อาจารย์ตั๊ม พิริยะ แนะปัญหาของ “นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทกับ Blockchain” ของพรรคเพื่อไทย

หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่พูดถึงกันในโลกโซเชียลกันอย่างแพร่หลาย คงหนีไม่พ้น นโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งล่าสุด อาจารย์พิริยะ สัมพันธารักษ์ หรือ อาจารย์ตั้ม จาก Chalokedotcom  ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ต่อการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

“การนำเอาบล็อกเชนมาใช้กับระบบการสร้าง proof แบบอื่นจึงเป็นการหลงประเด็นโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะ proof of stake ที่เป็นการนำเอาความมั่นคงของบัญชีมาผูกกับเม็ดเงินที่คนบางกลุ่มสามารถเสกได้ ในขณะที่คนกลุ่มอื่น ๆ ทำไม่ได้ หรือ proof of authority ซึ่งเป็นการตบหน้าการออกแบบระบบโดยสิ้นเชิง แต่เราจะไม่ออกไปเรื่องดังกล่าวในตอนนี้” อาจารย์ตั๊ม กล่าว

ทำไมต้อง Blockchain

อาจารย์ตั๊ม กล่าวว่า “คำถามต่อมาคือการใช้ Blockchain สามารถป้องกันการแก้ไขข้อมูลและการใช้เงินซ้ำซ้อนได้จริงหรือ ? การจะตอบข้อนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงธรรมชาติของ Blockchain ที่พูดถึงด้วย ว่าเป็น Blockchain แบบไหน ระบบอย่าง Bitcoin นั้น เปิดให้ใครพยายามโจมตี พยายามแก้ไขก็ได้ แต่ผู้โจมตีจำเป็นต้องมีกำลังการขุดมากกว่ากำลังการขุดของทั้งโลกรวมกัน แต่สำหรับ Blockchain อื่น ๆ ที่มี PoW น้อยกว่ามาก ๆ การแก้ไขข้อมูลย้อนหลังไม่ใช่เรื่องยาก”

“มองในมุมรัฐบาล รัฐน่าจะใช้บล็อกเชนแบบ PoA ซึ่งหมายถึงระบบรวมศูนย์โดยสมบูรณ์ เป็นเพียงการเล่นละครกระจายศูนย์ปาหี่เท่านั้น เมื่อรวมศูนย์แล้ว จึงมีความเสี่ยงที่ศูนย์กลางจะถูกเจาะเข้าควบคุมระบบได้ไม่ได้ต่างอะไรกับระบบฐานข้อมูลโดยทั่วไป กล่าวคือ มี single point of failure และยังจำเป็นต้องอาศัย trust”

นอกจากนี้อาจารย์ตั๊มยังกล่าวว่า เงินดิจิทัล “มูลค่า 10,000 บาท” ที่จะแจกให้กับประชาชนนั้นไม่ใช่เงินบาท ไม่ใช่เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เป็น token ที่พรรคเพื่อไทยในนามรัฐบาล “เสก” ขึ้นมา แล้วใช้กฎหมายบอกว่า มันมีค่าเท่ากับ 1 บาท ซึ่งรัฐบาลจะสามารถควบคุมได้ทั้งหมด

“ถ้าทำออกมาได้อย่างนี้จริง จะแสดงถึงโครงสร้างการออกแบบที่รวมศูนย์มาก ๆ กล่าวคือ มีผู้ issue เงินเพียงผู้เดียว และผู้ใช้งานทุกคนจะต้องทำการขึ้นทะเบียนผู้ใช้งาน 1 address ต่อหนึ่งคน ไม่สามารถสร้าง private key ของตนเองและใช้งานได้ จากนั้นฐานข้อมูลส่วนกลางจะต้องกำหนดว่า ใครจะสามารถนำเงินลมเหล่านี้มาใช้ได้และใครไม่สามารถใช้ได้ และยังจำเป็นต้องรู้ตำแหน่ง geolocation ของแต่ละกระเป๋า เพื่อตรวจสอบรัศมีการใช้งานว่าผู้รับและผู้จ่ายมีภูมิลำเนาห่างกันเกิน 4km หรือไม่”

“จึงมั่นใจได้ว่า ไม่ใช่ระบบ open, decentralized blockchain แต่อย่างใด แต่จะต้องเป็น token digital ที่ควบคุมโดยส่วนกลาง ที่อาจใช้เทคโนโลยี public key infrastructure ในการ automate บางขั้นตอนเท่านั้น”

ทางออกคือ CBDC ?

อย่างไรก็ตาม อ.ตั๊ม มองว่า ทางออกเดียวที่จะพอทำได้ตามกฎหมายคือการหันไปใช้ CBDC ที่ออกโดยแบงก์ชาติ ซึ่งปัจจุบันพัฒนากันมาหลายปีและเริ่มมีการทดลองใช้แล้ว และเชื่อว่าจะตอบโจทย์ความต้องการทั้งหมดของพรรคเพื่อไทยได้ไม่ยาก

“ที่กล่าวมาคือวัตถุประสงค์ของ CBDC ครับ ผมไม่เห็นด้วยกับ CBDC แต่นั่นคือวัตถุประสงค์ที่มันถูกสร้างขึ้นมา และเค้าก็ศึกษาและทำกันมาหลายปีแล้วด้วย ทำให้ 10,000 บาทในระบบกระเป๋าดิจิทัลใหม่ที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่า “คำโฆษณาเพื่อการหาเสียง” เลย เป็นการสัญญาว่าจะ airdrop token ที่เสกขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นการเรียกคะแนนเสียงเท่านั้น โดยไม่ได้มีเหตุผลอื่นใดที่สมเหตุสมผลของการมีตัวตนอยู่เลยแม้แต่น้อย”

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป