นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปในหลายประเด็น แต่ในบางประเด็นยังมีข้อขัดแย้ง ซึ่งจะเสนอให้ที่คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน และจะเคาะรายละเอียดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
อนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่ามีความเห็นแตกต่างกันว่าจะแจกเงินให้กับทุกคนหรือเฉพาะกลุ่ม และถ้าหากแจกเงินเฉพาะกลุ่ม ก็ยังเห็นต่างกันอีกว่าจะตัดคนกลุ่มใดออก ซึ่งมี 3 ระดับดังนี้
- ตัดคนที่มีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และ/หรือ มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท
- ตัดคนที่มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และ/หรือ มีเงินฝากเกิน 100,000 บาท
- ตัดทุกคนที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้
หากเลือกตัวเลือกแรก จะเหลือผู้ได้สิทธิเงินดิจิทัล 49 ล้านคน ตัดเลือกที่ 2 จะเหลือ 43 ล้านคน และตัวเลือกสุดท้ายเหลือ 15-16 ล้านคน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า เมื่อมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัลถึงเพียงนี้ ก็จะต้องเป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการเงินดิจิทัลชุดใหญ่ตัดสินใจ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งอนุกรรมการจะรวบรวมและนำเสนอแนวทางให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาในสัปดาห์ถัดไป
ส่วนแหล่งเงินที่จะนำมาแจกนั้น นายจุลพันธ์ ไม่ได้เปิดเผยแน่ชัดว่าจะมาจากแหล่งใด แต่กล่าวว่าฝ่ายนโยบายคิดไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก
นายจุลพันธ์ ที่เป็น สส. เขต 5 จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยด้วยนั้น กล่าวต่อไปว่า ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินถึง 400,000 ล้านบาท ก็อาจต้องตั้งงบผูกพัน 4 ปี เบิกจ่ายปีละ 100,000 ล้านบาท เท่ากับว่าร้านค้าก็จะขึ้นเงินได้ช้าตามไปด้วย
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอาจกู้เงินจากธนาคารออมสินมาใช้ แต่หลังจากมีการพิจารณาถึงข้อกฎหมายก็พบว่าตัวเลือกนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะมีกฎหมายที่ว่าด้วยธนาคารออมสินระบุชัดเจนที่ไม่อนุญาตให้รัฐกู้เงินไปใช้ทำโครงการเช่นนี้
อ้างอิง : sanook.com
ภาพ thansettakij.com