ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เริ่มทดสอบการใช้ “Retail CBDC” กับประชาชนในวงจำกัด

ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็น 2 ธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อนุญาตให้ทดสอบการใช้ Retail CBDC สำหรับประชาชนในวงจำกัด ระหว่างช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. 2566 ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทดลองให้มีการใช้จ่ายเงิน “บาทดิจิทัล” หรือ Retail CBDC แล้วในวงจำกัด ซึ่งนอกจากธนาคารทั้งสองแห่งยังมีบริษัททูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับอนุญาตอีกรายหนึ่งด้วย

สำหรับการใช้จ่าย Retail CBDC ในวงจำกัดนั้นธนาคารที่ได้รับอนุญาตจะให้ผู้เข้าร่วมทดลองใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น wallet CBDC โดยสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ชื่อ “CBDC SCB Wallet” ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยาใช้ชื่อ “CBDC Krungsri” ซึ่งยังไม่ใช่ชื่อที่เป็นทางการแต่เป็นชื่อที่เรียกในขั้นทดลองนี้ก่อน

แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า กรุงศรีได้เริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ในพื้นที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานพระราม 3 และอยู่ระหว่างขยายการใช้งานไปยังสาขาเพลินจิต โดยปัจจุบันมีพนักงานประมาน 2,000 คน และร้านค้าประมาน 100 ร้านค้า ร่วมการทดสอบ

โดยกรุงศรีได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “CBDC Krungsri” เพื่อใช้ในการทดสอบครั้งนี้ สำหรับขั้นตอนการใช้งานเริ่มจาก

  1. ผูกบัญชีธนาคารไว้กับแอปพลิเคชั่นเพื่อให้สามารถแปลงเงินบาทเป็น CBDC หรือเงินบาทดิจิทัลได้ โดย 1 บาท มีค่าเท่ากับ 1 CBDC
  2. เข้าไปที่แอปพลิเคชั่นแล้วแปลงเงินบาทจากบัญชีที่ผูกไว้เป็นเงินดิจิทัลในจำนวนที่ต้องการ
  3. เลือกสแกนจ่าย จากนั้นสามารถสแกน QR Code ของร้านค้าได้ โดยจะเป็น QR Code สำหรับการใช้ Retail CBDC โดยเฉพาะ

“การใช้ Retail CBDC ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบ เราจึงใช้แอป CBDC Krungsri แยกออกมาเพื่อไม่ให้ผู้ใช้เกิดความสับสน โดยในการทดสอบตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาจาการใช้งาน และในระยะต่อไปอาจนำกระเป๋าเงิน CBDC เข้าไปรวมไว้แอปพลิเคชั่น KMA ”

โดยการทดสอบใช้ Retail CBDC ในครั้งนี้เพื่อต้องการทดสอบความเสถียรของระบบ เช่น การรองรับการทำธุรกรรมปริมาณมาก การแลกเงินกลับจากบาทดิจิทัลเป็นเงินบาทปกติ เป็นต้น โดยหลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบกรุงศรีจะรายงานผลไปยังธปท. ต่อไป

อย่างไรก็ดีหากภายหลังจากการเปิดให้ประชาชนได้ใช้ Retail CBDC เป็นการทั่วไปแล้ว อาจจะต้องมีการให้ความรู้แก่ประชาชนและร้านค้า รวมถึงต้องแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ Retail CBDC กันมากขึ้น เช่น การให้ส่วนลดหรือการให้เงินคืน

ทั้งนี้แม้ว่าการใช้ Retail CBDC จะอาจมีความคล้ายกับการใช้จ่ายผ่านพร้อมเพย์ แต่การใช้ Retail CBDC มีประโยชน์ที่ต่างไปจากพร้อมเพย์ เช่น

  1. การทำรัฐสวัสดิการ หากใช้ Retail CBDC จะทำให้สามารถจำกัดการใช้จ่ายให้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้ เช่น การให้สวัสดิการแก่นักเรียนสามารถจำกัดการใช้งานได้ว่า Retail CBDC ที่ได้ไปต้องใช้จ่ายในร้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายกับร้านค้าอื่นๆ ได้
  2. ในอนาคตการให้สินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ของสถาบันการเงินจะสามารถควบคุมได้ จากเดิมที่ปัจจุบันเมื่อลูกค้าได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วสถาบันการเงินอาจไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสินเชื่อที่ลูกค้าได้รับไปได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่การใช้ Retail CBDC จะทำให้จำกัดการใช้งานได้ เช่น การขอสินเชื่อบ้านลูกค้าจะใช้ Retail CBDC ได้เฉพาะกับร้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เท่านั้น
  3. ลดต้นทุนการผลิตเหรียญและธนบัตรการทดสอบการใช้ Retail CBDC ในครั้งนี้อาจเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีระบบการชำระเงินเพิ่มขึ้นอีกช่องทางนอกเหนือจากการมีระบบพร้อมเพย์ซึ่งนับว่าเป็นระบบการชำระเงินที่แข็งแรงมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังอาจเป็นอีกก้าวที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ธปท. ย้ำว่า ปัจจุบัน Retail CBDC เป็น pilot to learn ไม่ใช่ pilot to launch การทดสอบในครั้งนี้เป็นการทดสอบในวงจำกัดประมาณ 10,000 คนเท่านั้น ยังไม่ได้ใช้จริงในวงกว้าง ซึ่งกลุ่มผู้ทดสอบได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ดังนั้นวันนี้หากพบกรณีที่แอบอ้างเกี่ยวกับ Retail CBDC จึงไม่ควรเชื่อ

อ้างอิง : LINK

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป