ส.ส.เอิร์ธ ปกรณ์วุฒิ จากพรรคก้าวไกล มองกรณี Zipmex ทำไม ก.ล.ต. ไม่ทราบว่ามีผลิตภัณฑ์ ZipUp ย้ำหากทราบทำไมไม่ออกแถลงเตือนประชาชน?

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวของ Zipmex ผู้ใช้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลที่ประกาศระงับการฝากและถอนเหรียญ ถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย สืบเนื่องจากปัญหาผลิตภัณฑ์ ZipUp ซึ่งเป็นบริการที่นำเงินของลูกค้าไปลงทุนเพื่อมอบผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า แต่ด้วยสถานการณ์ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ก่อนหน้านี้เกิดภาวะขาดสภาพคล่องหลายเจ้า

โดยฟันเฟืองสำคัญของเรื่องนี้คือ Barbel และ Celsius ที่ระงับการถอนและยื่นล้มละลาย และทั้งสองบริษัทเป็นคู่ค้าโดยตรงของ Zipmex Asia ที่ Zipmex Thailand ได้นำเงินไปฝากไว้นั่นเอง หลังจากเกิดเรื่อง Zipmex ได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมแนวทางต่อจากนี้ โดยล่าสุด คุณ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองประธานกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เรียกประชุมทั้งทาง ก.ล.ต. และ Zipmex (Thailand) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 โดยทีมงาน Bitcoin Addict Thailand ได้ติดต่อสัมภาษณ์คุณ ปกรณ์วุฒิ ผ่านทางโทรศัพท์เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดังนี้

การเรียกประชุมกับ กมธ DES เกิดจากอะไร มีที่มาที่ไปยังไง?

หลังจากเกิดเหตุการณ์ของผลิตภัณฑ์ ZipUp จาก Zipmex ได้มีการเสนอประธานกรรมาธิการว่าจะขอเชิญทั้งทาง ก.ล.ต. และ Zipmex มาพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างปุบปับและสัปดาห์ที่แล้วก็เป็นช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย กรรมาธิการทุกคณะจึงงดทั้งหมด จนได้วันที่สะดวก คือวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยและหารือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

จากเรื่องที่เกิดขึ้น ก.ล.ต. มีแพลนจะทำอะไรต่อไปบ้าง

ก่อนที่จะได้มาร่วมประชุมกันทั้งสองฝ่าย ทาง Zipmex ได้ออกมาชี้แจงเรื่องราวและให้แนวทางที่จะจัดการต่อไปแล้วเรียบร้อย เช่น จะมีการฟ้องร้อง Barbel และ Celsius หรือแม้แต่การหานักลงทุนมาซื้อหุ้นเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้งาน ZipUp+ ในไทยมีจำนวนราว 61,000 คน ที่ประสบปัญหานี้ พบข้อมูลอยู่ในลักษณะของ Long tail คือผู้ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงมีจำนวนน้อยกว่าคนที่มีมูลค่าความเสียหายน้อย โดยมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 50-55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจำนวนผู้เสียหายถือว่าค่อนข้างเยอะพอสมควร

ถ้า Zipmex เจรจากับ Barbel / Celsius ไม่สำเร็จ จะเกิดอะไรขึ้น 

ส่วนตัวคุณ ปกรณ์วุฒิ คิดว่าการเจรจากับทั้ง Barbel และ Celsius จะใช้เวลานานอยู่แล้ว อาจกินเวลานับปี ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการ แต่ทางผู้เสียหาย หากต้องรอนานขนาดนั้นอาจจะไม่ทันการณ์ แต่ด้วย ZipUp+ ไม่อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. หรือก็คือไม่ได้มีกฎหมายรองรับ เนื่องจาก ก.ล.ต. ไม่ได้อนุญาตให้บริษัทในไทยทำ จึงทำให้การฟ้องร้องน่าจะเป็นไปได้ยาก หรือไม่ถ้า ก.ล.ต. สามารถหาช่องทางที่สามารถจัดการได้ดีกว่า ผู้เสียหายก็อาจจะได้รับการชดใช้ที่เร็วขึ้นได้

กรณี Zipmex คุณเอิร์ธคิดว่าทำไมถึงรอดการควมคุมจาก ก.ล.ต. ไปได้ ทั้งๆที่หน่วยงานนี้ควรจะตรวจสอบอยู่ตลอด

ZipUp+ เป็นบริการที่ไม่อนุญาตให้คนที่ถือใบอนุญาตทำ แต่ทางคุณ ปกรณ์วุฒิ ก็ได้ถามไปยัง ก.ล.ต. ว่าทราบเรื่องตั้งแต่เมื่อไหร่ และได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง มีผู้ถือใบอนุญาตรายอื่นอีกไหมที่ทำบริการในลักษณะนี้ เนื่องจากความจริงแล้ว การชักชวนให้ลงทุนด้วยภาษาไทยมีความผิด ซึ่งหากใครจำกันได้เคยมีกรณีที่ Binance ต้องยกเลิกการให้บริการภาษาไทยจากกรณีเดียวกันนี้ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ ทาง ก.ล.ต. เพิ่งทราบว่า Zipmex มีบริการที่ชื่อว่า ZipUp วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

