ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็น “ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” ในการขอรับความเห็นประกอบธุรกิจอื่น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบการประกอบธุรกิจอื่นของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ศูนย์ซื้อขายสัญญาฯ) และสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (สำนักหักบัญชีสัญญาฯ) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ)*

ด้วยที่ผ่านมา ยังไม่มีหลักเกณฑ์รองรับเกี่ยวกับการขอรับความเห็นชอบในการประกอบธุรกิจอื่นของศูนย์ซื้อขายสัญญาฯ และสำนักหักบัญชีสัญญาฯ ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการในการจัดทำกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับกรณีที่ศูนย์ซื้อขายสัญญาฯ และสำนักหักบัญชีสัญญาฯ ประกอบธุรกิจอื่นตามมาตรา 74 และมาตรา 89 ประกอบมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546** รวมทั้งให้สอดคล้องกับมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาฯ และสำนักหักบัญชีสัญญาฯ สามารถขยายการประกอบธุรกิจได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อลูกค้า ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนโดยรวม 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=901 โดยผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: sarochat@sec.or.th หรือ pimpicha@sec.or.th หรือ napaporng@sec.or.th จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2566

________________________

หมายเหต : 

* พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย (http://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=834692&ext=pdf)

(1) มาตรา 22 วรรคสอง บัญญัติว่า กฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนด ให้ต้องมีการออกกฎหรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้าย ต่อประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้นให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ระยะเวลา 2 ปีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกิน 1 ปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลา 2 ปีดังกล่าว

(2) บทเฉพาะกาล มาตรา 39(1) บัญญัติว่า ระยะเวลา 2 ปีตามมาตรา 22 วรรคสอง สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้นับแต่เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

**พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายฯ (https://www.sec.or.th/TH/Documents/ActandRoyalEnactment/Act/act-derivatives2546-codified.pdf)

(1)  มาตรา 22 บัญญัติว่า ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะประกอบธุรกิจอื่นใดมิได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเมื่อสำนักงานได้รับคำขอความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สำนักงานพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอความเห็นชอบ และเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วนตามที่สำนักงานประกาศกำหนด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสองแล้ว หากสำนักงานไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาหรือไม่มีคำสั่งเป็นประการอื่นใดไปยังผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ถือว่าสำนักงานได้ให้ความเห็นชอบแก่การประกอบธุรกิจนั้นแล้ว

(2)  มาตรา 74 บัญญัติว่า ให้นำความในมาตรา 20 มาตรา 22 มาตรา 27 และมาตรา 28 มาใช้บังคับกับศูนย์ซื้อขายสัญญาฯ โดยอนุโลม

(3)  มาตรา 89 บัญญัติว่า ให้นำความในมาตรา 20 มาตรา 22 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 61 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66 และมาตรา 73 มาใช้บังคับกับสำนักหักบัญชีสัญญาฯ โดยอนุโลม

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป

FOLLOW ME

Blockchain Life 2024

Crypto Coffee

Cryptomind Research Talk

CryptOmakase

ข่าวต่อไป