กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมกับทางคณะทำงาน Chiangmai Crypto City จัดงาน Chiangmai Web3 City and Metaverse เปิดสปอตไลท์ส่องหา Unicorn วันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2565 สถานที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลแม่เหียะ
โดยมีจุดประสงค์ทั้งหมด 3 ข้อด้วยกันคือ
- สร้างความร่วมมือระดับประเทศทั้งภาครัฐ และเอกชนในการใช้เทคโนโลยี Web 3.0 และบล็อกเชนเพื่อการพัฒนาเมือง
- ส่งเสริม Web3 Startup ไทยให้ไปไกลระดับโลก ด้วยการ Pitching และ Networking กับ VC
- สร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่ภาคประชาชนในด้านเทคโนโลยี Web 3.0 และบล็อกเชน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมเปิดงาน Chiangmai Web3 City and Metaverse ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ได้มีการขึ้นเวทีเสวนาหัวข้อ Digital Startup กับการพัฒนาเมืองเป็น Smart City ร่วมกับคุณวิชัย ทองแตง และเด็กรุ่นใหม่ในวงการ Startup ทั้งหมด 5 ท่าน คือ นายหรรษธร ศรีสุข (คุณสตางค์) ผู้จัดการโครงการ Chiangmai Crypto City, นายพงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ (คุณวุดดี้) CEO บริษัท Multiverse Expert, นายมติชน มณีกาศ (คุณเค) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Easy Rice, นางสาวพิชญาภา ศิริรัตนา (คุณกิ๊ฟ) Smart City Ambassador ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), และนายกันตพัฒน์ เหลืองเจริญวัฒนา CEO บริษัท ปิรามิด โซลูชั่น จำกัด
หลังจากเสวนา ด้านนายพงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ ได้เป็นตัวแทนของ Startup ทั่วประเทศในการยืนจดหมายให้กับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์โดยมีเนื้อหาว่า “วันนี้ เราจะร่วม Start up ประเทศไทยพร้อมกันทั้งประเทศ” จากนั้นทางรัฐมนตรี DE ได้มีการถ่ายภาพร่วมกันกับเหล่า Startup และผู้ร่วมงาน
จากนั้นทางทีม Chiangmai Crypto City โดย นายแพทย์ เกียรติศักดิ์ วงศ์วรชาติ (หมอปาน) ผู้นำฝ่ายกลยุทธ์ และนายหรรษธร ศรีสุข (สตางค์) ผู้จัดการโครงการ ได้ขึ้นพูดถึงประสบการณ์การร่วมงาน Point Zero Forum ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมเหล่าผู้นำในด้าน Web 3.0 จากทั่วโลก และทาง Chiangmai Crypto City ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมในงานนี้ด้วย โดยเนื้อหาหลักๆในการนำเสนอคือเรื่องของเมือง Zug ที่เป็น Crypto Valley ต้นแบบ โดยสามารถสร้างเม็ดเงินในพื้นที่ได้มากกว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐจากการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐและความร่วมมือของภาคเอกชนในพื้นที่ มากกว่านั้นยังมีการพูดถึงความร่วมมือกับระหว่างประเทศเพื่อที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมบล็อกเชนและ Web 3.0 ให้เติบโตในอนาคต
หนึ่งในหัวใจหลักสำคัญของงานนี้คือการ Pitching ของเหล่า Startup โดยมีทั้งหมด 17 Startup ทีมที่เข้าร่วมและมีทางเหล่า Venture Capital ทั้งไทยและต่างประเทศร่วมเป็น Commentator นำโดย คุณวิชัย ทองแตง นักลงทุนรายใหญ่ ฉายาพ่อทูนหัวของเหล่า Startup, คุณเนาวรัตน์ ธรรมสวยดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Bitkub Venture, คุณปิยพันธ์ วงศ์ยะรา CEO Stock2morrow, คุณวิศิษฎ์ ยินดีสิริวงศ์ ผู้บริหาร Bitkub Capital Group Holding Company, อาจารย์ปริญญ์ ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการ Finn College, และ คุณวิรโรจน์ ตียเกษม OKX โดยในการ Pitching นี้ มีโปรเจคที่น่าสนใจมากมาย โดยแต่ละเจ้าก็มีทีเด็ดเป็นของตนเอง ซึ่งทาง Commentator ก็ได้มีการยิงคำถามที่ดุเด็ดเผ็ดมันส์ และมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากมายต่อเหล่า Startup ในการนำไปพัฒนาธุรกิจในอนาคต
ในช่วงบ่ายของวันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายพงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ ได้เป็นตัวแทนของ Startup ทั่วประเทศ และคณะทีมงานซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มงาน Chiangmai Crypto City ได้เดินทางไปพบกับท่านายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธุ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี ณ โรงเรียนวัดเวฬุวัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน และสอบถามถึงประเด็นที่กลุ่ม Startup ต้องการให้ทางรัฐบาลช่วยสนับสนุน โดยมีการพูดถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนการสร้างกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยี Blockchain และการขอการสนับสนุนการสร้าง Sandbox ในพื้นที่แม่เหี๊ยะ จังหวัดเชียงใหม่ ให้กลายเป็น Digital Valley ซึ่งทางท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะทำการสนับสนุน และได้มอบให้ทางนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการต่อไป โดยตลอดการเสวนามีบรรยากาศเป็นไปอย่างเป็นกันเอง
และในพื้นที่เทศบาลเมืองแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลด้านดิจิทัลของเทศบาลเมืองแม่เหียะ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ ที่ได้รับการรับรองเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ Smartcity จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) (DEPA) เพื่อยกระดับสู่การเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ส่งเสริมทางด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งเสริมความมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการบริหารจัดการเมือง โดยมีนายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะเป็นผู้นำเสนอรายงาน
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอโครงการวิจัยซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองแม่เหียะ และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านก่ารพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้ชื่อ “โครงการการศึกษากลไกการทำงานของการสร้างเมืองคริปโตของประเทศไทย พื้นที่นำร่อง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดระยอง และจังหวัดขอนแก่น” โดยมีนายแพทย์ สิทธิชัย เหลืองกิตติก้อง ตำแหน่งหัวหน้าโครงการวิจัยและตัวแทนจากพื้นที่เชียงใหม่ นางสาวนพคุณ ฟองทองและ นายภูษิต ไชยฉ่ำ ตัวแทนจากพื้นที่ขอนแก่นและระยอง ตามลำดับ เป็นผู้นำเสนอโครงการ
ทั้งนี้ยังมีการร่วมเสนอผลงานวิจัยจากทางหน่วยร่วมวิจัยอย่าง Chiangmai Crypto City (CCC) ที่ได้นำเสนอตัวอย่างโลกเสมือน CCC Metaverse โดยนายพงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ หัวหน้าส่วนงาน Metaverse ที่มีการวิจัยการเชื่อมโลกเสมือนเข้าด้วยกัน 3 เมือง และการนำเสนอผลงานการสร้าง VR Experience โดยนายเสถียร บุญมานันท์ หัวหน้าส่วนงานการสร้างประสบการณ์เสมือน โดยการใช้แว่น VR ให้ท่านยกรัฐมนตรีและคณะทำงานได้ทดสอบประสบการณ์การเข้าสู่โลกเสมือน