เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา คุณศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ได้เข้าร่วมอภิปรายในเวทีสาธารณะเรื่อง ทิศทางและการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย (TSRI Virtual Forum 2020) เศรษฐกิจกระแสใหม่ โอกาสสุดท้ายด้วยวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ในช่วงที่ 2: ขุมพลังของอุตสาหกรรมดิจิทัลกับบทบาทของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ภายในงานได้มีการพูดคุยถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมดิจิทัล คุณศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ ในฐานะนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยและผู้ร่วมอภิปราย ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารเทคโนโลยีให้ถูกต้องและเข้าใจง่ายแก่บุคคลทั่วไป รวมถึงความเหมาะสมของข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และความท้าทายที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญจากการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนบนอีเธอเรียมอย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน
ความสำคัญด้านบุคคลากร
คุณศุภกฤษฎ์ยังระบุว่า จุดสำคัญที่ประเทศไทยควรให้การสนับสนุนตอนนี้คือ กลุ่มบุคลากรที่มีศักยภาพสูง หรือกลุ่ม Talented นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเสนอแนวคิดให้มีการส่งเสริมการเข้ามาทำงานและการอพยพเข้าของผู้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและบล็อกเชน อาทิ การให้ Residence Visa เป็นต้น โดย ผศ. ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายเสริมว่า โครงการในลักษณะนี้ได้ถูกจัดทำขึ้นมาสักพักแล้ว แต่ยังมีข้อติดขัดในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายประการ
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดิจิทัล คุณศุภกฤษฎ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หากสามารถทำให้เด็กรุ่นใหม่เกิดความสนใจในอาชีพสายวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ได้มากขึ้น ก็อาจเป็นการเพิ่มโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลและยังเป็นการสร้างนักวิจัยและนวัตกรในไทยในระยะยาว
การสร้างสังคมที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม
ผู้ร่วมอภิปรายทุกท่านต่างเห็นตรงกันว่า การสนับสนุนงานวิจัยโดยการตั้งเป้าหมายและกำหนดงบสนับสนุนอย่างเฉพาะเจาะจงของรัฐบาลนั้น ยังไม่ใช่คำตอบของการสร้างนวัตกรรม แต่ควรเน้นไปที่การสร้างระบบนิเวศ (Digital Ecosystem) หรือสังคมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมา และสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดทางความคิดและงานวิจัยโดยไม่ปิดกั้นเฉพาะในกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ยิ่งในยุคที่ผู้คนสามารถเข้าถึงคลังความรู้และแนวคิดวิจัยได้อย่างไร้พรมแดน รัฐบาลควรมีนโยบายที่สนับสนุนต่อแนวคิดดังกล่าวเพื่อยกระดับให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของนวัตกรรม เช่น การแก้กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลภายในประเทศ การตั้งงบกลางสำหรับการทำวิจัย การสนับสนุนให้ผู้มีความสามารถและประสบการณ์จริงจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาธุรกิจและงานวิจัยในไทย การสนุบสนุนการลงทุนในระยะแรกของธุรกิจดิจิทัล การอำนวยความสะดวกและสิทธิประโยชน์ด้านภาษี การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดแบบสหวิทยาการข้ามอุตสาหกรรม และการรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ ทั้งภาคเอกชนและประชาสังคม เพื่อให้รัฐบาลนำไปต่อยอดและแก้ไข เป็นต้น
คุณศุภกฤษฎ์ ยังกล่าวย้ำว่า การที่อุตสาหกรรมดิจิทัลจะพัฒนาต่อไปได้ ต้องอาศัยการเปิดใจและความเข้าใจของภาครัฐเป็นอย่างมาก ด้วยกลุ่มธุรกิจลักษณะนี้ถือว่ายังใหม่มากสำหรับประเทศไทย การใช้ระเบียบข้อบังคับแบบเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไปเสียทั้งหมด ย่อมไม่ใช่แนวทางที่ดีนัก เปรียบเสมือนการเอาวิธีตัดแต่งต้นไม้ใหญ่มาใช้กับต้นกล้าอ่อน และเเม้ว่าการกำกับควบคุมโดยหน่วยงานรัฐยังเป็นสิ่งสำคัญเพื่อรักษากฎหมายและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน แต่ก็ควรมีอิสระมากพอให้เหล่านวัตกรและผู้มีความคิดด้านเทคโนโลยีได้ทดลองและผิดพลาด
การสร้างแรงขับเคลื่อนด้านการวิจัยและนวัตกรรม
ในตอนหนึ่งของการอภิปราย คุณสุทธิชัย หยุ่น ผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยไม่ต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนจากรัฐบาล คุณศุภกฤษฎ์ ระบุว่า ในทุกวันนี้ ไม่เฉพาะแค่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลเท่านั้น ประเด็นทางสังคมและแนวทางในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนเป็นหลัก (Community-based driven) เช่น งาน Blockchain Thailand Genesis ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และโอกาสทางธุรกิจด้านบล็อกเชนในประเทศไทยเพื่อคนไทย คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายยังชี้ให้เห็นว่า ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น เสียงของประชาชนย่อมสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นตามความเห็นของคนที่มีความเป็นประชาธิไตยมากขึ้นด้วย (democratized) แต่อำนาจ (power) การตัดสินใจ และการกำหนดทิศทางยังเป็นของรัฐบาล
วันนี้ อุตสาหกรรมดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในรูปแบบของสื่อบันเทิง สังคมออนไลน์ หรือแม้แต่บริการธุรกรรมการเงิน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจของนายทุนต่างชาติทั้งสิ้น ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและทิศทางต่อไปในอนาคต เพราะเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ย่อมหมายความว่า ธุรกิจและการให้บริการในรูปแบบเดิมอาจไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงของรถม้าและรถยนต์ เทียนไขและไฟฟ้า
ขอขอบคุณรูปภาพจาก depa Thailand
สามารถติดตามบทความและข่าวสารเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการรับสมัครสมาชิกสมาคมฯ ได้เร็ว ๆ นี้
Website: https://thaidigitalasset.org/
Facebook: https://www.facebook.com/ThaiDigitalAssetAssociation/