Gamfi WTF !! ใครว่าเล่นเกมแล้วไม่มีอนาคต EP.2 เข้าสู่โลกแห่ง Lunacia ของเกม Axie Infinity

หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวในโลก Play2earn กันไปในตอนที่แล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้กระแสของเกมรูปแบบ Play to earn ถูกจุดขึ้นมาจนกลายเป็นพายุลูกใหญ่ในโลกคริปโต ซึ่งก็เริ่มต้นมาจากเกม Axie Infinity ที่ใครๆ หลายคนก็รู้จักกันเป็นอย่างดี แต่เนื้อหาในตอนนี้ เราจะไม่ได้มาเล่าให้ทุกคนฟังว่าเกม Axie นั่นเล่นยังไง แต่จะพูดถึงที่มาที่ไปของเกมนี้ว่ามันเริ่มต้นจากจุดไหน มีที่มา ที่ไปอย่างไร และอะไรที่ทำให้เกมนี้เป็นที่นิยมขึ้นมาได้ 

จุดเริ่มต้นของ Axie

เกม Axie Infinity ที่เพิ่งมาเป็นกระแสในปี 2021 ได้ทำลายสถิติต่างๆ ในโลกคริปโตแบบที่ใครหลายคนก็คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นในด้านของจำนวนผู้ใช้ที่สูงกว่า 1,000,000 DAU (Daily Active User), มูลค่าการซื้อ-ขายใน Marketplace ที่ทะลุ 100m เหรียญหสรัฐต่อวัน ไปจนถึงรายได้ของแพลทฟอร์มที่แซงหน้ารายได้ของ Ethereum ในบางช่วงด้วยซ้ำ

น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเกม Axie Infinity ใช้เวลาในการพัฒนามาอย่างยาวนาน โดยตัวเกมได้มีการระดมไอเดียครั้งแรกในเดือนธันวาคมของปี 2017 โดยทีมงานที่รู้จักกันผ่านการเล่นเกม CryptoKitties เกมคริปโตยอดนิยมบน Ethereum ในสมัยนั้น

ซึ่งแนวคิดของเกม CryptoKitties นั้นได้พิสูจน์ว่าการใช้งานระบบที่มีความ Decentralized ของบล็อกเชนมีประโยชน์ในแง่ของระบบผสมพันธ์แมวภายในตัวเกม ซึ่งทำให้น้องแมว NFT แต่ละตัวมีความหลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่สุดท้ายเกม CryptoKitties ก็ต้องมาเจอกับปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรม Blockchain Gaming ซึ่งก็คือคือการประมวลผลธุรกรรมจำนวนหาศาลบน Ethereum ที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมในการทำธุกรรมที่สูงจนเป็นอุปสรรคต่อผู้เล่นใหม่ ทำให้เกมนี้ไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างเท่าที่ควร

ส่วนสำคัญที่ทีมงาน Axie ได้เล็งเห็นคือการที่จะสร้างเกมให้ได้รับการยอมรับจากผู้เล่นในวงกว้าง จำเป็นต้องมีการผสมผสานระหว่างระหว่างระบบที่ Centralized และ Decentralized ทำให้ผลที่ออกมาคือ เกมเพลย์ภายในเกม Axie Infinity จะกลายเป็นระบบที่ Centralized จาก Server กลาง โดยแทบจะไม่มี Blockchain มาเกี่ยวข้อง แต่ในส่วนของการผสมพันธ์ Axie จะยังคงใช้ประโยชน์จาก Blockchain ในด้านของการกระจายอำนาจและความโปร่งใสเช่นเดียวกับ CryptoKitties

https://steemit.com/game/@creativecrypto/crypto-cuteness-and-blockchain-battlegrounds-spotlight-on-axie-infinity?sort=new

ในส่วนของระบบ Battle ในเกมจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกมชื่อก้องโลกอย่าง Pokemon ที่ผู้เล่นจะมีหน้าที่สะสมมอนสเตอร์แล้วนำมาต่อสู้กันเพื่อหาผู้ชนะ โดยผู้เล่น Axie ก็เปรียบเสมือน Trainer ในเกม Pokemon ที่ต้องฟอร์มทีมโดยใช้ Axie 3 ตัวที่มีลักษณะและความสามารถเฉพาะแตกต่างกันตามชิ้นส่วนร่างกายของ Axie ที่มีทั้งหมด 6 ชิ้นและเผ่าที่แตกต่างกันทั้งหมด 9 เผ่า

การเติบโตของ Axie

ปัจจุบันนี้ Axie เป็นเกมที่มีมูลค่า Market cap กว่า 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้เล่นแตะ 1.4 ล้านคนจากทุกแพลทฟอร์ม นับว่าเป็นสถิติที่น่าสนใจมากเมื่อลองคิดถึงจุดเริ่มต้นของเกมจากทีมเล็กๆที่มี Developer 2 คน Artist 4 คนและ Growth hacker 2 คนในเดือนมิถุนายนปี 2018 พร้อมกับเงินทุนเพียง 1000 ETH (มูลค่า $450,000 ในตอนนั้น) ซึ่งได้มาจากการขายน้อง Axie รุ่นแรก (Origin) ในรูปแบบ Pre-sale โดยขายไปได้ทั้งหมดแค่ 3112 ตัวเท่านั้น

https://medium.com/axie-infinity/my-journey-in-cryptocollectibles-so-far-1af35fd4028c

https://medium.com/axie-infinity/the-pre-sale-has-ended-a-summary-d17a47d4430f

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Axie คือบริษัท Sky marvis ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเกม Axie ในตอนนี้การได้รับเงินลงทุนจำนวน $1.5 ล้านจาก Animoca Brands, Hashed, Pangea Blockchain Fund, ConsenSys, 500 Startups ในเดือน กรกฏาคม 2019

หลังจากนั้นเกม Axie Infinity ก็ได้ระดมทุนโดยการขายเหรียญ $AXS โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็น Governance Token ให้แก่เกมในอนาคต ผ่านทาง Binance Launchpad เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2020 โดยสามารถระดมทุนไปได้กว่า 2.97 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ราคาต่อ 1 AXS จะอยู่ที่ 0.1 USD ซึ่งถ้าหากใครที่ได้ลงทุนใน Launchpad และยังคงถือเหรียญ $AXS มาถึงตอนนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 730 เท่า!

รูปแบบการเล่นเกม Axie 

ในการที่จะเริ่มเกมเราจำเป็นต้องมี Axie อย่างน้อย 3 ตัว ซึ่งจะสามารถหาซื้อได้จาก Marketplace ที่ลิงค์ https://marketplace.axieinfinity.com/axie แต่ก่อนจะซื้อตัวมาเล่น เราควรศึกษาสกิลของแต่ละตัว และการทำคอมโบในแต่ละรูปแบบ เพื่อให้ทีมที่เราจัดขึ้นมา มีความสามารถพอที่จะชนะผู้เล่นอื่นในโหมด PVP ได้

เมื่อคุณมี Axie 3 ตัว จะได้รับ Energy ทั้งหมด 20 Energy ต่อวัน โดยจะรีเซ็ตตอน 7 โมงเช้า เมื่อเราเล่น PVP หรือ PVE จะเสีย Energy 1 หน่วย ในกรณีที่เรามี Energy แล้วผ่านด่าน PVE จะทำให้ได้รับ EXP ที่สามารถนำมาอัพเลเวลน้อง Axie ให้เก่งขึ้นแต่ระบบเลเวลจะมีผลแค่ตอนเล่น PVE เท่านั้น (ในโหมด PVP ทุกตัวจะเลเวล 1 เท่ากันหมด) ถ้านำ Energy ไปเล่นในโหมด PVP แล้วชนะจะได้รางวัลเป็นเหรียญ SLP(Smooth love Potion)

ในกรณีที่ Energy หมดก็ยังสามารถเล่นเกมได้ทั้ง 2 โหมด แต่จะไม่ได้รับรางวัล EXP ในโหมด PVE หรือจะไม่ได้รางวัล SLP ในโหมด PVP

สำหรับโหมด PVE เราจะต้องนำทีม Axie ของเรา ไปเล่นตะลุยด่านที่มีอยู่ทั้งหมด 36 ด่าน โดยเมื่อชนะในแต่ละด่านจะได้รับเหรียญ SLP รวมไปถึง EXP ที่ใช้เพิ่มเลเวลของน้อง Axie เพื่อให้สามารถผ่านด่านที่สูงขึ้น ด่านที่สูงขึ้นจะให้ปริมาณ $SLP มากขึ้นต่อการเล่น ทำให้เวลาที่ใช้ในการเล่นน้อยลง แต่จะจำกัดต่อวันที่ 50 SLP และจะรีเซ็ตในตอน 7 โมงเช้าของทุกวัน

ในส่วนของ PVP นั่นเราจะต้องไปต่อสู้กับผู้เล่นคนอื่นๆ โดยเกมจะสุ่มทีมมาต่อสู้กับเรา ซึ่งตรงนี้คือส่วนสำคัญของเกมเลยทีเดียว โดยในตอนเริ่มต้นเราจะมี MMR (Match making rate) ที่ 1200 และจะได้รับ/เสียประมาณ 15-20 แต้ม หากเราชนะ/แพ้ เมื่อเราชนะในขณะที่มี Energy เราจะได้ตาละ 3 SLP แต่ถ้าไต่แรงค์สูงขึ้นจะทำให้เราได้รับ SLP จำนวนมากขึ้นต่อการชนะ ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณเล่นไปจนถึงแรงค์ 2200 แล้วเล่นชนะจะได้รับ SLP ถึงตาละ 21 SLP เลยทีเดียว และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแรงค์ของคุณถึงสำคัญในเกมนี้

การจัดทีมพื้นฐาน

การเล่นเกม Axie มีความหลากหลายเนื่องจากแต่ละตัวจะมีค่า Stat และความสามารถที่ไม่เหมือนกันพูดง่ายๆก็คือ Axie แต่ละตัวเป็น NFT ที่ไม่มีตัวไหนเหมือนกันเลย โดยทั่วไปแล้วทีมพื้นฐานจะแบ่งออกเป็น Tank Support Damage เหมือนเกมทั่วไป แต่เราก็สามารถพลิกแพลงได้มากกว่านั้น  เช่นบางครั้งเราอาจจะจัดทีมแบบพิเศษที่อาจจะชนะทางทีมรูปแบบนึง (ที่อาจจะมีคนเล่นเยอะ) ก็เป็นไปได้

นอกจากนี้ ไม่ได้หมายความว่าการที่เรามีตัวที่สกิลดีแล้วเราจะชนะเสมอไป เพราะว่าในแต่ละตาเกมจะสุ่มการ์ดมาให้เราไม่เหมือนกันซึ่งเราก็ต้องตัดสินใจให้ดีว่าเราจะลงการ์ดในตอนไหน เพราะแต่ละการ์ดก็จะมีค่า Energy ที่ต้องใช้ เช่นถ้าเราลงการ์ดที่เป็นการป้องกัน แต่ถ้าฝ่ายตรงข้ามไม่โจมตีเรา เราก็จะเสีย Energy ไปฟรีๆ การเล่นจึงต้องมีการอ่านเกมกันพอสมควรว่าฝ่ายตรงข้ามจะทำอะไร นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโอกาสคริติคอล จึงพูดได้เลยว่าเกมนี้มีฝีมืออย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยดวงเป็นตัวช่วยด้วย 

ผลตอบแทนและรายได้จากการเล่น

รายได้ของผู้เล่นมาจากการได้รับเหรียญ SLP ซึ่งถ้า เราขยันเล่นในโหมด PVE และทำ Daily quest จนครบ จะได้รับ SLP อย่างน้อย 75 ขวด และถ้าหากเรานำ Energy ทั้ง 20 หน่วย ไปเล่นในโหมด PVP ก็จะได้รับ SLP เพิ่มขึ้นไปอีก ถ้าหากเราสามารถยืนแรงค์ได้ประมาณ 1600 จะได้รับ SLP ต่อวันสูงถึง 170 SLP (โดยเฉลี่ย) หมายความว่าจะมีรายได้ต่อวันประมาณ 680 บาท (เรทราคา SLP ที่ 4 บาท) สมมติว่าเราใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 35,000 บาท ก็จะใช้เวลาในการคืนทุนประมาณเกือบ 2 เดือน แต่อย่าลืมว่า เราสามารถขาย Axie คืนตลาดได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเงินลงทุนก้อนแรกของเราจะมีโอกาสจมน้อยมาก เว้นแต่ราคา Axie ตก ทำให้ต้องขายคืนในราคาที่ขาดทุนก็สามารถเกิดขึ้นได้ อีกหนึ่งความเสี่ยงของผู้เล่นคือ ราคา SLP ที่ลดลงทำให้เวลาที่ใช้ในการคืนทุนนานขึ้นไปอีก 

เหรียญ AXS และ SLP

ในเกม Axie นั้นจะมีระบบเหรียญ 2 ชั้นนั่นคือ AXS และ SLP โดยเหรียญ AXS(Axie Infinity Shard) จะเป็น Governance Token ที่ทำให้คนสามารถใช้เหรียญ AXS เพื่อโหวตในการเปลี่ยนแปลงระบบของเกมได้ รวมไปถึงสามารถนำไป Stake เพื่อรับ Reward จากระบบ แต่เนื่องจากในตอนนี้ Axie ยังเป็น Alpha อยู่ระบบ Stake และ Governance จึงยังไม่เสร็จ ตอนนี้เหรียญ AXS จึงมีการใช้งานเพียงอย่างเดียวคือเป็นค่าธรรมเนียมตอน Breed เท่านั้น โดย AXS ที่ถูกใช้เป็นค่าธรรมเนียมจะถูกเก็บลงใน Treasury เพื่อใช้ในการสนับสนุน Community ต่อไป

ในส่วนของ SLP (Smooth Love Potion) เหรียญนี้เป็นเหรียญที่มีความแตกต่างจาก AXS ที่มี Fix Supply เพราะมันเป็นเหรียญที่สามารถถูกผลิตขึ้นได้เรื่อยๆ ตามการเล่นของผู้เล่น ซึ่งมันสามารถนำไปซื้อ-ขายได้บน CEX และ DEX เช่น Uniswap หรือ Binance โดยตอนนี้การใช้งานของมันอย่างเดียวคือ เป็นค่าธรรมเนียมในการ Breed หรือผสมพันธุ์ Axie นั่นเอง โดย SLP ที่เป็นค่าธรรมเนียมจะถูก Burn ทิ้งเพื่อลดปริมาณ Supply

ระบบ Breed

การจะสร้าง Axie ใหม่ 1 ตัวต้องอาศัย Axie 2 ตัวมาผสมพันธุ์กัน (Breed) โดย Axie 1 ตัวจะสามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งหมด 7 ครั้ง และทุกครั้งที่ผสมจะจำเป็นต้องใช้ SLP เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Axie ของเราไม่เคยผสมพันธุ์มาก่อนก็จะมี Breed count เป็น 0/7 และจะใช้ SLP ในการผสมครั้งแรกเพียง 150 ขวด/ตัว และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามตารางด้านล่าง 

สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ การจะผสมพันธุ์ Axie จำเป็นต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์ โดย Axie แต่ละตัวจะมียีนเด่น(D) และยีนด้อย(R1,R2) ที่แตกต่างกัน เราจึงจำเป็นต้องใช้ ฺBrowser extension อย่าง Freak Axie (https://chrome.google.com/webstore/detail/freaks-axie-extension/copjnifcecdedocejpaapepagaodgpbh?hl=en) เพื่อให้หน้า Marketplace แสดงค่ายีนของ Axie แต่ละตัว โดยลูก Axie ที่ออกมาจะมีชิ้นส่วนแบบสุ่มจากพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ (D คิดเป็น 37.5% R1 คิดเป็น 9.375% และ R2 คิดเป็น 3.125% โดยรวมกับ Axie อีก 1 ตัวเป็น 100%)

ระบบ Land

ที่ดินของ Axie Infinity มีจำนวนทั้งหมด 90,621 ผืน โดยแบ่งออกเป็น 5 แบบตามความหายากและทำเล ได้แก่ Genesis plot, Mystic, Arctic, Forest และ Savannah โดย Genesis plot จะมีทำเลดีที่สุดและปริมาณน้อยที่สุด ตรงข้ามกับ Savannah ที่มีมากที่สุดและทำเลแย่ที่สุด ในตอนนี้เราสามารถหาซื้อที่ดินได้ใน Market Place ของเกม แต่ก็จะมีการเปิดขายเพิ่มอีกในอนาคต เพราะตอนนี้มีปริมาณที่ดินในของมือผู้เล่นเพียง ¼ ของทั้งหมดเท่านั้น

เราสามารถหาทรัพยากรต่างๆบน Land ของเรา หรืออาจจะรวมไปถึงเหรียญ AXS โดยเจ้าของ Land จะเป็นคนแรกที่มีสิทธิในทรัพยากรที่หาได้ นอกจากนี้จะมีระบบที่เพิ่มโอกาสได้รับทรัพยากร เช่น จุดเกิด Boss ในที่ดินเรียกว่า Chimera ซึ่งถ้าจัดการได้ก็จะได้รับทรัพยากรเพิ่มหรือแม่น้ำที่ทำให้ Axie ของเราสามารถจับปลาได้ อย่างไรก็ตามระบบ Land ของ Axie ในปัจจุบันยังพัฒนาไม่เสร็จเราจึงต้องรอดูว่าใน Pharse หน้า (Q1 2022) จะมีอะไรเกิดขึ้น

การเติบโตของเกม Axie

ในปัจจุบัน Axie Infinity มีการซื้อ-ขายตัว Axie เฉลี่ยวันละ 60,000 ตัวโดยมีปริมาณซื้อขายวันละ $27 ล้าน โดยมี Daily active user ประมาณ 3-6 แสนคนต่อวัน (dota2 อยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนคนต่อวัน) โดยเหรียญ AXS ได้เติบโตจากราคา $0.5 มาสู่ปัจจุบันที่ $70 ด้วยมูลค่าการตลาดกว่า $4 พันล้าน

จุดสำคัญของการเติบโตของเกม Axie  Infinity คือ กระแสเกม Play to earn ในประเทศฟิลิปปินส์ที่เริ่มต้นจากกลุ่มคนในเมือง Cabanatuan ซึ่งหันมาหารายได้จากการเล่นเกม Axie เนื่องจากภาวะ Covid-19 ในช่วงต้นปี 2020 ทำให้เกิดภาวะการว่างงานสูง โดยปกติแล้วค่าแรงขั้นต่ำของฟิลิปินส์จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน แต่การเล่น Axie Infinity จะทำให้ผู้เล่นมีรายได้ราวๆ 12,000-15,000 บาทซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำซะอีก เมื่อมารวมกับปัญหาการว่างงานของชาวเมือง ทำให้ Axie สามารถเพิ่มฐาน User ในประเทศฟิลิปปินส์ได้อย่างรวดเร็ว โดยเกม Axie Infinity ได้สร้างรายได้ให้กับชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งถึงขนาดที่สามารถซื้อบ้านได้ถึง 2 หลังเลยทีเดียว

การเติบโตของระบบ Scholar และ YGG

เมื่อ Axie Infinity เติบโตขึ้นก็ทำให้ราคาของ Axie แต่ละตัวเริ่มแพงมากขึ้น จนทำให้มันกลายเป็นกำแพงที่ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีงบจำกัดไม่สามารถเข้ามาเล่นเกมได้ ระบบ Scholar หรือระบบนายทุนจึงถือกำเนิดขึ้น โดยจะมีนายทุนที่คอยออกเงินทุนในการจัดทีม Axie แล้วก็ให้ Scholar เล่นเกมแทน หลังจากนั้นก็นำเงินที่ได้จากการขาย SLP มาแบ่งระหว่างนายทุนกับผู้เล่นตามอัตราที่ตกลง ซึ่งกลไก Scholar จะช่วยเร่งให้เกมเกิดการยอมรับในวงกว้างต่อไป

สำหรับกิลด์ที่สร้าง Scholar จำนวนมากขึ้นมาในช่วงต้นคือ Yield Guild Group (YGG) ซึ่งต่อมาทาง YGG ก็ได้ ICO เหรียญและสร้าง DAO ขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กิลด์สร้างผลตอบแทนจากการเล่นเกมเช่น Axie Infinity, League of Kingdoms แล้วนำมามอบคืนให้แก่ผู้ถือเหรียญ โดย YGG นั้นระดมทุนในรอบ Seed ไปได้ $1.325 ล้านจาก Delphi Digital และ $4 ล้านจาก Bitkraft โดย YGG ได้ไปลงทุนในเกม Multiverse ต่างๆ มากมายรวมไปถึง Land ของ Axie ด้วยเช่นกัน

ในไทยก็มีเองก็มี Platform ในการช่วยบริหารจัดการ Scholar ยอดนิยมอย่าง Ezhub ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วถึง 41,000 คนต่อเดือน และมีการก่อตั้ง GameFi Guild (GFI) โดยบริษัท Crypomind ที่ตั้งเป้าหมายที่จะสร้าง Scholar จำนวน 1000 ทีม โดยปัจจุบันได้มีการ Onboard สกอลาร์ไปแล้วจำนวน 500 ทีม และล่าสุดยังทำการเข้าซื้อ Land ในเกม Axie Infinity จำนวน 41 แปลง มูลค่ากว่า 63 ล้านบาทอีกด้วย

Roadmap ในอนาคตของ Axie 

หนึ่งในสิ่งที่หลายคนอาจจะไม่รู้คือปัจจุบัน Axie เป็นเกมที่อยู่ในเฟส Alpha เท่านั้น โดยถ้าดูจาก Roadmap แล้วตัวเกมยังมีการพัฒนาในอนาคตดังนี้ 

  • Q3 2021: $AXS staking
  • Q4 2021: Land Gameplay Community Alpha
  • Late 2021 / Early 2022: $AXS ecosystem begins
  • Governance
  • Play to Earn
  • Mainstream release of Axie Infinity on IOS/Android
  • First half 2022: Land gameplay
  • Second half 2022: Lunacia SDK Alpha

นอกจากนี้ตามการให้สัมภาษณ์แล้วทีมงานอาจจะทำ Mini Game ใหม่โดยใช้ตัว Axie ในการเล่น รวมไปถึงระบบการปล่อยน้อง Axie กลับดาวเพื่อลดปริมาณ Axie ในระบบ ไปจนถึงการจัดแข่งทัวร์นาเม้นใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งการจัดแข่งครั้งนี้ก็ได้มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย 

ความยั่งยืนของเกม Axie

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจก็คือแล้วเกม Axie นี่จะยั่งยืนแค่ไหนกันแน่ โดยในปัจจุบันเกม Axie โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาคืนทุนประมาณ 2 เดือนจากราคา SLP ในปัจจุบันซึ่งเป็นส่วนสำคัญในแง่การลงทุนในเกม Axie 

โดยภายในอัพเดทล่าสุด ก็มีการปรับ Supply ของ SLP จากเดิมที่เราหา SLP ได้อย่างน้อยจากวันละ 150 เป็น 75 และเพิ่มรางวัลของผู้เล่นในโหมด PVP ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำให้ระบบ Economic ของเกมยั่งยืนมากขึ้น เพราะเป็นการโฟกัสที่จะมอบรางวัลให้เเก่คนที่เล่นเกม ไต่แร้งค์จริงจัง นอกจากนี้ยังมีระบบแบน Bot อีกด้วยซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่พบเจอได้ใน Axie ทุกเกม ซึ่งโดยส่วนตัวแอดมินคิดว่า SLP ที่หาได้จาก PVE อาจจะต้องมีการปรับลดลงในอนาคตจากการเฟ้อของตัว Axie

เราไปดูในแง่รายได้กันบ้างโดยใน Axie Market Place นั่นมีการเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 4.25% ซึ่งตรงนี้คือส่วนของ Protocol Revenue ที่ถูกเก็บเข้า Treasury ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่า Revenue ตรงมีมากถึง $8.5 ล้านต่อวันซึ่งในบางช่วงนั้น Revenue มันมากกว่า Ethereum ซะอีก และภายในบรรดาโครงการ DeFi หรือเกมทั้งหลายแล้วนั้น มันมีค่า P/E อยู่ที่ 4.4x ซึ่งน้อยที่สุดในทุกๆโครงการ

โดยส่วนตัวแล้วการลงทุนใน Axie ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลย แต่เรียกได้ว่าในแง่มูลค่าพื้นฐานแล้วมันแข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อในหมวดหมู่เกมด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันจะหาเกมที่มีมูลค่าเป็นอันดับสองเทียบ Axie เรียกได้ว่ายังไม่มีด้วยซ้ำ แม้มูลค่า SLP จะตกลง แต่มันก็ยังเป็นเกมที่มีความมั่นคงที่สุดแล้วในปัจจุบัน

อย่าลืมกดไลค์ Page Guild Fi Thailand ด้วยนะ https://www.facebook.com/GuildFiThailand

เข้าร่วม Discord GFI ได้ที่ https://discord.gg/SAeCEMAw

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป