Bitcoin ถือเป็นคริปโตเคอร์เรนซี่ตัวแรกที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมา กับคอนเซปต์ Peer-to-Peer Network และไร้ตัวกลางในการควบคุม ซึ่งถ้าเราย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน นับว่า Bitcoin ถูกเป็นที่พูดถึงและยอมรับในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างๆที่นำ Bitcoin ไปเป็นทุนสำรอง ประเทศบางประเทศที่ยอมรับให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือแม้แต่บุคคลธรรมดา ที่มอง Bitcoin เป็นเสมือนทองคำดิจิตอล และเป็นแหล่งสะสมมูลค่า (Store of Vaule) ในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะสงคราม หรือแม้แต่รัฐบาลหรือธนาคารกลางที่ต่างผลิตเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเรื่อยๆ จนทำให้เงิน Fiat ด้อยค่าลงขึ้นไปทุกวัน
ต้องบอกว่ากว่า Bitcoin และคริปโตเคอร์เรนซี่ตัวอื่นๆจะถูกพูดถึง ถูกใช้งาน และถูกยอมรับกันในวงกว้างขนาดนี้ มันก็ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ทั้งการถูกแบนจากหลายๆประเทศ การถูกมองว่ามันไม่มีค่าบ้าง ถูกเสกออกมาจากอากาศบ้าง รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆในโลกคริปโตที่ส่งผลต่อความผันผวนของราคา ก็ทำให้นักลงทุนต่างๆมองว่า “มันไม่สามารถใช้เป็นสกุลเงินได้จริง”
แต่ในทุกวันนี้ เราได้เห็น Use Case ที่เพิ่มมากขึ้นของ Bitcoin และคริปโตเคอร์เรนซี่ตัวอื่นๆ วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังว่า คริปโตเคอร์เรนซี่สามารถใช้ประโยชน์ในการทำอะไรได้บ้าง ไปดูกันเลยครับ
1) ใช้เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ
ทุกวันนี้ใครที่อยู่ในวงการคริปโตเคอร์เรนซี่ ก็คงจะไม่มีใครไม่ทราบแล้วว่า ประเทศแรกของโลกที่ใช้ Bitcoin เป็นสกุลหลักในการชำระเงิน คือประเทศเอลซัลวาดอร์ โดยคุณ Nayib Bukele ประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ได้บอกอีกว่า ประชาชนทุกคนสามารถใช้ Bitcoin ในการจ่ายภาษี ชำระค่าสาธารณูปโภค จ่ายเงินซื้ออาหารและบริการได้ นอกเหนือจากสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐที่เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ
หลังจากการประกาศในครั้งนั้น ก็ทำให้เอลซัลวาดอร์ได้รับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้คนจากทั่วโลกต่างสนใจที่จะเข้ามาทดลองใช้ Bitcoin ของตนในการชำระเงินภายในประเทศเอลซัลวาดอร์ผ่าน Chivo Wallet ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินสำหรับชำระ Bitcoin ที่ชำระผ่าน Lighting Network ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการโอนที่ถูก และทำธุรกรรมได้รวดเร็ว
แถมการยอมรับ Bitcoin ของเอลซัลวาดอร์ ยังทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP โตขึ้นกว่า 10.3% ในปี 2021 ซึ่งถือเป็นการเติบโตของ GDP เป็นเลขสองหลักครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเอลซัลวาดอร์เลย
2) ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการภายในต่างประเทศ
เนื่องจากตอนนี้ ในประเทศไทยยังมีกฎข้อบังคับจากทางก.ล.ต.เรื่องการห้ามไม่ให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไปให้บริการร้านค้าต่างๆในการชำระค่าสินค้าและบริการ แต่หากร้านค้านั้นๆไม่ได้ใช้ตัวกลางในการชำระเงินเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้กำกับดูแล ก็ยังคงเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะทำได้นั่นเอง แต่สำหรับในประเทศที่ไม่มีกฏข้อบังคับเหล่านี้ ก็เริ่มมีแบรนด์ต่างๆที่เปิดทางเลือกให้ลูกค้าสามารถชำระด้วยสกุลเงินคริปโตทั้งผ่านทางร้านค้าโดยตรงหรือผ่านธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตัวกลางอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
Starbucks
Starbuck Coffee ร้านกาแฟยอดฮิตที่มีสาขาทั่วโลก เปิดทางเลือกให้ลูกค้าสามารถชำระค่าเครื่องดื่มด้วยสกุลเงินคริปโต ผ่านบริการ BitPay และ Apple Pay ได้แล้ว โดยลูกค้าของ BitPay Wallet สามารถเพิ่มการชำระเงินผ่านบัตร BitPay Prepaid Mastercard ภายใน Apple Pay และใช้ชำระค่าเครื่องดื่ม Starbucks ด้วยสกุลเงิน Bitcoin ได้ โดยตอนนี้ลูกค้าสามารถใช้งานได้ภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
Time
นิตยสารชื่อดังระดับโลกอย่าง TIME ก็เปิดให้ลูกค้าสามารถชำระค่าสมัครสมาชิกออนไลน์ด้วยสกุลเงินคริปโต ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum, Dogecoin, Litecoin, ApeCoin รวมถึงโทเคน DeFi อย่าง Uniswap, Aave, Balancer และ Compound ได้อีกด้วย โดยได้บริษัทพันธมิตรอย่าง Crypto.com ในการเข้ามาเป็นตัวกลางในการช่วยชำระเงินนั่นเอง ซึ่งฟีเจอร์นี้สามารถให้บริการได้แค่ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น และมีแผนจะเปิดให้ชำระได้ทั่วโลกในเร็วๆนี้
Expedia
Expedia บริษัทผู้ให้บริการจองที่พักและตั๋วเครื่องบินได้ประกาศความร่วมมือกับ Travala.com บริษัทผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวแบบออนไลน์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Binance ในการรับชำระค่าจองค่าที่พักและตั๋วเครื่องบินด้วยสกุลเงินโต โดยลูกค้าสามารถใช้ Bitcoin รวมถึงสกุลเงินอื่นๆอีกกว่า 30 สกุลที่ทาง Travala.com ใช้จ่ายแทนเงินสดได้
WeWork
WeWork บริษัทผู้ให้บริการเช่าออฟฟิศก็เปิดให้ลูกค้าสามารถรับชำระเงินค่าบริการและค่าสมาชิกจากผู้เช่าด้วยสกุลเงินคริปโตได้ ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum, USDC, Paxos และสกุลอื่นๆอีกมากมาย โดยลูกค้าจะต้องชำระผ่านเงินค่าเช่าผ่าน BitPay Wallet และจ่ายเงินให้เจ้าของสถานที่ออฟฟิศผ่านแพลตฟอร์มเว็บเทรด Coinbase นั่นเอง
3) เปลี่ยนคริปโตเป็น Asset ในชีวิตจริง เช่นอสังหาริมทรัพย์
ในประเทศไทย เราสามารถเปลี่ยนคริปโตมาเป็น Asset อย่างบ้านและอสังหาริมทรัพย์ได้แล้ว อย่างเช่นโครงการ KHUN by YOO ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดใหม่ของทางแสนสิริ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่อยากนำ Cryptocurrency Asset ที่เรามีนั้นเปลี่ยนมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนและสร้าง Passive Income ให้กับเราได้
และตอนนี้ทาง SANSIRI ยังได้วางแผนขยายกิจการไปยังนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย รวมถึงมีการเข้าไปศึกษากลยุทธ์การลงทุนในตลาด Digital Asset มากยิ่งขึ้นสำหรับแผนต่างๆของทาง SANSIRI ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ซึ่งสำหรับใครที่กำลังมองหาสินทรัพย์ที่กระจายความเสี่ยงได้ดีนอกเหนือจากสกุลเงินคริปโตและสินทรัพย์ประเภทอื่นๆที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนของเรา อสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ทางเลือกที่ควรมีติดตัวไว้ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา คาดหวังผลตอบแทนจากค่าเช่าที่ชนะอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นได้ และยังสามารถเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเราในระยะยาวได้นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.springnews.co.th/blogs/program/818761
thestandard.co/sansiri-work-with-xspring-opening-property-buying-with-cryptocurrency/
www.brandbuffet.in.th/2021/09/el-salvador-adopt-bitcoin-as-legal-tender/