ปัจจุบัน เทคโนโลยีเปิดกว้างให้ทุกคน re-skill และ up-skill ตัวเองได้ตลอดชีวิต ใครอยากทำอะไร แม้แต่ “สร้างโลก” ก็เรียนรู้และทดลองทำได้ อย่างหลักสูตรระยะสั้น “เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้” ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังเปิดรับสมัครสำหรับบุคคลทั่วไป
“ปัจจุบัน เทคโนโลยีพร้อมที่จะพาเราเข้าสู่ยุคของ Metaverse เต็มตัวแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่พร้อมคือ “คนสร้างโลกเสมือน” เราต้องการกำลังคนมหาศาลที่จะมาสร้างโลก Metaverse และเปลี่ยนโลกไปในทางที่ดีขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎา พนมเชิง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเป้าหมายชองการริเริ่มหลักสูตรนี้พร้อมให้ความมั่นใจกับผู้สนใจว่าการสร้างโลกด้วย Metaverse นั้น “ใครๆ ก็ทำได้”
Metaverse คืออะไร
Metaverse (เมตาเวิร์ส) คือแพลตฟอร์มในการสร้างโลกเสมือนจริง เป็นที่รู้จักและกล่าวถึงอย่างกว้างขวางตั้งแต่ Mark Zuckerberg CEO ของ Facebook (ปัจจุบันชื่อ Meta) ประกาศใช้ Metaverse
โดย อาจารย์กฤษฎา กล่าวว่า “ชีวิตของเราอยู่กับเทคโนโลยีแทบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะที่ทำงาน พูดคุยกับเพื่อนผ่านโซเชียลมีเดีย หรือเล่นเกม เราล้วนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ที่ไม่ใช่โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่จริง ๆ Facebook เองก็เป็น Metaverse เช่นกัน เราคุยกับเพื่อน ไลฟ์สด และทำอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างในนั้น ก็เสมือนกับว่าเราอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง”
รศ.ดร.กฤษฎา ได้นิยามลักษณะ “Metaverse” แบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้
- สามารถเข้าไปอยู่ได้นานๆ
- เข้าไปแล้ว มีความสุข
- มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
- ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพ 3 มิติ สามารถเป็น 2 มิติ หรือไม่ต้องเป็นภาพเลยก็ได้
Metaverse มีความสำคัญอย่างไร
เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราได้เห็นการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อชีวิตให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) การเรียนการสอนออนไลน์ การจัดงานสัมมนาออนไลน์ และโลกเสมือน Metaverse ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยเชื่อมต่อผู้คนในโลกที่มีความหลากหลาย
พลังของ Metaverse ทำให้เราสามารถไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ หรือรับชมภาพจิตรกรรมของศิลปินระดับโลกได้อย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องนั่งเครื่องบิน หรือกังวลเรื่องเวลาปิด-เปิดพิพิธภัณฑ์ Metaverse ช่วยขยายขอบฟ้าแห่งการเรียนรู้ จะเรียนทำอาหาร เรียนการผ่าตัดด้วยห้องผ่าตัดเสมือนจริง หรือเดินทางเข้าป่า (เสมือน) เพื่อศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศก็ทำได้ด้วย Metaverse
“ในด้านการเรียนการสอน Metaverse ก็สามารถช่วยลบข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าความเสี่ยงการติดโรคระบาด ระยะเวลาการเดินทางและค่าใช้จ่าย อุปกรณ์ การเห็นของจริง ที่เป็นไปได้ยากในโลกความเป็นจริง ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ในโลกเสมือน” อาจารย์กฤษฎา กล่าว
และแม้ปัจจุบัน Metaverse จะเอื้อให้คนเรามีปฏิสัมพันธ์กันแบบที่ใกล้เคียงกับการได้มาเจอกันจริง ๆ หรือได้ไปสถานที่นั้นจริง ๆ แต่ก็ยังแค่ “เสมือน”
นักวิจัยยังคงพยายามพัฒนาให้ประสบการณ์ในโลก Metaverse มีความใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น แว่น VR ของ Oculus ถุงมือ หรืออุปกรณ์ควบคุม ก็ทำให้เรารู้สึกได้เทียบเท่าของจริงมากขึ้นแล้ว โดยเชื่อว่าในอนาคต ประสบการณ์ใน Metaverse อาจจะดีกว่าของจริงก็เป็นได้
อาจารย์กฤษฎา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ายังมีอีกหลายเรื่องราวในโลกที่รอให้เทคโนโลยี Metaverse ช่วยเสริมประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้
การสร้างโลก Metaverse ทำอย่างไร
อาจารย์กฤษฎา อธิบายว่าเนื้อหาในหลักสูตร “เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้” เน้นให้ผู้เรียนสามารถสร้าง Metaverse ได้ โดยแบ่งสาระและปฏิบัติการเป็น 3 ส่วน ได้แก่
สร้างโมเดล
เมื่อมีเนื้อหาที่ต้องการจะนำเสนอใน Metaverse แล้ว จุดแรกที่ต้องทำคือการสร้างโมเดล ซึ่งในหลักสูตรนี้จะสอนการสร้างโมเดล 3 มิติ ด้วยโปรแกรม Blender ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรี ที่สามารถสร้างโมเดลและภาพเคลื่อนไหวได้มีคุณภาพค่อนข้างดี
รวมโมเดลเอาไว้ในโลกเดียวกัน
คือการรวบรวมโมเดลเข้ามาอยู่ในแอปพลิเคชัน โดยใช้โปรแกรม Unity โมเดลที่เราได้สร้างเอาไว้ทั้งหมดก็จะกลายเป็นโลกใบหนึ่งได้แล้ว
เชื่อมต่อโลกกับอุปกรณ์
เมื่อเราได้โลกใบหนึ่งแล้ว เราต้องทำการเชื่อมโลกของเราเข้ากับอุปกรณ์ โดยอุปกรณ์ที่ใช้เรียนในหลักสูตรนี้จะใช้ แว่น Oculus หรือ แว่น VR (Virtual Reality) ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงโลกที่เราสร้างขึ้นมาเองกับมือได้นั่นเอง

Metaverse ใคร ๆ ก็สร้างได้ จริงไหม?
ตลอดระยะเวลา 30 ชั่วโมงในการเรียนหลักสูตร “เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้” ผู้เรียนจะได้ความรู้พื้นฐานที่นำไปสร้าง Metaverse ของตัวเองได้จริง
อาจารย์กฤษฎา กล่าวว่า “ไม่ว่าจะมาจากสาขาอาชีพใด มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมมาหรือไม่ หลักสูตรนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสร้าง Metaverse ที่เป็นโลกของตนเองอย่างน้อย 1 ใบ พร้อมทั้งได้รับใบประกาศเมื่อเรียนจบหลักสูตร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้จริงตามความสนใจของตนแน่นอน”
“ขณะนี้มีนักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรนี้เรียบร้อยแล้ว 1 รุ่น นักเรียนทั้ง 25 คน สามารถสร้าง Metaverse ออกมาได้อย่างดี และส่วนมากบอกว่าสามารถทำได้ไม่ยากเลย” อาจารย์กฤษฎาทิ้งท้าย
สามารถติดตามรายละเอียดการเปิดรับสมัคร พร้อมค้นหารายวิชาอื่น ๆ ได้ที่เว็บไซต์นี้
ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย