ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งแรกนับตั้งแต่ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง คณะกรรมการตลาดเปิดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ช่วง 4.25% – 4.50% พร้อมประกาศชะลอการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening)
“ตัวชี้วัดล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง” ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ “อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ และตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง”
เฟดยังระบุว่า “ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น” และคณะกรรมการกำลังเฝ้าระวังความเสี่ยงทั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการควบคุมเงินเฟ้อ
เฟดเตรียมชะลอการลดงบดุล เริ่มเมษายนนี้
ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เฟดจะลดอัตราการปล่อยพันธบัตรรัฐบาลออกจากงบดุล โดยปรับลดวงเงินไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จาก 25,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน เหลือ 5,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่วงเงินไถ่ถอนตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) ยังคงอยู่ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน
เฟดยังคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสองครั้งภายในปีนี้ โดยประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) เตรียมแถลงข่าวในเวลา 14:30 น. ตามเวลาสหรัฐฯ
ตลาดเก็งเฟดอาจลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น
จากข้อมูลของ CME FedWatch ซึ่งติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยผ่านฟิวเจอร์ส พบว่ามีโอกาส 16% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม และความเป็นไปได้จะเพิ่มขึ้นมากขึ้นในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยง เช่น คริปโตเคอร์เรนซี เริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้ง
“นักลงทุน Polymarket คาดการณ์ว่าเฟดจะยุติมาตรการคุมเข้มสภาพคล่องก่อนเดือนพฤษภาคม และตลาดกำลังรอคอยการกลับมาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” Nic Puckrin นักวิเคราะห์การเงินและผู้ก่อตั้ง The Coin Bureau กล่าว “แต่พวกเขาอาจต้องผิดหวัง เพราะเฟดมักจะไม่อัดฉีดเงินเข้าระบบจนกว่าอัตราดอกเบี้ยจะใกล้ศูนย์”
Puckrin เสริมว่า หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อาจมาจากจีนหรือยุโรปมากกว่าสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ จีนได้ออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 300,000 ล้านหยวน เพื่อกระตุ้นการบริโภค
นาธาน ค็อกซ์ (Nathan Cox) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Two Prime Digital Assets ระบุว่า “แม้ว่าทรัมป์จะกดดันให้เฟดลดดอกเบี้ย แต่พาวเวลล์ยังคงยืนกรานที่จะตัดสินใจตามข้อมูลเศรษฐกิจ”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทรัมป์ยังคงเดินหน้ากดดันเศรษฐกิจผ่านนโยบายการค้า โดยในขณะนี้สหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าจาก แคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ และ 10% สำหรับพลังงานและโพแทช รวมถึงภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าทุกประเภทจากจีน
นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ทำเนียบขาวเตรียมประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าส่วนใหญ่เพิ่มเติมในเดือนหน้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีก
อ้างอิง : theblock.co