เงินดิจิทัล 10,000 บาท จ่อเพิ่มเงื่อนไขใหม่ ห้ามใช้จ่ายเกี่ยวกับ “บริการ” อาจหมดสิทธิร่วมโครงการ

นโยบาย เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลใกล้ได้ข้อสรุปเต็มทีแล้ว ภายหลังคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เตรียมเสนอข้อสรุปโครงการเข้ามาให้กับคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบภายในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

ซึ่งล่าสุดรายงานจากฐานเศรษฐกิจ ระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้หารือรายละเอียดในหลายด้านจนได้ข้อสรุปเบื้องต้น และเตรียมนำมาเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาเห็นชอบ ก่อนจะเริ่มต้นดำเนินโครงการต่อไปให้ได้ตามเป้าหมาย โดยรายละเอียดที่เสนอเข้ามานั้น ได้ผ่านการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานเป็นที่เรียบร้อย

หนึ่งในรายละเอียดของโครงการนั้นมีการเสนอเงื่อนไขการใช้เงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะกำหนดว่า ผู้ที่ได้รับเงินดิจิทัลสามารถนำเงินดิจิทัลไปใช้ได้กับสินค้าตามที่ระบุไว้เท่านั้น โดยที่ไม่สามารถนำมาใช้กับ “บริการ” ต่าง ๆ ได้ ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ต่าง ๆ ไม่สามารถร่วมในโครงการ และใช้เงินดิจิทัลได้

สำหรับบริการต่าง ๆ อาจเข้าข่ายว่าไม่สามารถนำเงินดิจิทัลมาใช้ได้ นัั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอิสระ มีตัวอย่างเช่น ร้านตัดผม , ร้านเสริมสวย , ร้านนวด , สปา , ร้านซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ , และบริการล้างรถ เป็นต้น 

ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะสามารถใช้เงินดิจิทัลได้นั้น รัฐบาลกำหนดรายละเอียดไว้เบื้องต้นว่า จะเน้นไปที่สินค้าในกลุ่มที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก 

ขณะที่การกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ มีความเป็นไปได้ว่า ร้ฐบาลจะปรับปรุงเงื่อนไขเกี่ยวกับรัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล จากเดิมที่รัฐบาลกำหนดแนวทางเอาไว้ว่าให้ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่ และทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เกิดเงินหมุนเวียนลงไปนั้น จะปรับเงื่อนไขเป็นสามารถใช้จ่ายในระดับอำเภอ ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านแทน

นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอทางเลือกอื่น ๆ ในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปแนวทางการแจกเงินดิจิทัล ณ ปัจจุบัน โดยยืนยันว่า มีด้วยกัน 4 ทางเลือก ดังนี้

  1. ให้แบบถ้วนหน้า ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน
  2. ให้เฉพาะกลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน
  3. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน จำนวน 43 ล้านคน
  4. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จำนวน 49 ล้านคน

อ้างอิง : thansettakij.com
ภาพ bangkokbiznews.com

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป