รู้จักกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยผ่านมุมมองของ ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ในฐานะองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้อย่างสร้างสรรค์ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างปลอดภัย

โดยในบทความนี้จะบอกเล่าเรื่องราวของนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย คุณศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ ผู้ก่อตั้ง Bit Investment ช่องทางการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชน ถึงเส้นทางในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลและมุมมองต่อวงการนี้ในประเทศไทย ทั้งปัจจุบันและในอนาคต

การเดินทางในโลกบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล

หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผมก็ทำงานเกี่ยวกับการดูแลระบบคอมพิวเตอร์และ IT Operation อยู่ถึง 20 ปี ในระหว่างนี้ก็ศึกษาเกี่ยวกับการเงินการลงทุนต่าง ๆ เหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป

ตอนแรกผมก็เหมือนคนอื่น ๆ ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย คิดว่ามันคงอยู่ไม่นาน เพราะเป็นสิ่งที่คนสมมติกันขึ้นมาเอง จนปี 2017 มีเพื่อนมาชวนให้ขุดเหรียญ Zcash หลังจากที่ดูเพื่อนทำ ก็รู้สึกว่าที่บ้านตัวเองก็มีคอมพิวเตอร์ มีการ์ดจอ อุปกรณ์ก็พร้อม ก็เลยลองขุดเหรียญดู

“เมื่อก่อนเราประเมินสิ่งที่เราไม่ได้เข้าใจไปเอง เลยปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป หลังจากนั้นจึงกลับมาตั้งปณิธานว่าจะเปิดใจ ไม่ตัดสินอะไรจนกว่าจะได้เรียนรู้กับมันจริง ๆ การลงทุนก็เหมือนกัน เราแค่ลองเปิดใจ ลองศึกษาดู มันไม่ได้เสียหาย”

หลังจากนั้นก็พยายามศึกษาหาความรู้ต่อ แล้วก็พบว่าสิ่งที่เป็นข้อจำกัดอย่างมากในการศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลก็คือ กำแพงภาษา ภาษาเทคนิคเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกลไกของคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นเราหาข้อมูลในไทยลำบากมาก จึงคิดว่าเราน่าจะทำอะไรที่พอทำได้ จึงตัดสินใจทำ channel ขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและให้ความรู้กันกับคนที่สนใจ ช่วงแรกก็ทำง่าย ๆ เลย มานั่งอ่าน นั่งสรุปเอกสารให้คนฟัง จนช่วงหลังก็พัฒนาขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดบ้าง สัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ บ้าง หรือรีวิวโครงการต่าง ๆ บ้าง เป็นต้น

ได้เรียนรู้อะไรจากตรงนั้นบ้าง

กลายเป็นว่าสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์คือตัวเราเอง ต้องมีวินัยในการหมั่นศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้มาแลกเปลี่ยนกับผู้ชมเสมอ รู้จักวิธีคิดและกระบวนการทางธุรกิจต่าง ๆ ในวงการบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อเราเข้าใจเทคโนโลยีนี้ เราจึงว่ามันมีศักยภาพ และมองว่าในอนาคต หลาย ๆ อย่างมันจะขึ้นมาอยู่บนออนไลน์ แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ เรื่องของความมั่นใจ (Trust) และด้วยความที่พื้นฐานของบล็อกเชนมันคือกระบวนการมาตรฐานที่ไว้วางใจได้ (Trust protocol) อยู่แล้ว ในท้ายที่สุด จึงอาจมองได้ว่าคนก็จะหันมาใช้บล็อกเชน เพราะข้อมูลต่าง ๆ บนบล็อกเชนจะไม่ถูกแก้ไข ไม่ถูกควบคุม และไม่ถูกแทรกแซง เพราะมันถูกออกแบบมาด้วยวัตถุประสงค์แบบนั้นมาตั้งแต่ต้น ทำให้พี่มองว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนี่แหละที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของยุคอนาคต

“ตอนนี้หลาย ๆ คนอาจจะยังกลัวกับทั้งบล็อกเชนและคริปโตเคอเรนซี แต่เราเข้าใจว่ามันคืออะไร การลงทุนไม่ว่าจะในสินทรัพย์ไหนก็มีความเสี่ยงทั้งหมด แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการลงทุนโดยไม่มีความรู้ต่างหาก”

การก้าวเข้ามาเป็นนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

ตอนที่เลขาธิการสมาคมฯ (คุณกานต์นิธิ ทองธนากุล ผู้ก่อตั้ง Bitcoin Addict Thailand) ติดต่อมา เรามองว่าเขาเป็นคนจริงใจ เราเห็นความจริงใจของเขาต่อ community นี้ และความตั้งใจจริงที่จะให้ความรู้กับคนทั่วไป ซึ่งตรงกับความต้องการของเรา คือ การเผยแพร่ความรู้และความตั้งใจจริง และมันก็สะท้อนออกมาผ่านวิสัยทัศน์และพันธกิจของสมาคมฯ ดังนั้นบทบาทหลัก ๆ ของสมาคมฯ เลยเป็นการให้ความรู้กับบุคคลทั่วไป ภาครัฐ และเอกชน เราอยากจะสื่อสารเทคโนโลยีเหล่านี้กับประชาชน

มุมมองต่อบทบาทของเทคโนโลยีบล็อกเชนและสมาคมฯ จากนี้ไปสู่อนาคต

ส่วนตัวพี่มองว่านับจากนี้ ไม่ช้าก็เร็ว สุดท้ายภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ในโลกก็จะถูกโยกย้ายไปโลกดิจิทัลอยู่ดี การมี COVID-19 จึงเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยา จริงอยู่ที่มันทำให้ตอนนี้และอาจจนถึงปีหน้า การหมุนของเม็ดเงินหรือรอบของการทำธุรกรรมอาจจะลดลง แต่เมื่อคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ถูกบังคับให้ปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลเแล้ว ต่อไปพวกเขาก็จะก้าวข้ามผ่าน COVID-19 แล้วเราจะเห็นธุรกรรมบนโลกดิจิทัลที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะ

ประเด็นที่ชวนให้คิดต่อมาคือ เรื่องของต้นทุนในการบริหารจัดการและการทำให้ระบบข้อมูลในองค์กรหนึ่ง ๆ มีความน่าเชื่อถือ ในปัจจุบัน ภาคเอกชนแทบทุกรายมักจะบริหารจัดการด้วยตัวเอง เพราะเขาเชื่อในศักยภาพของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงมันใช้ต้นทุนสูงมาก เช่น การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลระหว่างแผนก หรือการทำการตรวจสอบโดยองค์กรภายนอก (external audit) ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมถึงอีกหลาย ๆ ปัญหาสามารถลดลงได้ด้วยการเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ 

เชื่อว่าในอนาคตเราจะได้เห็นความสามารถในการแข่งขันของคนตัวเล็ก ๆ บนโลกดิจิทัลที่สูงขึ้น เหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นเเล้วในปี 2000 ที่ Startup และ บริษัทเล็ก ๆ outsource งานหลังบ้านหรืองานด้านวิศกรรมข้อมูลจากบริการของ Amazon ภาพนี้จะเกิดขึ้นเหมือนกัน บริษัทเล็ก ๆ เองก็จะสามารถได้รับความเชื่อมั่นได้ เพียงแค่เอาภาระงานเหล่านี้ไปไว้ที่บล็อกเชน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยต้องให้ความรู้และสื่อสารออกไปถึงประชาชน เอกชน และภาครัฐ เพื่อให้การออกกฎระเบียบสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

“ถ้าเมืองไทยขยับตัวได้ก่อน ก็จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้เป็นผู้นำทางด้านนี้แต่ถึงเราไม่ทำ คนทั่วโลกเขาก็ทำกันอยู่ดี และสุดท้ายตลาดจะเป็นคนตอบเราเองว่า สิ่งนี้มันเกิดประโยชน์หรือเปล่า เพราะถ้าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ มันก็จะค่อย ๆ ดึงคนเข้าสู่ระบบเรื่อย ๆ แต่ถ้าไม่ มันก็จะฝ่อไปเอง”

ตอนนี้ต้องยอมรับว่ามีเพียงภาคเศรษฐกิจการเงิน (Financial Sector) เท่านั้นที่เคลื่อนไหว แต่การจะผลักดันภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย จำเป็นต้องอาศัยแรงจากสมาคมฯ ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ไปจนถึงกฎระเบียบที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดระบบนิเวศ (ecosystem) ที่ดีขึ้นมา ภาพที่ไกลขนาดนั้นคงไม่ได้ใช้เวลาแค่ปีหรือสองปี อีกทั้งความพร้อมของคนในประเทศก็สำคัญ มันเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ สร้างระบบนิเวศให้รองรับกับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ตรงนี้เองที่สมาคมฯ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ยังยืนยันแนวคิดที่เคยกล่าวไว้ในงาน TSRI Virtual Forum 2020

ส่วนตัวมองว่า อย่างแรกเลยคือ ต้องเอื้อให้บุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและการเงินเข้ามาเจอกับคนในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้ข้อบทกฎหมายที่พร้อม เมื่อถึงตอนนั้นมันจะเป็นการดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนให้ไหลตามเข้ามา แล้วจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมการเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของไทย

“เรื่องของนวัตกรรมคือเรื่องของแนวคิด ซึ่งไม่ใช่การตกผลึกเอาแนวคิดที่ดีที่สุดหนึ่งหัวข้อออกมา แต่มันคือการเลือกเอาแนวคิดที่ดีที่สุดจากในบรรดาหลาย ๆ แนวคิดที่มีไปใช้”

เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้ว บริการที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นบนโลกการเงินไร้ศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) ก็ดี หรือ โลกสกุลเงินดิจิทัล (Crypto Space) ก็ดี จะต้องเกิดจากการระดมความคิดกัน ซึ่งเมื่อมองดูแล้วก็เห็นจะมีแค่ไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายรองรับเรื่องนี้จริง ๆ

แล้วคนไทยทำอะไรได้บ้างกับเรื่องนี้

มันเลยเป็นเหตุที่มาที่ไปของการมีสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เพราะเราเชื่อว่าคนไทยก็ทำได้ และถ้าใครที่สนใจอยากจะเข้าร่วมและมีความเชื่อเหมือนกันว่าเรื่องนี้จะเป็นอนาคตของโลก ก็อยากจะให้มาร่วมแรงร่วมใจกัน เพราะอย่างไรมันหนีไม่พ้นอยู่แล้วว่า โลกของดิจิทัลกำลังจะกลายเป็นกระแสหลัก อยากให้ทุกคนมาสร้างความร่วมมือ สร้างความตระหนัก กระจายองค์ความรู้ให้บุคคลทั่วไป กระตุ้นให้ภาคเอกชนเห็นประโยชน์ และส่งเสริมให้ภาครัฐออกกฎหมายที่เอื้อต่อการทดลองและการผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา

“การตั้งสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยจึงเป็นก้าวสำคัญหนึ่งที่ยืนยันว่า คนไทยมีความพร้อมและมีความตั้งใจที่จะผลักดันองค์ความรู้และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลให้ก้าวหน้าไปในทุกมิติ”

ถ้าอย่างนั้นนอกจากการเงินแล้ว มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่ควรเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้

จริง ๆ แล้วต้องบอกว่า บล็อกเชนสามารถใช้ได้ทุกวงการ เพียงแต่องค์กรอาจจะแค่ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการบล็อกเชน หรือกำลังเข้าใจผิดว่าบล็อกเชนจะมาช่วยแค่ในเรื่องการตลาด ซึ่งตรงนี้ต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่

ที่บอกว่าไม่รู้ว่าต้องการบล็อกเชน คือ องค์กรอาจชินกับการทำงานแบบเดิมและเข้าใจว่าแบบเดิมมันดีแล้ว แล้วอาศัยการตรวจสอบประเมินงานโดยบุคคลที่ 3 ซึ่งในความเป็นจริงมันสามารถลดทอนลงได้ด้วยการนำบล็อกเชนมาใช้ เพียงแต่ต้องมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนด้วย คือ mindset เค้าต้องเปลี่ยน เพราะมันจะเป็นคนละเรื่องกับกระบวนการเดิม

ประเด็นที่สอง คือไม่อยากให้มองว่าการบอกว่าเอาบล็อกเชนมาใช้เป็นเพียงแค่กลยุทธ์เรียกความสนใจหรือเพื่อแค่ยกระดับแบรนด์ แต่ควรใช้เพราะเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้จริง ๆบล็อกเชนสามารถใช้ได้ทุกวงการที่ต้องการความน่าเชื่อถือ และบล็อกเชนจะแข็งแรงมากหากมีอย่างน้อย 3 องค์กร (identity) ขึ้นไปมาจับมือเป็นพันธมิตรกัน เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลบนบล็อกเชนส่วนตัวร่วมกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะสามารถไว้วางใจและเชื่อถือในระบบฐานข้อมูลนั้นได้โดยไม่ต้องอาศัยการตรวจสอบจากบุคคลภายนอกอีก เพราะแต่ละตัวตนในระบบจะทำการตรวจสอบความถูกต้องซึ่งกันและกันตลอดเวลา

“องค์กรที่ต้องการความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหน ก็สามารถเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ได้หมด”

ยกตัวอย่างเช่น การแชร์ฐานข้อมูลผู้รับบริการเพื่อประโยชน์ในการโอนย้ายเครือข่ายสัญญาณมือถือ แต่จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดในเรื่องนี้อาจไม่ใช่เจ้าของธุรกิจแต่เป็นผู้บริโภค ซึ่งนี่นับเป็นจุดที่ยากของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในภาคธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องค่อย ๆ สื่อสารกันไปว่าการแข่งขันทางธุรกิจควรจะมุ่งเน้นที่จุดไหน เพราะการจำกัดสิทธิลูกค้าอาจไม่ใช่คำตอบของผู้ประกอบการในโลกอนาคต

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Tokenization หรือ Non-fungible token อีก ที่อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบสัญญา การขายพันธบัตร ที่จะค่อย ๆ นำมาเล่าให้ฟัง

“สุดท้ายนี้อยากให้ทุกคนลองเปิดใจ ลองศึกษา ลองรับฟังคนที่มีความเชื่อในเรื่องนี้เพราะพื้นที่ตรงนี้คือโอกาส ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ การงาน หรือการลงทุนหากคุณลองเข้ามาแล้วไม่สนใจ ชีวิตคุณก็ยังเหมือนเดิม แต่หากเข้ามาแล้วสนใจ ชีวิตของคุณอาจจะเปลี่ยนไป เพราะมันยังมีโอกาสอีกมากมายในดินแดนแห่งใหม่แห่งนี้”

สามารถติดตามบทความและข่าวสารเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการรับสมัครสมาชิกสมาคมฯ ได้เร็ว ๆ นี้

Website: https://thaidigitalasset.org/
Facebook: https://www.facebook.com/ThaiDigitalAssetAssociation/

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป

FOLLOW ME

Blockchain Life 2024

Crypto Coffee

Cryptomind Research Talk

CryptOmakase

ข่าวต่อไป