ก.ล.ต. ลุยหนัก! ออกกฎหมายใหม่ ปราบบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล – ลุยบล็อกแพลตฟอร์มต่างชาติฟอกเงิน

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) และพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ) เพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างความปลอดภัยในการทำธุรกรรมด้านการเงินของประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะมีผลใช้บังคับเมื่อเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาในลำดับต่อไป

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ร่วมกับสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ยกระดับการสกัดกั้นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2567 และเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 ได้ร่วมกันจัดทำมาตรการและออกมาตรฐานการป้องกันและจัดการบัญชีม้าของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Industry Standard ที่เทียงเคียงได้กับการจัดการบัญชีม้าของภาคการธนาคาร 

การปรับปรุง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และ พ.ร.ก. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ในครั้งนี้ จะทำให้การดำเนินมาตรการสกัดกั้นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเพิ่มความชัดเจนของกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยกระดับมาตรการป้องกันการใช้แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศเป็นช่องทางฟอกเงิน โดยสามารถดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศที่มีพฤติกรรมการชักชวนหรือโฆษณาการให้บริการ (solicit) กับผู้ลงทุนในประเทศไทย ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนเพิ่มความเข้มข้นและขยายความร่วมมือในการจัดการปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีระหว่างภาคธนาคาร ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบด้วย

(1) มาตรการจัดการบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล 
    – กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การคัดกรอง และระงับธุรกรรมหรือบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงอยู่ภายใต้กลไกการคืนเงินแก่ผู้เสียหายซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายได้รับเงินคืนรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) ที่เกี่ยวข้องอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (blacklist) และห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีรายชื่อหรือกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว
    – กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และโทรคมนาคม ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีความรับผิดชอบร่วมในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหากมิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด 
    – กำหนดความผิดสำหรับเจ้าของบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้รับจ้างเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และเปิดบัญชีกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะได้รับโทษในระดับเดียวกัน

(2) มาตรการป้องกันการใช้แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศเป็นช่องทางฟอกเงิน 
    – กำหนดมาตรการยับยั้งและป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Peer-to-peer (P2P) ในต่างประเทศ ซึ่งเข้าข่ายเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่น ๆ ในต่างประเทศ เข้ามาให้บริการกับผู้ลงทุนในประเทศ 
    – กำหนดให้กระทรวงดีอี สามารถดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศที่มีพฤติกรรมการชักชวนหรือโฆษณาการให้บริการ (solicit) กับผู้ลงทุนในประเทศไทย ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎหมายใหม่จะช่วยเสริมให้การบังคับใช้กฎหมายกับแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศในปัจจุบันของ ก.ล.ต. มีประสิทธิภาพเข้มข้นขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นการ solicit บุคคลในประเทศไทยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การมีทางเลือกชำระเงินเป็นสกุลเงินบาทแก่ผู้ลงทุน การรับชำระเงินผ่านบัญชีเงินฝากในประเทศไทย หรือการใช้ภาษาไทยบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เป็นต้น 

“ก.ล.ต. จะร่วมมือกับกระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยว รวมทั้ง TDO และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในการดำเนินการตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นช่องทางในการฟอกเงิน และลดความเสียหายของประชาชนจากอาชญากรรมทางออนไลน์” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป

FOLLOW ME

Blockchain Life 2024

Crypto Coffee

Cryptomind Research Talk

CryptOmakase

ข่าวต่อไป