เตือนภัย! แฮกเกอร์ใช้ “Address Poisoning” หลอกโอน Bitcoin – พบแล้วกว่า 48,000 ครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของ Bitcoin ออกมาเตือนว่า การโจมตีแบบ “address poining” กำลังเพิ่มมากขึ้นบนบล็อกเชน เนื่องจากค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่ต่ำทำให้ผู้ก่อภัยคุกคามสามารถโจมตีที่อยู่จำนวนมากด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ 

Address Poisoning คืออะไร?

การโจมตีแบบนี้คือ การที่แฮกเกอร์ส่งธุรกรรมเล็ก ๆ ไปยังเป้าหมาย โดยใช้กระเป๋าที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งมีอักขระตัวแรกและตัวสุดท้ายของที่อยู่ (address) เหมือนกับกระเป๋าของเหยื่อ หรือกระเป๋าที่เหยื่อเพิ่งเคยทำธุรกรรมด้วย

เมื่อเหยื่อต้องการโอนเงินอีกครั้ง มีโอกาสสูงที่เหยื่อจะคัดลอกที่อยู่ผิด — โดยเผลอไปใช้ที่อยู่ของแฮกเกอร์จากประวัติการทำธุรกรรม และโอนเงินให้แฮกเกอร์โดยไม่รู้ตัว

Jameson Lopp วิเคราะห์พบการโจมตีแล้วกว่า 48,000 ครั้ง

Jameson Lopp ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของบริษัทเก็บรักษา Bitcoin ชื่อ Casa ได้วิเคราะห์การโจมตีแบบนี้ทั้งบนบล็อกเชน Bitcoin และพบว่ามีการโจมตีต้องสงสัยกว่า 48,000 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2023

เขาตรวจสอบธุรกรรมที่มีอินพุตหนึ่งและเอาต์พุตหนึ่ง ซึ่งมีที่อยู่สองอันที่ขึ้นต้นและลงท้ายด้วยอักขระเหมือนกัน — สิ่งที่บ่งชี้ถึงการพยายาม “ล่อ” ผู้ใช้ให้โอนผิด

Lopp พบอย่างน้อยหนึ่งกรณีที่มีแนวโน้มว่าเหยื่อตกเป็นเหยื่อของ address poisoning จริง ๆ — โดยผู้ใช้รายหนึ่งโอน 0.1 BTC ไปยังที่อยู่ของแฮกเกอร์ จากนั้น 12 ชั่วโมงต่อมา จึงโอนอีก 0.1 BTC ไปยังที่อยู่อื่นซึ่งน่าจะเป็นผู้รับที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก

“การถูกหลอกแค่ครั้งเดียว อาจทำให้แฮกเกอร์ได้ผลตอบแทนสูงมาก เพราะกระเป๋าของเหยื่อในตอนนั้นถือ Bitcoin เกือบ 8 BTC เลยทีเดียว” Lopp อธิบาย

ค่าธรรมเนียมต่ำ ทำให้แฮกเกอร์ปล่อยโจมตีได้รัว ๆ

ถึงแม้โอกาสสำเร็จของแต่ละการโจมตีจะต่ำ แต่ค่าธรรมเนียม Bitcoin ที่ต่ำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024 เป็นต้นมา ช่วยให้แฮกเกอร์สามารถกระจายการโจมตีได้จำนวนมากในเวลาสั้น ๆ

Lopp อธิบายว่า “การโจมตีแบบนี้เกิดขึ้นเพราะตอนนี้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่ำมาก ถ้าเรายังอยู่ในสภาวะค่าธรรมเนียมสูง ผมคิดว่าแฮกเกอร์จะไม่กล้าเสี่ยงมากเท่านี้ เว้นแต่พวกเขาหาวิธีเพิ่มโอกาสสำเร็จได้”

การโจมตีลักษณะนี้ไม่ได้จำกัดแค่ Bitcoin – ในเดือนพฤษภาคม 2024 ผู้ใช้ Ethereum รายหนึ่งถูกขโมยเงินไปถึง 71 ล้านดอลลาร์ ผ่านกลยุทธ์เดียวกัน (แม้ภายหลังจะเจรจาเรียกคืนได้)

วิธีคล้าย ๆ กันยังถูกใช้ในกรณีการแฮกเว็บเทรดคริปโต DMM Bitcoin ของญี่ปุ่นอีกด้วย

Lopp เสนอแนวทางว่า ซอฟต์แวร์กระเป๋าเงินควรช่วยป้องกันความเสี่ยงจาก address poisoning โดยแสดงการแจ้งเตือนเมื่อพบว่ามีที่อยู่ที่ดู “คล้าย” กับของเดิม

“กระเป๋าควรตรวจจับว่า ‘เฮ้ ที่อยู่นี้คล้ายที่คุณเคยใช้นะ’ แล้วขึ้นคำเตือนใหญ่ ๆ เลยว่า อย่าโอนเงิน จนกว่าจะตรวจสอบให้แน่ใจ” เขากล่าว

อ้างอิง : theblock.co

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป

FOLLOW ME

Blockchain Life 2024

Crypto Coffee

Cryptomind Research Talk

CryptOmakase

ข่าวต่อไป