“สว.” แนะรัฐบาล ถอย นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย หวั่นกระทบเศรษฐกิจระยะยาว

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 ต.ค. 2566 ในการประชุมวุฒิสภา มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระ ได้เปิดให้สมาชิกหารือ มี สว. หลายคนทักท้วงถึงการเดินหน้าทำโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและประชาชนระยะยาว พร้อมเสนอแนะให้ถอยโครงการดังกล่าว

โดยนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. หารือว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล ตนมองว่าเป็นโครงการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 162 เนื่องจากไม่ชี้แจงและแถลงแหล่งที่มาของเงินทุนที่จะนำมาใช้ รวมถึงสุ่มเสี่ยงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของรัฐ

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ส่อขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน ที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจระยะเยาว อย่างไรก็ดี ตนทราบว่ารัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินรับโครงการดังกล่าวไปดำเนินการแทน โดยใช้เงินของธนาคาร รวม 5.6 แสนล้านบาท และรัฐบาลจะชดเชยให้ภายหลัง ทั้งนี้ ตนพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารออมสิน แล้วมองว่า การดำเนินการดังกล่าวจะขัดกับกฎหมายของธนาคาร

“ผมขอให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ หากจะทำเพราะได้หาเสียงไว้ ควรพิจารณาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเงินการคลัง หากทำผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ แม้จะบอกว่าประชาชนต้องรับผิดชอบ แต่ผมมองว่าผู้รับผิดชอบคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธานวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมถึง ครม. ผมขอให้ดูโครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง ขอให้นำความเห็นผู้ที่คัดค้านไปปรับปรุงแก้ไข” นายเฉลิมชัย กล่าว

ด้านนายถวิล เปลี่ยนสี สว. หารือว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเป็นนโยบายที่เป็นปัญหาและไม่ถูกต้องด้วยกาละเทศะ เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องกระตุ้นมากนัก ดังนั้น ตนมองว่าควรเน้นเสถียรภาพมากกว่าการสร้างภาระหนี้สินให้รัฐในอนาคต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยท้วงติง ตนมองว่ารัฐบาลควรรับฟังเหตุผล

“รัฐบาลยืนยันทำโครงการ โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชน ผมว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง หากสิ่งใดเป็นพิษต้องไม่ตามใจประชาชน นายกฯ เหมือนหมอที่รักษาไข้ราษฎร หมอให้ยาพิษเคลือบน้ำผึ้งกับคนไข้ไม่ได้ ประชาชนย่อมไม่รู้ถึงพิษที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ ผมเสนอแนะว่ารัฐบาลต้องกล้าหาญและยอมรับสารภาพความจริงกับประชาชนว่าไม่ทำโครงการนี้ ความมุ่งมั่นทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องกล้าหาญ แต่เป็นเรื่องดื้อรั้นไม่มีเหตุผล ดังนั้นยังมีเวลาจะทบทวน ผมหวังนายกฯ จะรับฟังเสียงท้วงติง” นายถวิล กล่าว

ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สว. หารือว่า สินทรัพย์หรือเงินดิจิทัลที่ใช้ตลาดเก็งกำไรทั่วโลกเป็นความเสี่ยง หากรัฐบาลจะเข้าไปรับประกันมูลค่าและนำเข้าสู่การซื้อขายเงินคริปโต เพราะมีกรณีของบิตคอยน์ ที่พบว่ามีมูลค่าขึ้นสูงสุด 6.9 หมื่นเหรียญสหรัฐ แต่วันนี้เหลือ 2.7 หมื่นเหรียญสหรัฐ และบิตคอยน์นั้นเชื่อว่าอยู่ในกกลุ่มของฟอกเงินของนักพนัน ผู้ค้าของเถื่อน หลบเลี่ยงภาษีทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรมองแค่ผลบวกอย่างเดียว และไม่ควรเอาประเทศไปเสี่ยงในวงการดังกล่าว

“ผมไม่เห็นด้วยที่จะแจกเงินแบบเหวี่ยงแหทุกกลุ่ม เพราะเป็นนโยบายที่ไม่สร้างความเป็นธรรม และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ดังนั้น รัฐบาลควรจะทำ คือ เน้นการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก รวมถึงเน้นการลงทุนภาครัฐ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นโยบายแจกเงินนั้นเป็นความเลื่อนลอยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นความคาดหวังเกินจริง การใช้จ่ายเงินของรัฐ แจก หรือโอน จะมีมูลค่าต่ำกว่าตัวคูณในการลงทุนของภาครัฐ ดังนั้น ผมขอให้รัฐบาลถอยโครงการนี้และนำเงินไปใช้ในทางที่เหมาะสมของประเทศต่อไป” นพ.เจตน์ กล่าว

อ้างอิง : khaosod
ภาพ bangkokbiznews

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป