ผู้เสียหายจากโปรเจ็กต์ “CryptoRonin” รวมตัวยื่นหนังสือถึง “ก้าวไกล” หวั่นคดีไม่คืบ หลังลงทุนกับบริษัท ‘ปลื้ม หลีกภัย’ สูญกว่า 10 ล้านบาท
วันที่ 12 มิ.ย. 2566 ที่พรรคก้าวไกล กลุ่มผู้เสียหายจากโปรเจ็กต์ CryptoRonin ของนายสุรบถ หลีกภัย หรือปลื้ม โดยบริษัท วีอาร์โซ จำกัด เข้ายื่นหนังสือ โดยมีนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้รับเรื่อง
ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีที่มาจาก Project NFT ชื่อว่า CryptoRonin ซึ่งข้อมูลที่บริษัทแจ้งต่อสาธารณชน คือ จะมีการทำเกมออนไลน์ ลักษณะ Play-to-earn คือ สามารถทำเงินได้จากการไปเล่นเกม ซึ่งประกาศว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในเดือน ส.ค. 2565 มีการขายและให้ประมูลผลงานศิลปะออนไลน์ในรูปแบบ NFT ที่อ้างว่าเป็นตัวละครที่สามารถนำไปใช้เล่นเกมได้
เมื่อเกมเปิดให้เล่น มีการจัดงานเปิดประมูล NFT อย่างใหญ่โต ที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง โดยเชิญอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังมาร่วมโปรเจ็กต์เป็นจำนวนมาก โดยมีการขาย LAND เพื่อใช้ในเกม ในราคากว่า 50,000 บาทต่อชิ้น และขายไปได้ถึง 130 ชิ้น
ทั้งหมดมีการกระทำการผ่านทั้งเว็บไซต์ Opensea.io ของต่างประเทศ เว็บไซต์ https://cryptoronin.co ที่ทำโดย บริษัท วีอาร์โซ จำกัด และผ่านเว็บไซต์ https://www.bitkubnft.com/ แพลตฟอร์ม NFT ของ Bitkub ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
แต่ปรากฏว่าจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ทางบริษัทกล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมากได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการชดใช้ค่าเสียหายจากบริษัท ซึ่งคาดว่ามูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
“กรณีนี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงของสินทรัพย์ดิจิทัล แต่หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนกับว่า มีบริษัทหนึ่งสัญญาว่าจะเปิดร้านอาหาร และทำการขาย Voucher ล่วงหน้า เพื่อให้ไปใช้ได้ในร้านอาหารเมื่อเปิดให้บริการ แต่สุดท้ายร้านอาหารนั้นกลับไม่เปิดให้บริการจริง ทำให้ Voucher ที่เสียเงินซื้อไปไม่มีมูลค่าใดๆเลย”
ผู้เสียหาย กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยร้องเรียนไปทางหน่วยงาน เช่น สคบ. หรือ บก.สอท. มาก่อนแล้ว ซึ่งได้รับความช่วยเหลือที่ดี แต่อยากจะให้ทางพรรคก้าวไกล ช่วยติดตามประสานงาน เพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องนี้จะถูกดำเนินไปอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากอิทธิพลใดๆ
ด้านนายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า จะดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องของการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงให้ข้อมูล เช่น การรวมคดีของผู้เสียหายที่ปัจจุบันถูกส่ง จาก บก.สอท. ไปที่ สน.ท้องที่ ทำให้การแจ้งความร้องทุกข์กระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง จะสามารถรวมเพื่อให้หน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรงได้หรือไม่ นอกจากนี้จะติดตามหากคดีไม่คืบหน้า โดยสามารถใช้กลไกของคณะกรรมาธิการได้ เมื่อมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้นอกเหนือจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่ทำตามสัญญาของทางบริษัทแล้ว อีกประเด็นที่หยิบยกมาบ่อยครั้ง คือ มาตรการการกำกับดูแลของ กลต. ที่หลายครั้งจะมีการห้าม แต่เมื่อโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นไม่สามารถปิดกั้นได้ เหมือนกันระบบการเงินแบบเดิมๆ ผลก็คือจะเกิดการทำการซื้อขายที่ไม่ได้อยู่ใต้การควบคุมของ กลต. ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการหลอกลวง หรือกรณีแบบที่ผู้เสียหายกลุ่มนี้เจอ โดยที่ภาครัฐไม่สามารถกำกับดูแลได้เลย
อ้างอิง : LINK