ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางแผนที่จะเสนอกฎหมายที่ครอบคลุมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในเดือนมกราคมปีหน้า โดยกฎดังกล่าวจะมุ่งไปที่การลดความเสี่ยงต่อเครือข่ายการเงิน และให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนมากขึ้น
ในระหว่างการสัมภาษณ์ล่าสุดกับทาง The Bangkok Post ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันจะออกเอกสารให้คำปรึกษาเรื่อง “Financial Landscape” ในเดือนมกราคม 2022 โดยเอกสารดังกล่าวจะเป็นการ “ขีดเส้นสีแดง” สำหรับผู้ที่จัดการกับ bitcoin และ altcoins
แม้จะมีความสนใจในสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลนั้นก็ยังซ่อนความเสี่ยงอยู่ และนั่นคือเหตุผลที่กฎใหม่จะพยายามให้ความคุ้มครองที่ดีขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในประเภทสินทรัพย์ดังกล่าว
ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง โดยทั้งสามหน่วยงานมีเป้าหมายที่จะไม่ให้สินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นวิธีการชำระเงินภายในประเทศ
“ธนาคารกลางกำลังทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และกระทรวงการคลังเพื่อสรุปว่า อะไรคือเส้นสีแดงที่เราไม่ต้องการเห็น” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว ตัวอย่างเช่น “cryptocurrencies ไม่สามารถเป็นวิธีการชำระเงินได้”
ดร.เศรษฐพุฒิ ยังเตือนว่าสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันมีความผันผวนสูง แม้ว่าจะมีศักยภาพที่จะเจริญรุ่งเรืองในระบบการเงินก็ตาม
ความเร่งรีบของประเทศไทยในการออกกฎสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนต่างสนใจเข้ามาลงทุนกันมากขึ้นด้วยผลตอบแทนที่ดีกว่าการออมเงินแบบเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
“เราต้องการให้แน่ใจว่าเรามีความสมดุลระหว่างการอนุญาตสำหรับนวัตกรรมทางการเงินและการจัดการความเสี่ยง” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว โดยกฎใหม่นี้จะให้การป้องกันที่เพียงพอสำหรับผู้บริโภค