The NFT Bible — Part 1: NFT คืออะไร?

ใครก็ตามถ้าได้หลงเข้ามาในโลกของคริปโตมาสักพักหนึ่งแล้ว ก็คงจะเคยได้ยินกับคำว่า “NFT” หรือ “Non-fungible tokens” ผ่านหูกันมาบ้างใช่ไหมครับ? บางทีคุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อเลยว่า NFT จะทำให้ไฟล์ดิจิตอลธรรมดา ๆ ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นมีค่าขึ้นมาจริง ๆ ได้

หรือบางทีคุณอาจจะเป็นผู้ศรัทธาตัวจริงที่มี NFT อยู่เต็ม Wallet แหกขี้ตามาซื้อ NBA Top Shot ได้ทุกครั้งที่มันเปิดวางขาย หรือซื้ออัลบั้มเพลงบน Blockchain ด้วยค่าธรรมเนียมที่สูงจนแพงกว่าตัวมันเอง ถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้วคุณจะไปเปิดฟังเพลงนี้ฟังฟรี ๆ บน Youtube เองก็ได้

หรือคุณอาจจะเป็นคนประเภทที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจ เลยว่าจริง ๆ แล้ว NFT หน้าตามันเป็นยังไง? มีวันหมดอายุไหม? กินได้หรือเปล่า?

แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเภทไหนใน 3 ประเภทนี้ บทความนี้ ถูกสร้างมาเพื่อคุณทุกคนครับ

ยินดีต้อนรับสู่บทความแปลจากเว็บ Opensea ของเพจ NFT Addict Thailand เรื่อง “The NFT Bible ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ NFT” โดยจะถูกเขียนออกมาทั้งหมด 6 Part ได้แก่

Part 1: NFT คืออะไร?
Part 2: มาตรฐานในการสร้าง NFT
Part 3: การทำงานของ NFT และวิธีที่ NFT ใช้ในการเก็บข้อมูล
Part 4: NFT บนหน้าประวัติศาสตร์
Part 5: ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับ NFT
Part 6: ตลาดของ NFT จะเป็นอย่างไรต่อไป?

NFT คืออะไร?

Non-fungible asset เป็นสิ่งแปลกใหม่? ไม่จริงหรอก พวก Fungible แปลกกว่าอีก

หลาย ๆ ครั้งที่มีคนพยายามอธิบายว่า NFT หรือ Non-fungible tokens คืออะไร? พวกเขามักเริ่มด้วยการอธิบายถึงความหมายของคำว่า fungibility ก่อน แต่เราจะไม่เริ่มอย่างนั้น เพราะมันจะเป็นการทำให้เรื่องต่าง ๆ นั้นดูยากเกินความจำเป็น

เพื่อที่จะให้ผู้อ่านทุก ๆ คนเข้าใจแนวคิดของสินทรัพย์ประเภท Non-fungible ได้ง่าย ๆ เราอยากให้ทุกคนคิดเอาซะว่า NFT คือสิ่งของทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวันของคุณเอง ยกตัวอย่างเช่น เก้าอี้ที่คุณกำลังนั่งอยู่ โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป หรืออะไรก็ตามที่คุณสามารถเอาไปขายได้บน Shopee สิ่งของเหล่าทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งของประเภท Non-fungible ด้วยกันทั้งนั้น

ในขณะที่ Fungible asset นั้นจะต่างออกไป โดยเราจะยกตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดของ Fungible asset ซึ่งนั่นก็คือ “เงิน” ขึ้นมาอธิบาย

แบงก์ห้าร้อยบาทจะมีค่า 500 บาทเสมอ ไม่ว่าบนแบงก์นั้นจะมีเลข Serial number อะไร หรือแม้แต่เงิน 500 บาทในบัญชีเราก็มีค่าเท่ากับกระดาษที่เราเรียกว่าแบงก์ห้าร้อย

คุณสามารถเอาแบงก์ห้าร้อยที่อยู่ในกระเป๋าของคุณไปแทนที่หรือสับเปลี่ยนกับแบงก์ห้าร้อยในที่อื่น ๆ ได้โดยที่สิ่งที่คุณได้กลับมาไม่ได้มีมูลค่าเปลี่ยนไปจากที่คุณมีตอนแรก นี่แหละคือคุณสมบัติที่ทำให้สกุลเงินถูกจัดเป็น Fungible asset หรือแปลเป็นไทยให้เท่ ๆ ว่า สินทรัพย์ที่สามารถแลกเปลี่ยนหรือทดแทนกันได้

แต่ก่อนที่เราจะรู้ว่าสิ่งใดสามารถทดแทนหรือไม่สามารถทดแทนอีกสิ่งหนึ่งได้นั้น มันจำเป็นที่จะต้องมีการนำของสิ่งต่าง ๆ ที่เรากำลังพิจารณาอยู่นั้นมา “เปรียบเทียบ” กันก่อน

ยกตัวอย่างเช่นตั๋วเครื่องบินทั้งสามระดับได้แก่ ตั๋วชั้นประหยัด ตั๋วชั้นธุรกิจ และตั๋วชั้นหนึ่ง เราอาจกล่าวได้ว่าตั๋วเหล่านี้มีความเป็น Fungible แบบหยาบ ๆ ในเงื่อนไขที่ว่าสามารถนำไปแลกเปลี่ยนทดแทนกันได้ ก็ต่อเมื่อตั๋วที่จะเอาไปแลกเปลี่ยนนั้นเป็นตั๋วระดับเดียวกัน หรือกล่าวง่าย ๆ คือคุณไม่สามารถเอาตั๋วชั้นประหยัดไปแลกกับตั๋วชั้นหนึ่งได้

เช่นเดียวกันกับเก้าอี้ที่คุณนั่งอยู่ เราก็อาจพูดได้ว่ามันมีความเป็น Fungible อยู่แบบหยาบ ๆ เหมือนกัน เราอาจสามารถนำเก้าอี้ที่เรานั่งอยู่ไปสลับสับเปลี่ยนกับอีกตัวได้ หากเก้าอีกตัวนั้นเป็นทรงเดียวกับที่เรามี ตราบใดที่เราไม่ได้ตกแต่งเก้าอี้ที่เรามีจนแตกต่างไปจากทรงเดิมที่มันออกมาจากโรงงาน

แต่ถึงกระนั้นเราจะมองแค่เรื่องลักษณะภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะหลาย ๆ ครั้ง Fungibility นั้นก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของตัวบุคคลอยู่ด้วยเช่นกัน

อย่างตั๋วเครื่องบินที่เราเคยยกตัวอย่างไป ถึงแม้จะเป็นตั๋วระดับเดียวกัน ก็ไม่สามารถแทนกันได้ เพราะหากคนนั้นอยากที่จะนั่งริมหน้าต่างเป็นพิเศษ เขาคงไม่ต้องการตั๋วที่นั่งโซนอื่น ถึงแม้จะเป็นตั๋วระดับเดียวกันกับที่เขาต้องการจะซื้อก็ตาม

เช่นเดียวกันกับเหรียญสลึงที่แม้ว่าในแง่การใช้งานมันอาจจะมีค่าแค่ 25 สตางค์ แต่หากเหรียญนั้นเป็นรุ่นหายาก มันอาจมีค่าเป็นหมื่นบาทสำหรับนักสะสม ซึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้จะทวีความสำคัญขึ้นไปอีกเมื่อเรานำมันขึ้นไปอยู่บน Blockchain

Non-fungible tokens บน Blockchain

พูดกันตามตรง digital currencies หรือ non-fungible tokens นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่เพิ่งมีหลังการมาของ Blockchain สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่อินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้งานแล้ว

โดเมนเว็บไซต์ ตั๋วงานอีเว้นท์ออนไลน์ ไอเทมในเกม หรือแม้แต่อะไรก็ตามที่อยู่บน Twitter หรือ Facebook สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น non-fungible digital assets ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิตอล เราสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ นำมาใช้งานร่วมกันได้ และหลาย ๆ อย่างที่ได้กล่าวมาก็ถูกตีมูลค่าสูงอย่างไม่น่าเชื่อ

  • ในปี 2018 Epic Games มีรายได้จากการขายชุดในเกม Fornite เพียงอย่างเดียวถึง $2.4 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
  • ขนาดของอุตสาหกรรมขายตั๋วออนไลน์มีแนวโน้มจะเติบโตจนมีมูลค่าสูงถึง $68 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2025
  • การซื้อขายเว็บไซต์โดเมนยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะเติบโตได้แข็งแกร่งอย่างนี้ไปอีกนาน

สิ่งต่าง ๆ มากมายถูกสร้างขึ้นมาบนโลกของอินเทอร์เน็ต แต่มันก็ไม่ใช่ของเราและก็ไม่เคยเป็น

เห็นได้ชัดว่าเรามีสิ่งของในรูปแบบดิจิทัลมากมายก่ายกองอยู่แล้ว แต่จริง ๆ แล้วเรามีสิทธิ์ในสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านั้นมากน้อยเพียงใดกัน? หากการเป็นเจ้าของหมายความว่าสินทรัพย์นั้นไม่ได้ถูกถือครองโดยคนอื่นนอกจากคุณ เราก็อาจกล่าวได้ว่าคุณก็เป็นเจ้าของของสินทรัพย์นั้นในความหมายหนึ่ง

ถ้าการเป็นเจ้าของนั้นหมายถึงสิทธิ์ในการถือครองได้เทียบเท่ากับการถือครองสินทรัพย์ในโลกของความเป็นจริง (อิสระในการถือครองและเคลื่อนย้าย) สินทรัพย์หลาย ๆ อย่างที่คุณถือครองอยู่ในแพลตฟอร์มหนึ่งอาจไม่เข้าเงื่อนไขนี้ เพราะคุณจะพบว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะเอาสกินตัวละครในเกมไปขายบน Shopee แล้วส่งต่อให้คนซื้อได้ง่าย ๆ

ซึ่งตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่ Blockchain เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานมีสิทธิ์ถือครองและสิทธิ์เต็มในการจัดการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของตัวเองได้ตามต้องการ Blockchain เพิ่มคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างที่ช่วยให้สินทรัพย์ที่อยู่บนโลกดิจิทัลอย่าง non-fungible assets มีความพิเศษและแตกต่าง และทำให้ความสัมพันธ์ของผู้สร้างและผู้ใช้งานอย่างเราเปลี่ยนไปด้วยคุณสมบัติที่ Blockchain ให้ได้ ดังต่อไปนี้

การกำหนดมาตรฐาน (Standardization)

สินทรัพย์ดิจิทัลแบบดั้งเดิมมักจะไม่ค่อยมีระเบียบแบบแผนที่ใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วงานอีเว้นท์ โดเมนเว็บไซต์ หรือไอเทมในเกม ของเหล่านี้ต่างมีมาตรฐานและวิธีการใช้งานและการจัดการที่แตกต่างกันไปตามแต่ละแพลตฟอร์ม

แต่การมาของ NFT ที่ถูกใช้งานบน Blockchain จะทำให้ผู้พัฒนาสามารถสร้างมาตรฐานร่วมที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำซ้ำและถ่ายทอดคุณลักษณะที่พวกเขาสร้างมาใช้กับ NFT ทั้งหมดได้ รวมถึงเรื่องพื้นฐานอย่างความเป็นเจ้าของ การส่งมอบ และการควบคุม นอกจากนั้นยังสามารถใส่คุณสมบัติเพิ่มเติมอื่น ๆ ได้ตามต้องการเพื่อการใช้งานที่สมบูรณ์ขึ้นด้วยก็ได้

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ต่างอะไรกับที่ไฟล์ดิจิทัลทั่ว ๆ ไปอย่างไฟล์ภาพ PNG หรือ JPEG ที่เป็นมาตรฐานของไฟล์รูปภาพ หรือ HTTP ที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการสื่อสารกันระหว่างคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งกับอีกเครื่องหนึ่ง เช่นเดียวกันกับ Blockchain ที่ถูกนำมาใส่ไว้ข้างบนมาตรฐานสองอย่างนี้อีกทีเพื่อให้ผู้พัฒนาสามารถออกแบบคุณสมบัติพื้นฐานใหม่ที่จำเป็นต่อการออกแบบแอปพลิเคชันใหม่ของพวกเขา

ความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability)

มาตรฐานของ NFT ทำให้เราสามารถเคลื่อนย้าย NFT ของเราไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ไม่ว่า NFT ที่เรามีจะถูกสร้างมาจากแพลตฟอร์มไหน มันจะสามารถเอาไปเก็บไว้ใน Wallet ได้ทุกอันไม่ว่า Wallet นั้นจะเป็นของผู้ให้บริการเจ้าไหน

แสดงบน Marketplace ที่ไหนก็ได้ และสามารถตรวจสอบธุรกรรมล่าสุดได้ หมายความว่าถ้าคุณสร้าง NFT อันใหม่ขึ้นมา คนอื่นจะรู้ได้ทันทีโดยตรวจสอบจาก most recently นอกจากนี้ยังสามารถเอาจัดแสดงบนโลกเสมือนจริงได้ด้วย

สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้เพราะมาตรฐานแบบเปิดที่ชัดเจน มั่นคง เชื่อถือได้ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการอ่านหรือเขียนด้วยคำสั่งจาก API

ความสามารถในการแลกเปลี่ยน (Tradeability)

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากความสามารถในการทำงานร่วมกันก็คืออิสระในการซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างเสรีบนตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของเขานอกแพลตฟอร์มดั้งเดิมของสินทรัพย์นั้นได้ นอกจากนั้นยังสามารถซื้อขายกันด้วยวิธีการที่ซับซ้อนกว่าการซื้อขายแบบปกติได้ เช่น การประมูล หรือการขายเป็นชุด ที่เจ๋งกว่านั้นคือสามารถใช้สกุลเงินอะไรก็ได้ในการซื้อขายสินค้า

และสำหรับนักพัฒนาเกม ความสามารถในการแลกเปลี่ยนอย่างอิสระที่ NFT มีช่วยลดภาระงานให้กับทีมผู้พัฒนาได้เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องสร้างระบบการซื้อขายด้วยตัวเองซึ่งมันเป็นงานที่หนักมาก อย่างเดียวที่พวกเขาต้องดูในส่วนนี้คือไอเทมและเงื่อนไขในการดรอปไอเทมต่าง ๆ

สภาพคล่อง (Liquidity)

ความสามารถในการแลกเปลี่ยน NFT ได้อย่างอิสระส่งผลให้ NFT เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงมาก ตลาดสามารถรองรับผู้ใช้งานได้หลากหลายตั้งแต่นักเก็งกำไรมืออาชีพจนไปถึงมือใหม่ที่เพิ่งหัดใช้งาน เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงสินทรัพย์ได้หลากหลายมากกว่าที่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งก็คล้ายกับสมัยปี 2017 ที่ ICO เริ่มได้รับความนิยมเพียงแต่เปลี่ยนจากสินทรัพย์ในรูป token มาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป

เปลี่ยนแปลงไม่ได้และพิสูจน์ได้ (Immutability and provable scarcity)

Smart contracts ช่วยให้ผู้สร้าง NFT สามารถจำกัดจำนวนของ NFT ที่ตัวเองต้องการจะสร้างขึ้นมาได้ นอกจากนั้นยังสามารถกำหนดคุณสมบัติที่ตายตัวของ NFT ตัวนั้น ๆ ไม่ให้สามารถแก้ไขได้หลังจากสร้างขึ้นมาแล้ว

ยกตัวอย่างเช่นการสร้างไอเทมในเกม หากไอเทมชิ้นนั้นจัดอยู่ในประเภทหายากหรือ Rare นักพัฒนาสามารถกำหนดจำนวนดรอปของไอเทมที่ตายตัวได้สำหรับไอเทมประเภทนี้ ในขณะที่ไอเทมที่ความหายากอยู่ในระดับทั่วไปก็ปล่อยให้มีจำนวนไม่จำกัด ในขณะที่คุณสมบัติของไอเทมก็สามารถเก็บอยู่บน Blockchain ได้เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อเวลาผ่านไป ไอเทมนั้นจะไม่ถูกแก้ไขในภายหลัง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพิสูจน์งานศิลปะว่าเป็นของแท้หรือไม่

ถูกโปรแกรมได้ (Programmability)

การตั้งโปรแกรมหรือสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ ให้กับ NFT คุณสมบัติข้อนี้เป็นคุณสมบัติแบบเดียวกับที่สินทรัพย์ดิจิทัลแบบดั้งเดิมมี อย่าง CryptoKitties (ซึ่งเราจะมาพูดถึงกันอีกในบทต่อ ๆ ไป) ที่มีจุดขายในการเอาแมวที่เป็น NFT ตัวหนึ่ง มาผสมพันธุ์กับแมวที่เป็น NFT เช่นเดียวกันอีกตัวหนึ่งเพื่อสร้างแมวดิจิทัลอีกตัวหนึ่ง คุณสมบัติข้อนี้ทำให้ NFT สามารถสร้างความเป็นไปได้มากมายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นักพัฒนามีอิสระเต็มที่ในการออกแบบกลไกในการสร้างสรรค์ NFT ในแบบของพวกเขาเองได้ตามที่ต้องการ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านทุกคนเข้าใจ NFT ได้มากขึ้นนะครับ ในบทความต่อไปเราจะเป็นบทความเรื่อง Part 2: มาตรฐานในการสร้าง NFT โดยเราจะมาพูดเจาะลึกเกี่ยวกับรูปแบบของ NFT ให้ทุกคนได้เข้าใจรายละเอียดของมาตรฐานการทำงานของ NFT แบบต่าง ๆ ให้มากขึ้นครับ

สำหรับใครที่อยากติดตามคอนเทนท์ดี ๆ เกี่ยวกับ NFT สามารถติดตามผู้เขียนได้ทางช่องทาง Facebook Fanpage: NFT Addict Thailandและเข้ามาพูดคุยกันได้ที่ Facebook Group: New Gen Defi Society

อ้างอิง: The Non-Fungible Token Bible: Everything you need to know about NFTs by Devin Finzer

แปลและเรียบเรียงโดย Nuttakit Kundum(เอฟฟี่)

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป