กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย โอกาสหรือการควบคุม?

ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่มีการบังคับใช้เกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้ประเดิมจึงทำให้มีประเด็นถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีเสน่ห์มากขึ้น ดึงดูดให้มีนักลงทุนเข้ามาอยู่ในตลาดนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง ธุรกิจที่เป็นธุรกรรมการกระจายศูนย์ Decentralized Finance (DeFi) การถูกควบคุมถือว่าเหมาะสมหรือไม่ ?

นางสาวฟรานเชสก้า รุสโซ่ ผู้ก่อตั้ง Crypto Meetup Thailand  จึงจัดงาน Crypto, NFT & Beers ขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “What do International Blockchain Leaders Think About Thailand’s Regulations?” หรือ “มุมมองของบริษัท Blockchain ชั้นนำต่างประเทศ ที่มีต่อกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย” ผ่านมุมมองกูรูต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ได้แก่ Toby Gilbert, CEO Coinweb.io, Jonathan Phan, Head of OKX Chain Ecosystem SEA, ดร. ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัล พรรคไทยสร้างไทย และคุณซานเจย์ สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด ได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็น ดังนี้   

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (“พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ”) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่         ปี พ.ศ. 2561 มีผู้ประกอบการหลายแห่งที่ขอใบอนุญาต เพื่อให้สามารถยืนยันได้ว่ามีตัวตนที่แท้จริง มีความน่าเชื่อถือจากภาครัฐ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่สามารถขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจได้ ต่อมาตลาดคริปโทฯ มีการพัฒนาตลอดเวลา กฎหมายจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อสอดรับกับภาคธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ขับเคลื่อนไม่มีวันหยุด อีกทั้งผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อนักลงทุน จึงเป็นการยากที่องค์กรใดจะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

การที่ Regulator ต้องการปกป้องนักลงทุนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ตราบใดที่มากเกินไป ก็จะกลายเป็นการปิดกั้นโอกาส ในมุมมองของผู้ประกอบการเห็นว่า กฎหมายไทยควรตั้งอยู่ภายใต้พื้นฐาน “Innovation Sandbox” ปรับแนวคิดจาก “ห้ามไว้ก่อน” เป็น “ให้ไว้ก่อน” โดยมีเงื่อนไขเพื่อจำกัดความเสียหายแต่ไม่จำกัดโอกาส เช่น ห้ามลงทุนเกินเท่าไหร่ มีจำนวน User แต่ละแฟลตฟอร์มไม่เกินเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อทดสอบแล้วต้องยอมรับผลการทดสอบนั้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มหรือลดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ Regulator ควรประเมินความเสี่ยงให้ถี่ถ้วน 

ทั้งนี้ การที่จะควบคุมแพลตฟอร์มทั้งหมดมีความยากมาก เพราะทุกอย่างคือการกระจายศูนย์ Decentralized Finance (DeFi) ที่มีเงินหมุนเวียนเข้า-ออก ตลอดเวลา ทั้งฝ่ายผู้คุมกฎเกณฑ์ และผู้ประกอบการควรต้องปรับตัวให้มีความสมดุลกัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยตอนนี้นับว่าเป็นตลาดที่เหมาะสมที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุน เป็นภูมิภาคที่เป็นมิตร มี Community ที่ดี 

นางสาวฟรานเชสก้า รุสโซ่ กล่าวเสริมในช่วงท้ายว่า ไม่ว่ากฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล จะเป็นโอกาสหรือการควบคุม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การศึกษาเรียนรู้และความเข้าใจในเรื่องการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ตาม เมื่อเรามีความเข้าใจมากพอ ก็จะสามารถจำกัดกรอบความเสี่ยงได้ Crypto Meetup Thailand และ Bitcoin Addict Thailand เป็น Community ที่พร้อมให้ความรู้ ความเข้าใจควบคู่วงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน รวมตัวผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสริมเกราะป้องกันแก่นักลงทุนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

wissarut

ข่าวต่อไป