สรุปประเด็นหลักจากงาน Gulf Binance: Digital Asset Forum “เปิดใจ พัฒนา เรียนรู้ศักยภาพ”

“ครั้งแรกที่ผมได้รู้จักคริปโต” นายริชาร์ด เทง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไบแนนซ์ กล่าวในตอนหนึ่งถึงประสบการณ์การเข้าวงการสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งแรกผ่านงานประชุมหนึ่งในปี 2560 “ผมคิดว่า สินทรัพย์ดิจิทัลนี่แหละ ที่จะกลายเป็นอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต”

ในงาน “Gulf Binance: Digital Asset Forum” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf Binance) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ไบแนนซ์ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ จำกัด และ บริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด ได้รวมตัวผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัลจากทั้งในเครือไบแนนซ์และจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเติบโตของเทคโนโลยีเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Web 3 และบล็อกเชน ปัจจัยการเปิดรับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ศักยภาพของเทคโนโลยี รวมไปถึงความสำคัญของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนของอุตสาหกรรม โดยภายในงานมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

เทคระยะตั้งไข่ กับศักยภาพไร้ขีดจำกัด

เช่นเดียวกับวงจรชีวิตของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่นๆ การเติบโตของเทคโนโลยีเบื้องหลังอย่าง Web 3 และบล็อกเชนที่เรียกได้ว่ายังอยู่ในระยะเริ่มแรกนั้น ยังมีการใช้งานที่จำกัด และอาจไม่เต็มศักยภาพที่เทคโนโลยีมี โดยนายสัญชัย ปอปลี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัดได้เปรียบเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันกับช่วงการบูมของอินเทอร์เน็ตในยุคแรก ที่การใช้งานมีเพียงการเขียนเว็บโดยผู้พัฒนา และการเข้าชมเว็บโดยคนทั่วไป ก่อนที่หลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจต่างๆ ผู้ให้บริการเครือข่าย นักพัฒนา หรือแม้แต่ผู้ใช้งานเอง จะเริ่มเข้าใจศักยภาพ และร่วมกันเพิ่มประโยชน์การใช้งาน จนสามารถต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจ หรือวิถีการสื่อสารและสร้างคอนเทนต์ในแบบใหม่ๆ ที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดความร่วมมือระหว่างกัลฟ์ ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานในหลากหลายด้านของไทย กับไบแนนซ์ ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Web 3 และบล็อกเชน เจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลก ที่พร้อมวางรากฐานอันแข็งแกร่งรองรับการต่อยอดสู่ธุรกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อไป

ปัจจัยสู่การเปิดใจรับสินทรัพย์ดิจิทัล

ผลการศึกษา Global Crypto Adoption Index ในปี 2566 โดย Chainalysis ระบุว่า ประเทศไทยมีตัวเลขการใช้งานสกุลเงินคริปโตสูงเป็นอันดับที่ 10 ของโลก พร้อมอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอันดับเช่นกัน โดยผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญภายในงานต่างลงความเห็นสอดคล้องกันในปัจจัยร่วมที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการใช้งาน เช่น

·  ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล (IT Savviness and Digital Penetration) โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยมักติดอันดับต้นๆ ในการจัดอันดับผู้ใช้งานบนหลากหลายแพลตฟอร์มโซเชียลอยู่เสมอ ซึ่ง      นายนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด ได้วิเคราะห์ว่า ความแพร่หลายและความกระตือรือร้นในการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยเป็นส่วนสำคัญในการกระจายข่าวสาร และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัล รวมไปถึงความพร้อมในการเรียนรู้การใช้งานแพลตฟอร์มที่ให้บริการเกี่ยวกับการเงินต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำธุรกรรมออนไลน์ หรือธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในระดับสัดส่วนของผู้ใช้งานเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศกลับพบว่า ในประเทศส่วนใหญ่ รวมถึงไทย กลับมีจำนวนผู้ใช้ยังไม่แพร่หลาย โดยในไทยมีราว 5 – 10% ที่เป็นผู้ใช้งานหรือครอบครองสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ ช่วงอายุของผู้ใช้งานยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี โดยในตัวอย่างจากอินโดนีเซีย นายยูโดโนะ ราวิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tokocrypto กล่าวว่า จากข้อสังเกต ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในอินโดนีเซียได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่มีความคุ้นเคยและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว 

·  การเข้าถึงบริการด้านการเงิน (Financial Inclusion) ในขณะเดียวกัน การมองหาแพลตฟอร์มที่มีหลักการกระจายอำนาจ (Decentralisation) ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดผู้ใช้งานในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและธุรกรรมทางการเงินจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ โดย นายวิชัล ซาชีนดรัน หัวหน้าฝ่ายตลาดภูมิภาคของไบแนนซ์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า การเข้าถึงบริการด้านการเงิน นอกจากจะหมายถึงกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้แล้ว ยังรวมถึงผู้ใช้งานที่ต้องการก้าวข้ามข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมในการทำธุรกรรม เช่น เวลาทำการของสถาบันการเงินในหลายๆ ประเทศ ซึ่งการดำเนินงานแบบ 24 ชั่วโมงของแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลทำให้ผู้ใช้งานมีความคล่องตัวมากขึ้น หรือความโปร่งใสในการโอนย้ายสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถสืบหาที่มาได้ตลอดกระบวนการ ต่างจากสินทรัพย์แบบเดิมหรือสกุลเงินเฟียต เป็นต้น

·  การใช้งานในรูปแบบหลากหลายบนโลกจริง (Real-World Use Cases) แม้ปัจจุบัน การใช้งานเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลอาจยังมีจำกัดด้วยจำนวนผู้ใช้งาน ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการกำกับดูแลต่างๆ แต่เทคโนโลยี Web 3 และบล็อกเชนนั้น มีศักยภาพเหนือไปกว่าการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการลงทุน โดยนางสาวเรเชล คอนแลน ประธานบริหารฝ่ายการตลาดของไบแนนซ์ ได้จับเทรนด์ทิศทางที่น่าสนใจในตลาดและอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมผู้บริโภคต่างๆ ตั้งแต่แบรนด์กีฬา แบรนด์ผลิตภัณฑ์ลักชูรี หรือกลุ่มผู้พัฒนาเกมส์ที่มีพื้นที่และคอมมูนิตี้บนโลกดิจิทัลอยู่แล้ว โดยก่อให้เกิดพื้นที่การสื่อสารและการทำงานร่วมกันใหม่ๆ ระหว่างแบรนด์กันเองหรือกับผู้ใช้งาน อย่างเมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือการสร้างคอนเทนต์และงานศิลปะดิจิทัลอย่าง NFT นอกจากนี้ หลักการกระจายอำนาจของเทคโนโลยี Web 3 และบล็อกเชนยังเป็นส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา อย่างการเรียกคืนความเป็นเจ้าของข้อมูล (Data Ownership) ของผู้ใช้งาน ผ่านเทรนด์ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาอย่าง DeSOC (Decentralised Social Media) หรือแพลตฟอร์มโซเชียลแบบกระจายอำนาจ ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บและเป็นเจ้าของข้อมูลที่ตนเองสื่อสารบนโลกออนไลน์ได้เอง โดยไม่ผ่านบริษัทแพลตฟอร์มรายใหญ่ เป็นต้น

นอกจากการที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรมได้แล้ว เทคโนโลยีอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในกระแสการใช้งานหลักอย่าง AI ยังเป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังการทำงานของแพลตฟอร์มอีกด้วย โดยไบแนนซ์เองก็มีการใช้ AI เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานในหลายส่วน เช่น งานบริการลูกค้า ด้วย AI chat bot, การเขียน code programmaing ด้วย AI และ การใช้ AI tools ต่างๆเช่น Chat GPT ในหลายหน่วยงาน

เรียนรู้ ปูพื้นฐานสู่การต่อยอดพัฒนา

เทคโนโลยีจะได้รับการพัฒนาไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในระบบนิเวศนั้น โดยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของเทคโนโลยี และความต้องการของแต่ละภาคส่วนจะเป็นตัวกำหนดภาพการพัฒนา การใช้งาน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น โดยคุณนิรันดร์ได้กล่าวถึงความสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าในพื้นฐานร่วมกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งาน (User) และพันธมิตร (Partner) ที่อาจต้องหมั่นทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ต่างๆ ในตลาด และแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งในแง่ธุรกิจและเทคโนโลยี เช่น สถานการณ์บิตคอยน์ที่มีแนวโน้มมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นก่อนถึงรอบปรากฎการณ์ Halving ในปีนี้ โดยสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด หนึ่งในสถาบันการเงินชั้นนำของโลกคาดการณ์ว่า จะมีมูลค่าถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าจับตามองถึงนัยยะ สาเหตุและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในตลาดหลังจากนี้ 

อีกหนึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะขาดไปไม่ได้ คือผู้กำกับดูแลและผู้กำหนดนโยบาย (Regulators and Policy Makers) ซึ่งนายยูโดโนะ ราวิสได้กล่าวว่านวัตกรรม (Innovation และกฎระเบียบและการกำกับดูแล (Regulation) ไม่ควรเป็นคู่ตรงข้ามกัน เทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัลการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นส่วนธุรกิจผู้พัฒนาแพลตฟอร์มควรมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องกับผู้กำกับดูแลจากภาครัฐ เพื่ออัพเดทเกี่ยวกับสถานการณ์และทิศทางของตลาดและเทคโนโลยี และหารือวิธีการกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมต่อไป

ตั้งเป้าผู้นำตลาดไทย

ในช่วงแรกเริ่มของเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ความผันผวนในตลาดทำให้เราได้เห็นสถานการณ์ความเชื่อมั่นที่ลดลงในตลาด และการถอนตัวจากผู้เล่นหลายราย โดยคุณนิรันดร์กล่าวว่า เป้าหมายหลักสำคัญของกัลฟ์ ไบแนนซ์คือ การนำนวัตกรรมระดับโลกมาสู่ประเทศไทย ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ด้วยระบบนิเวศและเครือข่ายนวัตกรรมระดับโลกจากไบแนนซ์ พร้อมต่อยอดการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้และวิจัย โปรแกรมการสนับสนุนสตาร์ทอัพ รวมไปถึงการจับมือกับกัลฟ์ ซึ่งเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำให้กับประเทศไทยในหลายๆ ด้าน เพื่อสร้างแต้มต่อสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และอุตสาหกรรมดิจิทัลให้กับคนไทย โดยปัจจุบัน แพลตฟอร์มของกัลฟ์ ไบแนนซ์ มีจำนวนเหรียญดิจิทัลให้เลือกลงทุนกว่า 120 เหรียญ บนโครงสร้างที่ผ่านการทดสอบอย่างเข้มข้น พร้อมฟีเจอร์ที่แตกต่าง เช่น Price Alert ที่คอยเตือนผู้ใช้งานถึงความเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ หรือ Portfolio Tracking ที่ให้ผู้ใช้งานได้ติดตามภาพรวมในพอร์ตของตน เป็นต้น นอกจากนี้ กัลฟ์ ไบแนนซ์ยังให้ความสำคัญในการสร้างและพัฒนาแพลตฟอร์มการใช้งานร่วมกับชุมชนผู้สนใจ และทำงานร่วมกับภาครัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้แน่ใจว่า กัลฟ์ ไบแนนซ์จะสามารถยึดมั่นตามเป้าหมายในการเป็นผู้นำแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยได้อย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับไบแนนซ์ ทีเอช (Binance TH)

บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf Binance) คือ บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ไบแนนซ์ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายในเครือของไบแนนซ์ และบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด โดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลังของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ก่อนที่จะเปิดให้บริการแพลตฟอร์ม Binance TH by Gulf Binance (“Binance TH”) ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน โดย Binance TH มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภูมิทัศน์คริปโตในประเทศไทย ด้วยการสร้างการยอมรับและสนับสนุนให้เกิดการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล เน้นย้ำในการดูแลด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ เสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัล และการดำเนินงานภายใต้กฏระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชม เว็บไซต์ https://www.binance.th/th

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป

FOLLOW ME

Blockchain Life 2024

Crypto Coffee

Cryptomind Research Talk

CryptOmakase

ข่าวต่อไป