เนื่องจาก ก.ล.ต. มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ถือใบอนุญาตที่ประกอบธุรกิจกระดานซื้อขายในไทยอยู่แล้ว ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำ และผู้เสียหายจากบริการ ZipUp ก็มีมากกว่า 61,000 ราย ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ ก.ล.ต. จะไม่รับรู้เรื่องนี้ แล้วหากรับทราบ ทำไมถึงไม่ออกแถลงเตือนว่าผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นตรงกับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ เป็นบริการที่มีความเสี่ยงและไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยกรณีที่ออกมาเตือนผู้ใช้ Binance ว่าควรใช้บริการกับกระดานซื้อขายที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

โดยหลังเกิดเรื่อง ทาง ก.ล.ต. ได้มีการตรวจสอบ Hot wallet และ Cold wallet ของผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลทุกราย และมีการสอบถามว่ามีบริการในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือไม่มีผู้ให้บริการใดที่กระทำในลักษณะดังกล่าว แต่ด้านคุณ ปกรณ์วุฒิ ก็ได้ถามกลับไปว่า “ปกติไม่ได้ตรวจแล้วอยู่แล้วเหรอ?” เพราะสินทรัพย์ที่อยู่ใน Hot wallet / Cold wallet และบัญชีธนาคารของกระดานซื้อขายต้องเท่ากันกับสินทรัพย์ที่ลูกค้าถืออยู่ในพอร์ต เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้นำสินทรัพย์ลูกค้าไปทำอย่างอื่น 

ซึ่ง ก.ล.ต. ก็ได้มีการส่งหนังสือไปถาม Zipmex เช่นกันว่ามีบริการในลักษณะนั้นไหม แต่อย่าลืมว่า ผลิตภัณฑ์ ZipUp ของ Zipmex คือการแยกกันของสองบริษัท Zipmex Thailand จะดูแลสินทรัพย์ในส่วนของ Trade Wallet ส่วนถ้าใน Z wallet ซึ่งมีบริการ ZipUp จะเป็นการดูแลจาก Zipmex Aisa ที่อยู่ต่างประเทศซึ่งไม่จำเป็นต้องส่งให้ก.ล.ต. ตรวจสอบ ดังนั้น ก.ล.ต. ตรวจสอบไป ก็ไม่พบอยู่ดี เพราะมันคนละบริษัทกัน 

ปัจจุบันกฎหมายรองรับเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลไปถึงไหนแล้ว

พรบ. สินทรัพย์ดิจิทัลถูกใช้มาแล้วประมาณ 4 ปี ส่วนตัวคุณ ปกรณ์วุฒิ คิดว่ามันคือการครอบคลุมแบบกว้าง ๆ แต่ไม่ได้เจาะลึกมากพอ ซึ่งบริการทางสินทรัพบ์ดิจิทัลในเวลานั้นกับตอนนี้ก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ซึ่ง ก.ล.ต. เองสามารถออกระเบียบได้ ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นออกกฎหมาย เป็นพระราชกำหนด/พระราชบัญญัติ แต่อย่างน้อยควรมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งเราอาจจะหย่อนในเรื่องของการให้ความรู้ประชาชนด้วย เพราะหาก ก.ล.ต. รู้แล้วว่ามีบริการในลักษณะนี้แล้ว และตลาดโลกเริ่มโตขึ้นแล้ว อาจจะลองทำเป็นโครงการ Sandbox ที่ทดลองให้กระดานซื้อขายต่าง ๆ เช่น Bitkub Satang Pro หรืออื่น ๆ เข้ามาพูดคุยกับ ก.ล.ต. แล้วตัดกฎระเบียบและจำกัดอะไรบางอย่าง เช่น วงเงิน อาจจะสัก 100 ล้านบาท พร้อมหลักประกัน ซึ่งสุดท้ายทั้งฝั่ง ก.ล.ต. และกระดานซื้อขายก็จะได้เรียนรู้กันทั้งคู่ ว่าควรไปในทิศทางไหน รวมถึงประชาชนทั่วไปก็จะรับรู้ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งต่อให้เกิดเหตุการณ์ล้ม ความเสียหายก็จะอยู่ในวงแคบ ไม่มีใครต้องเจ็บตัวหนัก

สรุป

ตอนนี้ ทาง Zipmex ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการสร้างความวางใจแก่ผู้เสียหาย ด้วยการออกมาไลฟ์อัปเดทสถานการณ์ทุกวัน แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ของตัวเองที่ยังคงค้างอยู่ใน Zipmex จะสามารถนำกลับมาได้เมื่อไหร่ อาจต้องรอฟ้องสำเร็จหรือขายหุ้นได้ ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาพอสมควร แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ อนาคต ก.ล.ต. จะสามารถออกระเบียบหรือข้อบังคับ ที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อีกหรือไม่?

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

wissarut

ข่าวต่อไป