นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเป็น รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนฯ, รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนฯ ได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัว ในส่วนกรณี “ก.ล.ต.” ร่างกฎเกณฑ์ใหม่ คุมนักลงทุน “คริปโตเคอเรนซี” ต้องมีรายได้ 1 ล้านบาทต่อปี และต้องผ่านการทดสอบความรู้ไม่น้อยกว่า 80% โดยระบุว่า
กรณีที่ ก.ล.ต.จำกัดคุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถลงทุนใน สกุลเงินดิจิทัล ได้ ซึ่งหลายคน แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่างๆ ไปพอสมควร ผมจึงอยากลองพูดในแง่มุม ที่ผมคาดว่าสาเหตุที่ ก.ล.ต. พิจารณาถึงการออกกฎเกณฑ์แบบนี้ เป็นเพราะ ก.ล.ต.มองว่า “สกุลเงินดิจิทัล” นั้น มี ‘ความเสี่ยงสูง’ จึงต้องกำกับดูแลเป็นพิเศษ
ผมเข้าใจและพูดเสมอว่า สกุลเงินดิจิทัลนั้น มีความเสี่ยงสูง แต่อันที่จริงแล้ว มันอาจจะเป็นเพียงเพราะว่า มันเป็นของใหม่ และคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจมัน จึงก่อให้เกิดความ “กังวล” ต่อคนที่ทำหน้าที่กำกับดูแล
แน่นอนว่า หากมองการแกว่งของราคาในระยะยาว … ที่ผ่านมา สกุลเงินดิจิทัล นั้น มีความแกว่งของราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนที่เราคุ้นเคย เช่น หุ้น .. จนหลายๆคน ให้ความเห็นว่า มันใกล้เคียงกับ “การพนัน”
พูดถึงการพนัน ผมคิดว่า ทุกคนน่าจะมองนิยามใกล้เคียงกัน คือการคาดหวังผลตอบแทนที่สูง ในระยะอันสั้น
ผมจึงลองเทียบเคียงความเสี่ยงโดยใช้กรอบรายวัน ของการซื้อขาย “สกุลเงินดิจิทัล” เทียบกับ “ตราสารอนุพันธ์” ที่เป็นการลงทุนในตลาดทุนที่มีมายาวนาน และ ก.ล.ต. เอง ก็กำกับดูแลอยู่เช่นกันครับ
ตราสารอนุพันธ์ เป็นตราสารที่เสี่ยงสูงเพราะสิ่งที่เรียกว่า Leverage …. ผมยกตัวอย่างแบบสั้นๆ คือ เราสามารถ ซื้อตราสารที่อ้างอิงราคาสินทรัพย์ต่างๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนเงินเท่าสินทรัพย์นั้นๆ เช่น Gold Futures .. เราสามารถ ซื้อตราสารที่อ้างอิงราคาทองคำหนัก 10บาท ด้วยการวางเงิน เท่ากับราคาทอง ครึ่งบาทเท่านั้น หากเราเก็งว่าทองจะขึ้น และเข้าไปซื้อ Gold Futures 1สัญญา(เท่ากับทอง10บาท) หากทองราคาขึ้นบาทละ 200 บาท เราสามารถทำกำไรได้ 2,000 บาท โดยวางเงินเพียงประมาณ 12,500บาท คือ สามารถทำกำไรหรือขาดทุนได้ถึง 16% ในขณะที่ราคาสินทรัพย์ คือ ทองคำ ขยับเพียงไม่ถึง 1%
หากวิเคราะห์ว่า ภายในวันเดียว สินทรัพย์แบบไหนที่มีความผันผวน ของกำไรและขาดทุน มากกว่ากัน โดยใช้ข้อมูลรายวัน เฉพาะเดือน กุมภาพันธ์ 64 และคำนวณอัตรา กำไร(ขาดทุน) ที่สูงสุด เท่าที่เป็นไปได้ในแต่ละวัน โดยใช้กรอบแค่ ราคา สูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน เปรียบเทียบระหว่างการซื้อขาย Bitcoin , ตราสารที่อ้างอิงกับ SET50 index และ Gold Futures และได้ตัวเลขดังนี้
1. Bitcoin
กำไร(ขาดทุน)สูงสุดของวันที่ ผันผวนมากสุด = 17.59%
กำไร(ขาดทุน)สูงสุดของวันที่ ผันผวนต่ำสุด = 2.78%
ค่าเฉลี่ย ความผันผวนสูงสุดรายวันตลอดเดือน ก.พ.64 = 7.16%
2. ตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับ SET50 index
กำไร(ขาดทุน)สูงสุดของวันที่ ผันผวนมากสุด = 27.28%
กำไร(ขาดทุน)สูงสุดของวันที่ ผันผวนต่ำสุด = 10.03%
ค่าเฉลี่ย ความผันผวนสูงสุดรายวันตลอดเดือน ก.พ.64 = 17.17%
3. Gold Futures
กำไร(ขาดทุน)สูงสุดของวันที่ ผันผวนมากสุด = 37.10%
กำไร(ขาดทุน)สูงสุดของวันที่ ผันผวนต่ำสุด = 9.47%
ค่าเฉลี่ย ความผันผวนสูงสุดรายวันตลอดเดือน ก.พ.64 = 24.84%
ตัวเลขนี้ อาจจะไม่ได้วิเคราะห์ในทุกแง่มุม แต่ก็สะท้อนให้เห็นโดยคณิตศาสตร์ว่า การลงทุนในตลาดทุนทั่วไป ก็ไม่ได้มีความเสี่ยงที่ต่ำเสมอไป … จริงอยู่ที่ ตราสารอนุพันธ์นั้น จุดประสงค์มีไว้เพื่อการ ป้องกันความเสี่ยง แต่ผมคิดว่า คนที่อยู่ในตลาด ก็ทราบดีว่าคนจำนวนมากก็เข้ามาเพื่อ “เก็งกำไร” เท่านั้น
และ ทาง กลต. เอง นั้น ก็ไม่ได้ควบคุมการเข้าตลาดตราสารอนุพันธ์อย่างเคร่งครัดสักเท่าไหร่ เพราะตอนผมเองรายได้ไม่ถึงปีละ5แสน ก็ยังสามารถเปิดบัญชีตราสารอนุพันธ์ได้
สุดท้าย สิ่งที่ผมพูดเสมอ ว่า ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์แบบใด เส้นแบ่งที่สำคัญระหว่าง การลงทุน กับ การพนัน คือ ความรู้และข้อมูล … การกำกับดูแลในบางครั้ง ไม่ได้จำเป็นต้องทำโดยการ “จำกัด” แต่สามารถทำได้โดยการ “ให้ข้อมูล”
ปล. กรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนฯ จะเชิญ ก.ล.ต.มาชี้แจงและหารือกรณีนี้ ในกลางเดือน มีนาคมนี้ครับ
อ้างอิง : LINK