Optimism (Op) บล็อกเชนที่แจก Airdrop ได้ฉลาดที่สุดในวงการคริปโต

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา Optimism มีการใช้งานที่ก้าวกระโดดแซง Ethereum Layer 2 หลายตัวที่อยู่ในตลาดอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ TVL กำลังทำ All Time High ใหม่เรื่อยๆ ทะลุ 1b จนแซง Arbitrum เจ้าตลาด Layer 2 ที่เปิดตัวก่อนแต่ TVL เหลือเพียง 867m ในขณะที่เขียน 

สาเหตุหนึ่งที่พอจะเชื่อมโยงถึง TVL ที่ไหลเข้ามามหาศาลคือ “การแจก OP Token” ของทาง Optimism ที่มีความน่าสนใจและสร้างสรรค์มาก โดยใช้เพียงแค่ 5% ของ OP ทั้งหมดในการให้ Airdrop แก่ผู้ใช้งาน และการแจก OP จำนวน 1.08% ของทั้งหมด ให้ Protocol บน Optimism เพื่อใช้ในการดึงดูดเม็ดเงินให้เข้ามาลงทุน (TVL) ได้สูงขนาดนี้ บทความนี้จะปูพื้นฐาน Optimism แบบรวบรัด และชวนมาวิเคราะห์การแจก OP ให้อ่านกันครับว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

Optimism คืออะไรแบบเข้าใจง่าย

ปกติการสร้าง Blockchain Layer 1 นั้นจะมี 3 เรื่องหลักให้คิด คือ Security หรือความปลอดภัยของ Blockchain, Decentalization หรือความกระจายศูนย์ทั้งเรื่องจำนวน Node, Network หรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และสุดท้าย Scalability หรือการรองรับ Transaction ได้เยอะมากแค่ไหน ซึ่ง Blockchain โดยทั่วไปจะเน้นได้แค่ 2 ใน 3 เท่านั้น จึงเรียกว่าเป็น Blockchain Trilemma ที่ผู้พัฒนาจำเป็นต้อง Trade-off ว่าต้องการให้เรื่องไหนเด่น โดย Ethereum เลือก Decentralization และ Security เป็นสองเรื่องหลัก

ดังนั้น Scalability จึงเป็นปัญหาหลักของ Ethereum โดยเมื่อมีการใช้งานมากขึ้น ผู้ใช้งานจะแข่งกันเพิ่มค่าธรรมเนียม (Gas) เพื่อให้ธุรกรรมของตนเองได้บันทึกลงไปในบลอค จนในบางช่วงที่คนใช้หนาแน่นมาก ค่า Gas มีจ่ายตั้งแต่หลักพันเป็นจนถึงหมื่นบาทเลยก็มี

ซึ่งทางแก้ปัญหาก็มีหลากหลายมากเช่นการทำ Sharding, Sidechain หรือ Layer 2 ซึ่งวันนี้ Optimism ที่เราจะเล่าในวันนี้เลือกเป็นการทำ Layer 2 ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Optimistic Rollup ซึ่งเป็นการรวม Transaction หลายๆอัน (Rollup) เป็นชิ้นเดียวแล้วส่งให้ Ethereum ทำให้ลดค่าธรรมเนียมและตรวจได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งการส่งให้นั้นจะไม่มีการตรวจสอบเพราะตีความให้ถูกต้องทั้งหมด (Optimistic) แต่ก็มีเวลาให้ 7 – 14 วันเรียกว่า Challenge Period ที่จะเปิดให้ใครมาแย้งว่ามีธุรกรรมที่ผิดพลาดได้ หลักการนี้เรียกว่า Fraud Proof

OP Token

โดยปกติแล้ว Layer 2 ไม่จำเป็นต้องมีเหรียญเพราะใช้ ETH เป็นค่า Gas แต่มุมมองของผมซึ่งอาจมี Bias คิดว่า Optimism ก็ยังต้องมีเหรียญอยู่ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

  • ดึงดูดผู้ใช้งานช่วงเริ่มต้น: หลักการคล้ายกับที่มาการแจกเหรียญ Governance Token ของ Dex คือ ในช่วงที่เปิดใหม่ คนใช้งานยังไม่เยอะจึงทำให้เก็บ Fee ได้น้อยซึ่งส่งผลให้ไม่มีใครเข้ามาเพิ่มสภาพคล่อง เป็นปัญหาวน Loop ไปจนไม่มีการเริ่มต้นใช้งาน แต่ถ้า Dex แจก Gov Token เข้าไปด้วยซึ่งเป็นเหรียญที่มีมูลค่าก็จะสามารถดึงดูดคนให้เข้ามาเพิ่มสภาพคล่องได้มาก จนทำให้เริ่มมีรายได้จาก Fee เพิ่มขึ้นมา แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ Fee มากพอก็จะทยอยลดการแจก Gov Token โดยที่คนก็ยังเพิ่มสภาพคล่องจากเพราะเก็บค่า Fee ได้สูง ดังนั้นผมคิดว่าเชนเปิดใหม่อย่าง Optimism ก็จำเป็นต้องสร้าง Incentive Program บางอย่างให้คนเข้ามาเพิ่มสภาพคล่องเช่นกัน ซึ่งเราจะเห็นหลากหลายกลยุทธ์ที่ Optimism เลือกใช้ เช่น การ Airdrop โดยไม่บอกล่วงหน้าแก่ผู้ใช้งาน และการแบ่งให้ Protocol บน Optimism นำไปเป็นทุนในการดึงดูดสภาพคล่อง เป็นต้น
  • Governance Token: หากจะสร้าง OP โดยที่ไม่มี Use Case อะไรเลยก็คงเตรียมโดนมูลค่าเป็นศูนย์ ดังนั้น Optimism จึงกำหนดให้ OP เป็น Governance Token ที่มีสิทธิในการกำกับดูแลเชน Optimism ให้ไปในทิศทางไหน รวมถึงการโหวตมติต่างๆ ทั้งเรื่อง OP Allocation หรือโปรเจคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • RetroPGF Reward: โดยปกติแล้ว Optimism จะมีการเก็บ Fee 2 แบบคือ 1) L1 (Security) Fee จะเป็นค่าใช้จ่ายในการบันทึกลง Mainnet และ 2) L2 (Execution) Fee เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งธุรกรรมลง Optimism ปกติจะตั้งเริ่มต้นที่ 0.001 gwei ต่อธุรกรรมแต่เพิ่มขึ้นได้ตามความหนาแน่นของการใช้งาน ซึ่งรายได้ส่วน L2 Fee ทาง Optimism จะเก็บไว้เรียกว่า RetroPGF Rewards ซึ่งจะนำมาใช้สนับสนุนโปรเจคบน Optimism แม้ว่าผู้ถือ OP จะไม่มีสิทธิ์ในการบริหารเงินส่วนนี้โดยให้กลุ่ม Citizens’ House ที่ถือ Soulbound (Non-Transferable NFT) เป็นผู้ดูแล แต่ในภาพรวมแล้วทุกฝ่ายก็จะทำให้ Optimism เติบโตไปได้พร้อมกัน ดังนั้น OP ที่ใช้โหวตก็มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
  • การพัฒนามีต้นทุน: ถ้าไม่มีงบ โปรเจคก็ไม่มีเงินทุนมาใช้ค่าเงินเดือน ค่า Software/Hardware และค่าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แม้ว่า Optimism จะได้งบให้เปล่าจากที่ต่างๆ แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ จนต้องไประดมทุนตาม VC หรือ Angel Investor ต่างๆ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็คาดหวังผลตอบแทน ดังนั้นการสร้างเหรียญจึงเป็นทางหนึ่งในการได้รายได้เข้ามาอย่างมาก
  • โมเดลใหม่ในอนาคต: แม้ว่าในตอนนี้ OP จะไม่มีรายได้สะสมเข้ามาจากช่องทางไหนก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่าอนาคตจะเป็นแบบนี้ไปตลอด ยกตัวอย่างเช่น UNI เป็น Governance Token เท่านั้น แต่ล่าสุดมีการโหวตเริ่มใช้งาน Fee Switch ที่จะแบ่งส่วนหนึ่งของรายได้มาให้กับคนที่ถือ UNI หรือแผนในการนำ MEV-Auction มาใช้ ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานจ่ายค่าแก๊สถูกลงและมีรายได้บางส่วนทบเข้าไปใน RetroPGF ดังนั้น OP ในอนาคตก็อาจจะมีการคิดโมเดลใหม่ๆที่ทำให้ผู้ถือเหรียญ OP ได้รับประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ

OP Allocation

OP มีจำนวนเหรียญทั้งหมด 4,294,967,296 OP มาจากเลข 2^32 มีการแบ่งสัดส่วนไว้ 5 กลุ่มใหญ่ดังนี้

  • Retroactive Public Goods Funding (RetroPGF) (20%): จะเป็นเหมือนเงินทุนสำรองของ Optimism Foundation สำหรับนำไปช่วยเหลือและสนับสนุนโปรเจคต่างๆที่จะสร้างบน Optimism ให้สามารถสร้าง Value ที่ดีและสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ Optimism
  • Core Contributors (19%): แจกให้ผู้พัฒนาหลักของ Optimism
  • Sugar Xaddies (17%): แจกให้ Investor ต่างๆที่เคยสนับสนุน Optimism มาตั้งแต่เริ่มโครงการ
  • Ecosystem Fund (25%): เอาไว้ทำ Incentive Program ต่างๆ แบ่งเป็น 5.4% ให้ Governance Fund, 5.4% ให้ Partner Fund, 5.4% ให้ Seed Fund และ 8.8% รอแบ่งทีหลัง ซึ่งพาร์ท Governance Fund เป็นตัวชูโรงที่ทำให้ TVL Optimism ในรอบนี้ จะเล่าในพาร์ทด้านล่าง
  • Users Airdrop (19%): แบ่งเป็น 5% แจก Airdrop #1 ให้ผู้ที่เข้ามาใช้งานบน Optimism ซึ่งแต่ละคนได้มาก-น้อยตามการ Contribute ให้กับ Optimism และมีการตรวจกลุ่มคนปั๊มไอดี (Sybil Attack) ให้หลุดออกจากเกณฑ์รับ Airdrop อีกด้วย ส่วนอีก 14% ยังไม่เปิดเผยว่าแจกกี่ครั้งและครั้งละเท่าไหร่ ซึ่งเราจะมาขยาย Airdrop #1 ในพาร์ทด้านล่าง

Optimism Collective

จุดเริ่มต้นของ TVL ที่ไหลเข้ามาใช้ Optimism ซึ่งเป็นเชนที่เกิดใหม่มากและยังมี Protocol ข้างในไม่เยอะมาก คือ การเข้าไปใช้งานจึงเป็นเหมือน Early Adopter ที่ต้องการลองของใหม่เป็นคนแรก บ้างก็เข้าไป Mint Optipunk จากกิจกรรม มีส่วนน้อยที่เข้ามาเพื่อ “เก็ง Aidrop” จริงๆ ยิ่งทาง Official ของ Optimism ประกาศเองเลยว่าไม่มีการแจกเหรียญ คนก็เลยลังเลอยู่ว่าเป็นการพูดดักตามความจำเป็นรึเปล่า 

ซึ่งสุดท้ายวันที่ 27 เมษายน 2022 ก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการเรื่อง Optimism Collective ซึ่งเป็นระบบธรรมาภิบาลของ Optimism ที่จะแบ่งกลุ่มคน 2 แบบหลัก คือ 1) Token House ซึ่งก็คือผู้ถือเหรียญ OP ที่กำลังจะ Airdrop ให้ มีสิทธิ์ในการโหวตทิศทางการแจกเหรียญในอนาคต งบ Treasury Fund และอื่นๆ 2) Citizens’ House จะเป็นกลุ่มคนที่ดูแลงบฝั่ง RetroPGF ทั้งสองส่วนมีอำนาจคานกันในการดูแล Optimism

ในบทความนี้จะเน้นไปที่ OP หรือ Token House เพราะ Citizens’ House จะเริ่มช่วงปลายปี

เจาะลึกการแจก Airdrop #1 และอนาคต

ทาง Optimism ประกาศว่า Snapshot ผู้ใช้งานไปตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2022 แล้ว โดยงบในส่วนนี้มีทั้งหมด 19% จาก OP ทั้งหมด แต่สำหรับ Airdrop #1 จะแจกเพียงแค่ 5% เท่านั้น ซึ่งมีเกณฑ์ในการให้ว่าใครเคยเข้าร่วมกิจกรรมไหนจะให้เท่าไหร่ มีอยู่ 6 หัวข้อด้วยกัน โดย Optimism ประกาศว่ามี 248,699 Address ที่ผ่านอย่างน้อย 1 เกณฑ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) Optimism Users (776.86 OP): แจกให้คนที่เคย Bridge เงินข้ามมาใช้งาน Optimism ก่อนวันที่กำหนดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง และเคยใช้งาน Protocol ในนั้นมากกว่าหนึ่งครั้งด้วย วิธีการนี้เป็นการคัดกรองได้ระดับหนึ่งว่าต้องเคยใช้งานจริงจึงจะเรียกว่าเป็น Optimism users ไม่ใช่เพียงแค่ปั๊มกระเป๋า (Sybil Attack) แล้วโอนไปเท่านั้น

2) Repeat Optimism Users (1,692.49 OP) : แจกให้คนที่ยังใช้งาน Optimism เป็นเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ขั้นตอนนี้จะยิ่งคัดผู้ใช้งานจริงของ Optimism ได้มากขึ้นเพราะกลุ่ม Sybil Attack ไม่มีทางย้อนกลับมาทำธุรกรรมเรื่อยๆแบบนี้แน่ เนื่องจากเป็นการทำที่ดูเสียเวลา และคิดไม่ถึงว่าจะมีเกณฑ์แบบนี้จากประสบการณ์ครั้งก่อนที่แค่ใช้งานนิดหน่อยก็ผ่านเกณฑ์แล้ว รางวัลในหัวข้อนี้จึงเยอะขึ้นมากพร้อมๆกับมีกระเป๋าเพียง 20% เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์

3) DAO Voters (271.83 OP): เคยร่วมโหวต Proposal ต่างๆบน Optimism หรือจาก Protocol บนนั้นอย่างน้อย 5 ครั้งขึ้นไป แม้ว่าฟังดูเหมือนเป็นท่าที่คาดไม่ถึงแต่จากสถิติมีคนผ่านเกณฑ์นี้เยอะเช่นกัน

4) Multi-Sig Signers (1,190.26 OP): แจกให้ผู้ที่ใช้งาน Multi-Signature Wallet โดยมากจะเป็นกลุ่มนักฒนาเท่านั้นที่จะได้ในหัวข้อนี้ไป เพราะการสร้าง Protocol ควรจะมีการกระจายการดูแลให้หลายคนเพราะอาจจะมีบางคนเผลอทำหลุดหรือหายได้

5) Gitcoin Donors (555.92 OP): Gitcoin เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเปิดให้แพลตฟอร์มต่างๆเข้ามาขอระดมทุนเพื่อการต่อยอดโปรเจคของตัวเอง ซึ่ง Optimism เองก็เคยมาขอยื่นทุนที่นี่ ดังนั้น Optimism จึงแจกกลับให้กับคนที่เคยใช้งาน Gitcoin ด้วยนั่นเอง

6) Users Price Out of Ethereum (409.42 OP): แจกให้ผู้ที่เคยใช้ Bridge เงินจาก Ethereum ไปเชนไหนก็ได้นอกจาก Optimism และยังมีการใช้งานบน Ethereum อยู่อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ถือว่าเป็นความใจดีอย่างมากที่แจกให้กับผู้ใช้ Ethereum

Bonus: หากผ่าน 4-6 เกณฑ์จะได้รับ OP เพิ่มขึ้นเป็นโบนัสอีก 4,180.54 OP, 13,330.16 OP และ 27,534.98 OP ตามลำดับ การให้ Bonus เป็นแนวคิดที่ดีมากเนื่องจากเป็นการคัดผู้ใช้งาน Optimism อย่างแท้จริงว่ามีใครบ้าง กลุ่มคนเหล่านี้ควรจะได้รับ Aidrop #1 ที่มากที่สุด ไม่ใช่คนที่เพียงแค่มาใช้งานผิวเผินแล้วจะได้เทียบเท่ากับผู้ที่ใช้งานจริง ผมคิดว่าโมเดลนี้จะเป็นพื้นฐานการคิดให้การแจก Airdrop ให้เชนอื่นๆได้ดีมาก 

ยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีส่วนของการแจก Airdrop อีกถึง 14% ที่ยังไม่มีแผนว่าจะแจกเมื่อไหร่ กี่ครั้ง หรือครั้งละเท่าไหร่ แต่มีการแจ้งว่าจะแจกให้กับผู้ใช้งาน Protocol ภายใน Optimism เท่านั้น ด้วยเหตุนี้คนที่พลาด Airdrop #1 จึงยังไม่หมดหวังเพราะยังมีอีกถึง 14% เยอะกว่า 5% ที่แจกในตอนแรกมาก ผู้ใช้งานจึงแห่กันมาเก็งว่าจะต้องใช้ Protocol ใดบ้าง เป็นการผลักดัน TVL ของเชนไปในตัว ซึ่งค่าธรรมเนียมแต่ละครั้งก็มีส่วนหนึ่งเก็บเข้า RetroPGF ซึ่งจะเป็นเงินทุนในการส่งเสริม Optimism ในอนาคตได้ นับว่าเป็นการวางแผนที่ทำมาอย่างรอบคอบและคิดถึงจิตวิทยาของคนได้ดีมาก

เจาะลึกการแจก Governance Fund

Governance Fund มีงบ 5.4% ของ OP ทั้งหมด หรือ 231,928,234 OP ที่เตรียมจะแจกจ่ายให้ Protocol บน Optoimism นำไปส่งเสริมการเติบโตของแพลตฟอร์ม เพราะถ้าแพลตฟอร์มเติบโต Optimism Ecosystem ก็จะยั่งยืนไปพร้อมๆกัน ซึ่งแต่ละคนก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน Optimism จึงตัดสินใจให้แต่ละคนร่าง Proposal เข้ามา 

ในขั้นต้นที่เป็น Draft หรือ Temperature Check ที่จะดูความคิดเห็นของ Community ว่าคิดอย่างไรกับจำนวน OP ที่ขอ, ลักษณะการใช้งาน OP ที่ได้รับไป, Protocol ส่งเสริมอย่างไรต่อ Optimism ในภาพรวม และข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงจนพร้อมเมื่อไหร่ก็สร้าง Ready Proposal ที่พร้อมเปิดให้โหวต มีระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ต้องมีการโหวตอย่างน้อย 10% ของ OP Supply และเกิน 51% เท่านั้นจึงจะผ่านเกณฑ์ โดยผู้โหวตก็คือคนถือ OP ทั่วไปหรือจะเป็นคนที่ได้รับ Delegate (Governance Committees) จากคนถือ OP ให้มาออกเสียงแทนก็ได้ 

โดยการแจก Governance Fund ครั้งแรกจะเรียกว่า Phrase 0 หรือ Cycle 1 ทีม Optimism จะเลือก Protocol เข้ามา และให้สร้าง Proposal เสนอ แต่สำหรับ Phrase 1 หรือ Cycle ตั้งแต่ 2 – 5 และ Phrase 2 เป็นต้นไป แต่ละ Protocol จะต้องเป็นคนยื่น Proposal เข้ามาเอง โดยบางแพลตฟอร์มอาจจะยังไม่รีบยื่นแต่พยายามสร้าง Profile ให้ดีก่อนที่จะมาของบก็จะได้มีโอกาสสำเร็จมากขึ้นได้เช่นกัน

ในตอนที่เขียนอยู่ในช่วง Three-Week Reflection Period นับตั้งแต่ 4 – 24 สิงหาคม 2022 จะพักช่วงให้การถกกันใน Community ว่า Cycle 1 ที่โหวตผ่านและเริ่มแจก OP ให้กับนักลงทุนแล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร หรือการให้ผ่านมาแล้ว 4 Cycle มีอะไรต้องปรับปรุงอีก หลังจากนี้จะเริ่มโหวต 25 สิงหาคม และ เริ่ม Phrase 2 เป็น Cycle 6 วันที่ 8 กันยายน 2022

จากสถิติของ 4 Cycle ที่โหวตผ่านไป มีการอนุมัติ 41 Protocol และปฏิเสธ 18 Proposal อนุมัติไป OP จำนวน ทั้งหมด 42,600,000 OP ตอนนี้โอนให้โปรเจคไปแล้ว 30,600,000 OP และยังเหลืออีก 189,328,234 OP ที่ยังให้ต่อได้อีก

ผลลัพธ์ของการแจก OP ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมทำให้ TVL 300m พุ่งขึ้นไปที่ 1.17b ในปัจจุบัน เติบโต 290% ในเวลาไม่ถึง 1 เดือนและทำลาย All Time High เดิมที่ 470m ไปเกินเท่าตัวต่างจากเชนอื่นๆที่ TVL ยังไม่กลับขึ้นมาที่ 50% ของ All Time High เดิมเลยด้วยซ้ำ จึงทำให้ Optimism ก้าวขึ้นมาเป็น Blockchain อันดับ 8 และเป็น Layer 2 ที่ TVL สูงที่สุด แซง Arbitrum ที่เคยครองอันดับหนึ่งไปแล้ว

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิธีการขอทุนแบบนี้ช่วยส่งผลดีต่อ Optimism และยังให้ความยืดหยุ่นที่สูงมากแก่ Protocol ในการบริหารเงินที่จะได้มาอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นข้อเสียบางอย่างจากเรื่องนี้คือ Protocol อาจจะเขียนให้สวยหรูเพื่อของบเฉยๆก็ได้ หรือหากมีความใกล้ชิดหรือส่วนได้ส่วนเสียกับ OP Delegate Committeess ก็อาจจะให้ผ่านได้ง่ายๆก็เป็นไปได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยคนใน Community คอยสอดส่องพฤติกรรมและไม่ปล่อยผ่านกับการอนุมัติที่ง่ายเกินไปให้ได้

Protocol ที่แจก OP อย่างน่าสนใจ 

นอกจากการยกย่องความฉลาดให้กับการคิดการแจก OP ของทีม Optimism แล้ว Protocol ที่ได้รับ OP ไปบริหารก็ควรจะได้รับการชื่นชมเช่นกัน ผมจะยกตัวอย่างแพลตฟอร์มบางตัวที่ดึงเม็ดเงินเข้ามาลงทุนใน Optimism และสร้าง Ecosystem ให้ยั่งยืน

  • Velodrome: เปิดตัวมามี TVL 40m แต่เมื่อตลาดย่อก็ลงไปอยู่ประมาณ 14m แต่เมื่อได้รับ 3,000,000 OP (ปกติได้ 300,000 – 1,000,000 OP) Velodrome ก็มี TVl ขึ้นไป All Time High ที่ 136m เติบโตขึ้นเกือบ 10 เท่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน เข้าใจว่า Velodrome เป็น Protocol ที่เปิดตัวใน Optimism เท่านั้นจึงได้รับพิเศษขึ้น 3 เท่า โดยแผนของ Velodrome มีอยู่ 3 ธีมหลักๆ คือ

    1) Incentivizing Long-Term Ecosystem Locking (750,000 OP) คือการสนับสนุนด้วยการแจก OP ให้คนที่ Lock Velo ซึ่งเป็น Governance Token ของ Velodrome ไว้ในแพลตฟอร์ม

    2) Incentivizing Liquidity + Partner Onboarding (1,750,000 OP) คือการใช้ OP เป็น Incentive ในการฟาร์มหรือจ้างให้แพลตฟอร์มอื่นๆเข้ามาใน Optimism หรือฟาร์มใน Velodrome

    3) Ensuring Protocol Safety + Security (500,000 OP) จะเอาไว้ทำ Bug Bouty Program และจ้าง Audit มาตรวจโค้ด จริงๆผมอยากให้ UX/UI มันดีกว่านี้หน่อยแหะ ใช้แล้วหงุดหงิดมาก

    ซึ่ง Velodrome เป็น Dex ที่มีโมเดลต่อยอดมาจาก Solidly ที่เรียกว่าเป็นการยำเอา DeFi 2.0 ส่วนที่ดีๆมาพัฒนาทั้งสิ้น ทำให้ถือเป็นตัวชูโรงที่สุดของ DeFi ในปัจจุบันก็ว่าได้ ด้วยระบบ Bribe และการแบ่ง Fee และ Velo ในรูปแบบที่ต่างออกไป ยิ่งได้ OP มาใช้ซึ่งวางแผนจะใช้หมดใน 12 เดือน ทำให้ Velodrome สามารถดึงดูดเม็ดเงินและแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาร่วมได้อีกมากมายในอนาคต

AAVE: Lending Protocol ชื่อดังอันดับ 3 ของ Defi ทั้งหมดได้ขอ OP ได้ 300,000 OP ซึ่งเงินก้อนนี้จะนำไปใช้ในการให้ Grant กับนักพัฒนาต่างๆที่จะช่วยสร้าง On Top AAVE และใช้เป็น Soponsor งานต่างๆรวมถึงรางวัลในการจัดแข่ง hackaton อีกด้วย

หลายคนอาจจะคิดว่าไม่มี Incentive Program ให้คนฟาร์ม AAVE เลยรึเปล่า ความจริงคือ AAVE ได้เตรียมแจก 5,000,000 OP ให้คนที่มาฝากเงินใน AAVE เชน Optimism โปรแกรมนี้จะมีระยะเวลา 90 วัน การแจกครั้งนี้ทำให้เม็ดเงินไหลเข้า AAVE บน Optimism อย่างมหาศาลจาก TVL 7m เป็น 612m ครองอันดับ 1 และกินส่วนแบ่งของเชนไป 3% ทันที ไม่แน่ใจว่าเงินก้อนนี้มาจากส่วนไหน แต่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่ได้รับ OP ไปบริหาร ทั้ง Synthetix และ Perpetual ที่ได้ไปคนละ 9,000,000 OP, Lyra ได้ไป 3,000,000 OP และอื่นๆอีกมากมายที่ยังเตรียมตัวรอแจก ผมคาดว่าหลังจากนี้ Optimism ก็จะยังทำให้ TVL เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆได้ และแนวคิดการแจกที่เปิดอิสระให้แต่ละแพลตฟอร์มได้ทำตามไอเดียของตัวเองก็ดีมากแก่ Optimism Ecosystem

สรุป

จากที่เล่ามาทั้งหมดก็น่าจะรู้สึกได้เลยว่าการแจก OP ของ Optimism ไม่ใช่อะไรที่คิดมาตื้นๆ มีการออกแบบแนวคิดและสัดส่วนการแจกมาอย่างดี นอกจากนี้ยังใช้ OP ไปไม่ถึง 10% ของทั้งหมดด้วยซ้ำแต่สามารถดัน TVL ให้สูงขึ้นมาได้อย่างมหาศาล และการมี RetroPGF ที่จะเป็นแหล่งเงินทุนให้ Citizens’ House อย่างสม่ำเสมอทำให้ทีม Optimism มีงบในการต่อยอด Campaign ต่างๆในอนาคตได้ ดังนั้นหลังจากนี้แม้ว่าจะมี Layer 2 ตัวอื่นๆเริ่มเปิดตัวและแจกเหรียญตาม แต่ Optimism ที่ชิงลงมือก่อนและทำได้อย่างดีก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะมี Ecosystem ที่เพรียบพร้อมก่อนไปแล้ว ก็คอยติดตามกันต่อไปว่า สงคราม Layer 2 จะมีเรื่องสนุกให้ติดตามต่อมากขนาดไหนครับ

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

wissarut

ข่าวต่อไป

FOLLOW ME

Blockchain Life 2024

Crypto Coffee

Cryptomind Research Talk

CryptOmakase

ข่าวต่อไป