ปัจจุบันกระแส Non-Fungible Token (NFT) หรือ การนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละเหรียญ ไม่สามารถทดแทนกันได้ (non-fungible)* เช่น งานศิลปะ เพลง รูปภาพ ของสะสมเกี่ยวกับศิลปินหรือนักกีฬา กำลังได้รับความนิยม ทั้งจากผู้ที่สนใจจะนำทรัพย์สินหรือผลงานที่มีมาออกและเสนอขายในรูปของ token ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะให้บริการแพลตฟอร์มในการซื้อขาย NFT ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง และผู้ที่สนใจซื้อขาย NFT ไม่ว่าจะด้วยความชื่นชอบในผลงาน เพื่อการใช้งาน หรือเพื่อการเก็งกำไร เนื่องจากการสร้างผลงานในลักษณะ NFT นั้น สามารถเพิ่มความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ทำให้เข้าถึงผู้ใช้งานได้มากขึ้นด้วยเทคโนโลยี และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ การแสดงสิทธิในทรัพย์สิน รวมถึงป้องกันการปลอมแปลงได้อีกด้วย
ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ไม่ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับ NFT ไว้โดยเฉพาะ แต่กำหนดขอบเขตของสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลไว้ 3 ประเภท ได้แก่
(1) คริปโทเคอร์เรนซี เป็นเหรียญดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน
(2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ
(3) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น utility token พร้อมใช้ และ utility token ไม่พร้อมใช้
a. utility token พร้อมใช้ ผู้ถือเหรียญสามารถใช้สิทธิแลกสินค้าหรือใช้บริการได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก
b. utility token ไม่พร้อมใช้ ผู้ถือเหรียญจะยังไม่สามารถใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้นได้ในวันเสนอขาย แต่ต้องรอใช้สิทธิในอนาคต
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะกำกับดูแลการออกเสนอขาย investment token และ utility token ไม่พร้อมใช้ ดังนั้น หากมีการเสนอขาย investment token หรือ utility token ไม่พร้อมใช้ ผู้ออกต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
สำหรับกรณีของ NFT นั้น จะต้องพิจารณาว่าลักษณะของ NFT แต่ละเหรียญ เข้านิยาม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ประเภทใดประเภทหนึ่งตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ หรือไม่
หากเป็น NFT ที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เช่น มีการออก NFT ที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งของที่มีลักษณะทางกายภาพที่จับต้องได้ (physical) หรือไฟล์ดิจิทัล หรือมีการสะสม NFT แล้วให้สิทธิแก่ผู้ถือไปแลกของหรือสิทธิอย่างอื่น จะเข้านิยาม utility token ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ดังนั้น การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ NFT ลักษณะนี้ จึงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
แต่ถ้าหาก NFT นั้น เป็นตัวทรัพย์สินนั้นเอง เวลาซื้อขายหรือโอนก็ติดไปด้วยกัน ไม่อาจแยกกันได้ และไม่ได้มีการกำหนดสิทธิใด ๆ เพิ่มเติม และไม่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่น NFT ที่สร้างขึ้นโดยการเก็บ digital file บน Interplanetary File System (IPFS) และสร้างเหรียญดิจิทัลขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน (ไม่ว่าจะสร้าง NFT เหรียญเดียวหรือหลายเหรียญจาก digital file ที่เก็บบน IPFS) โดย digital file และเหรียญนั้นจะโอนติดไปด้วยกัน ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถแยกกันได้ เป็นต้น NFT ดังกล่าวจะไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล การดำเนินการเกี่ยวกับ NFT นั้น จึงไม่ถูกกำกับดูแลโดย พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
สำหรับการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นคริปโทเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด โดยปัจจุบันมีการกำกับดูแลธุรกิจ 5 ประเภท ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (investment advisor) และผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (private fund)
ขณะที่การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับ NFT ที่เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ในลักษณะการเป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายใด ๆ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน NFT โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน NFT สามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้ โดยกระทำเป็นการค้าปกติ (NFT marketplace) ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มี NFT marketplace ที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตไม่สามารถนำ NFT ที่เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ มาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ตามข้อ 39/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 18/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2564
ทั้งนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างทบทวนหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล NFT marketplace เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลของสากล