กระทรวงการคลัง ชงจ่าย เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ผ่านแอป “เป๋าตัง” โดยจะใช้รูปแบบเดียวกับ คนละครึ่ง และจะไม่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว ซึ่งงบ 5 แสนกว่าล้านที่จะใช้นั้น จะยืมจากรัฐวิสาหกิจ และจ่ายคืนภายหลัง รายงานจากประชาชาติธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีกำหนดแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 11-12 กันยายน 2566 อย่างไรก็ดี จากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเดินหน้านโยบายทำทันที ส่งผลกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีการเตรียมพร้อมและศึกษาข้อมูล เพื่อรองรับกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลใหม่
แหล่งข่าวจากทีมทำงานของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายเศรษฐกิจหลักของรัฐบาล คือการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรี นั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ เป็นไปตามแผน สำหรับภารกิจหลักของกระทรวงการคลังขณะนี้ก็คือ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท และโครงการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ซึ่งต้องยอมรับว่าทั้งสองโครงการมีต้นทุนที่เป็นภาระทางการคลังค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนในงวดเดียว เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน ซึ่ง จะเป็นในรูป e-Money โดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับเงินในทอดแรก ๆ จะไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ แต่จะต้องนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้า-วัตถุดิบ เพื่อมาค้าขายต่อ เป้าหมายเพื่อให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจ อาทิเช่น แม่ค้าข้าวหนียวหมูปิ้ง เข้าโครงการรับ “อีมันนี่” เข้าถุงเงิน จะไม่สามารถเอาเงินสดออกมาได้โดยตรง โดยจะต้องเอาเงินที่ได้รับไปใช้ซื้อข้าวเหนียว หมู เครื่องปรุงต่าง ๆ เพื่อให้เงินที่ใส่เข้าไปหมุนในระบบหลาย ๆ รอบ เป็นต้น
สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท แหล่งข่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ตามที่วางแผนไว้เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ ในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่บังคับใช้ก็คือ ต้องใช้มาตรการกึ่งการคลัง โดยยืมเงินรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเงินจากธนาคารของรัฐมาใช้ไปก่อน โดยรัฐบาลจะตั้งงบฯชดเชยคืนให้ในภายหลัง ซึ่งจะมีกรอบวงเงินที่ใช้ได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดว่า ยอดคงค้าง หรือภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ต้องไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
“ตอนนี้วงเงินตามมาตรา 28 ถ้าเป็นตามกรอบของปีงบประมาณ 2566 ก็จะเหลือแค่ประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่งไม่พอแน่นอน แนวทางที่ทำได้ก็คือ ต้องขยายกรอบวงเงินตรงนี้ จากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลต้องการวงเงินเท่าไหร่ จะขยายเป็นกี่เปอร์เซ็นต์” แหล่งข่าวกล่าว
อ้างอิง : prachachat