายตัวเป็นตลาดใหญ่ระดับโลกหลังการมาถึงของเมตาเวิร์ส และนวัตกรรม NFT ซึ่งนิยมใช้กับงานศิลปะและงานออกแบบประเภทต่างๆ โดยทำการซื้อขายในระบบเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อความปลอดภัย แต่การเข้าถึงโอกาสและทำให้เกิดผลสำเร็จคือขายชิ้นงานได้ เจ้าของผลงานจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจนิเวศของ NFT อย่างรอบด้านรวมทั้งรู้จักใช้การตลาดเข้ามาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขายได้ด้วย
เมื่อเทรนด์โลกกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเช่นนี้ แวดวงการศึกษาด้านการออกแบบจึงต้องก้าวให้ทันและมองให้ไกลกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพในบทบาทของสถาบันการศึกษาที่ขยายขอบเขตการเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิชาการได้จากทั่วโลกและทำหน้าที่เสมือนเป็นแซนด์บ็อกซ์ หรือพื้นที่บ่มเพาะทักษะและเสริมประสบการณ์ให้นักศึกษา ได้เตรียมเปิดตัวโครงการพิเศษ BU-NFT Brand Shop บนแพลตฟอร์ม Opensea.io มาร์เก็ตเพลสระดับโลก ภายใต้การดำเนินงานของคณะศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการขายผลงาน NFT ของนักศึกษาในภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ทัศนศิลป์ ออกแบบแฟชั่น และออกแบบผลิตภัณฑ์
กระบวนคิดก่อนจะสรุปผลลัพธ์ออกมาเป็นแบรนด์ช้อปดังกล่าว มีที่มาจากการที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพมุ่งผลักดันและสนับสนุนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในเมตาเวิร์ส ซึ่งเชื่อมโยงกับ NFT และเทคโนโลยีบล็อกเชน ประกอบกับมีกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอนทุกภาควิชาของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ทั้งยังมีความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์และการพัฒนาแพลตฟอร์ม BU Metaverse ซึ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในงาน open house 2022 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการประกาศตัวนำเทรนด์ก่อนใครในการสร้างเมตาเวิร์สเพื่อการศึกษาและนำมาผสานกับการเรียนรู้ในโลกจริง
มีการปรับหลักสูตรให้มีการเรียนการสอนผ่านการสร้างประสบการณ์ในโลกเสมือน โดยใช้ BU Metaverse เป็นสถานที่เรียนรู้เพิ่มเติม ดร.ภัทรวุฒิ ทรัพย์เย็น คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า ในเทอมที่ผ่านมา คณะฯ มีการจัดคลาสเรียนในเมตาเวิร์ส ให้นักศึกษาใช้ร่างอวตาร์ร่วมกิจกรรมนำเสนอผลงานออกแบบและการทำเวิร์คช้อป ถือเป็นรูปแบบการเรียนใหม่ที่สร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษาได้มาก สนุกตื่นเต้น ต่างไปจากการเรียนออนไลน์ตามปกติ และในปีการศึกษา 2565 นี้จะมีการผนวกความรู้เกี่ยวกับเมตาเวิร์สและนิเวศของ NFT เข้าไปในรายวิชาของคณะฯ ด้วยเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีสร้างรายได้จากงานออกแบบเมื่อแปลงผลงานไปเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล
“ในการขายงานให้ได้เงิน คณะฯ เลือกใช้แพลตฟอร์มสากลที่มีคนทั้งโลกใช้กันอยู่แล้ว แต่ในการเรียนรู้เพื่อฝึกฝนทักษะต่างๆ ของนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ก็มีแพลตฟอร์มของเราเองเป็นพื้นที่เรียนรู้ เพิ่มประสบการณ์ทำงานจริงๆ ให้นักศึกษา” ดร.ภัทรวุฒิ กล่าวและว่า ยังมีการจัดให้นักศึกษาได้นำเสนอผลงานในแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย เช่น spatial.io โดยทดลองเป็นบางรายวิชา “เรากำลังผลักดันการเรียนรู้ในเรื่องนี้ อยากให้นักศึกษาใหม่ปีนี้ได้ลองอะไรใหม่ๆ เช่น คลาสดรอว์อิ้ง ให้นศ.นำเสนองานและเรียนรู้การลงขาย NFT ในเมตาเวิร์ส มีการออกแบบและทำเสื้อผ้า ออกแบบ Gadget ต่างๆ ในเกม คือเรียนแล้วลงมือทำลงมือขายงานกันจริงๆ โดยมหาวิทยาลัยเป็นฝ่ายสนับสนุนเพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษา เช่น ในภาควิชาออกแบบแฟชั่นก็จะมีการออกแบบแฟชั่น NFT ในแพลตฟอร์มต่างๆ งานออกแบบภาพประกอบ ภาพกราฟฟิก ก็ลงขายได้เช่นกัน”
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ BU-NFT Brand Shop ดร.ภัทรวุฒิ กล่าวว่า การเปิดแบรนด์ช้อปของมหาวิทยาลัยในแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ระดับโลกนี้ มีความมุ่งหวังที่จะใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานและสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้นักศึกษาซึ่งผลิตผลงานออกแบบอย่างหลากหลายตามโจทย์ที่ได้รับจากการเรียนในรายวิชาต่างๆ อาทิ การออกแบบคาแรคเตอร์ ออกแบบสติ๊กเกอร์ไลน์ ออกแบบคอนเซ็ปต์อาร์ตสำหรับเกม รวมทั้งการออกแบบคาแรคเตอร์สำหรับสินค้าต่างๆ ในภาควิชาออกแบบแฟชั่น จะมีวิชา Fashion Illustration ที่คณะฯ กำลังคัดเลือกผลงานออกมาผลิตเป็น NFT 2มิติ และจะพัฒนาเป็น 3 มิติ สามารถให้คนได้ลองสวมใส่ได้ในเมตาเวิร์ส นอกจากนั้นมีวิชาFashion Branding ที่ได้ความร่วมมือกับพันธมิตรในภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมผลิตงานโดยให้โจทย์ในการออกแบบเสื้อผ้านักฟุตบอลลีกใหญ่ของไทย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นสินค้า อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นผลงาน NFT ส่วนใหญ่ที่จะขายผ่านแบรนด์ช้อปจะเป็นภาพคาแรคเตอร์ที่นักศึกษาออกแบบ ส่วนงานไฟน์อาร์ต งานทัศนศิลป์และอื่นๆ จะทยอยตามมา
ดร.ภัทรวุฒิ กล่าวด้วยว่า BU-NFT Brand Shop จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางและเป็นหน้าร้านในการขายผลงาน NFT ของนักศึกษา อย่างที่ทราบกันว่า วิธีขาย NFT ในแพลตฟอร์ม opensea ผู้ขายจะต้องเปิดบัญชีซื้อขายเหรียญดิจิทัลและซื้อเงินดิจิทัล ETH ไว้จ่ายค่าธรรมเนียมในการแปลงไฟล์ผลงานเป็น NFT และขาย ETH ที่ได้รับเมื่อขาย NFT ได้แล้วกลับมาเป็นสกุลเงินบาท วิธีการเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนสำหรับผู้ขาย อีกทั้งใช่ว่าผลงานทุกชิ้นจะสามารถขายได้หากไม่มีการตลาดเข้ามาช่วยสนับสนุน
ดังนั้น BU-NFT Brand Shop จะดูแลในส่วนนี้ให้ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยสนับสนุนต้นทุนในการเปิดช้อปและรับซื้อ NFT จากนักศึกษาเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อ ผลลัพธ์ที่นักศึกษาจะได้จากโครงการคือ มีรายได้จากการขาย NFT ให้ช้อปทันทีโดยไม่ต้องกังวลว่างานนั้นจะขายได้หรือไม่ใน opensea ขั้นต่อมาเมื่อ NFT ของนักศึกษาขายได้ในมาร์เก็ตเพลส ช้อปจะดำเนินการเพื่อส่งรายได้จากการขายกลับมาให้นักศึกษาเจ้าของผลงานนั้นทั้งหมด สำหรับกรณีที่นักศึกษามีลิ้งก์บัญชีของตัวเองในopensea อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาราว 20% ที่ขายงาน NFT ด้วยตัวเอง ก็สามารถนำงานมาขายให้กับช้อปได้เช่นกันโดยช้อปจะลงขายงานและช่วยโปรโมทลิ้งก์งานของนักศึกษาให้อีกทางหนึ่งด้วย
นี่คือผลจากการออกแบบการเรียนรู้ตอบรับเทรนด์การศึกษาที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ คณาจารย์และการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากมหาวิทยาลัย ทำความรู้จักมหาวิทยาลัยกรุงเทพเพิ่มเติมได้ที่ www.bu.ac.th
อ้างอิง : LINK