BTZ Token : ทำความรู้จัก BTZ และวิเคราะห์โอกาสในการเติบโต

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2022 ที่ผ่านมา ทาง “Bitazza โบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.” ได้มีการปรับปริมาณโทเคน BTZ ทั้งหมด จาก 300 ล้านโทเคน เป็น 3,000 ล้าน โทเคนและปรับปริมาณ BTZ ขอลูกค้าที่ถือไว้ก่อนหน้านั้นเพิ่มขึ้น 10 เท่า รวมถึงการปรับราคาโทเคนลงเพื่อคงมูลค่าตลาดด้วยนั้น อาจทำให้หลายๆคนเริ่มมาให้ความสนใจ BTZ กันมากขึ้น เลยอยากจะพามาทำความรู้จักและประเมินโอกาสในการเติบโตของ BTZ นี้กัน

BTZ คืออะไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง ?

BTZ เป็น Utility Token(ERC-20) ของทาง Bitazza ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้ใช้งานและผู้ถือครอง ไม่ว่าจะเป็น 

  • Fee Discount : ใช้ในการลดค่าธรรมเนียมซึ่งจะลดได้สูงสุดถึง 75% เมื่อใช้ BTZ จ่ายเป็นค่าธรรมเนียม
  • Bitazza Levels : สะสม BTZ เพื่อเลื่อนระดับสมาชิกโดยแต่ละระดับจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน เช่น การได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น
  • Staking : การฝาก BTZ เพื่อรับผลตอบแทนเป็น BTZ เพิ่มเติมตามระยะเวลาที่ฝาก สูงสุด 40%ต่อปี
  • Rewards : ใช้ BTZ เพื่อแลกรางวัลและบริการพิเศษจากทาง Bitazza และพาร์ทเนอร์
  • Governance : สิทธิ์ออกเสียงเพื่อการปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เช่น การเพิ่มเหรียญ​หรือคู่เทรดในแพลตฟอร์ม โดยจำนวนสิทธิ์ในการออกเสียงจะขึ้นอยู่กับจำนวน BTZ ที่เราถือ

และอาจรวมถึงการใช้งานกับสิ่งต่างๆที่จะตามมาในอนาคตอีกด้วย

**รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้**

สะสม BTZ ได้อย่างไร ?

ณ ตอนนี้ BTZ ยังไม่ได้เปิดให้มีการซื้อขายในแพลตฟอร์ม แต่จะสามารถสะสม BTZ ได้ก่อนผ่าน 4 ช่องทางหลักๆ คือ

**จำนวนเหรียญ BTZ ที่ผู้ใช้ต้องทำการสะสมจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากในรูป 10 เท่าจากเดิม**

  • การซื้อขายแลกเปลี่ยนบน Bitazza : ทุกๆการเทรดบน Bitazza จะได้รับ BTZ ในสัดส่วนที่กำหนดตามระดับสมาชิก Bitazza ของเรา ยิ่งสะสมจนมีระดับที่สูงขึ้นก็จะยิ่งได้ BTZ เพิ่มขึ้นจากทุกๆการเทรด
  • การแนะนำสมาชิกใหม่ : เมื่อชักชวนเพื่อนมาสมัครและยืนยันตัวตนสำเร็จผ่าน Referral Link จะได้รับ 5 BTZ จากทุกๆการสมัครและจะได้รับ BTZ 15-40%(ตามระดับสมาชิก) จากค่าธรรมเนียมซื้อขายของคนที่ชวนสำเร็จอีกด้วย
  • การแชร์โพสใน Social Media ต่างๆ : ได้รับ BTZ จากการแชร์โพสจาก Application ลงใน Social Media ต่างๆไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Telegram หรือ Linkedin โดยจะสะสมได้สูงสุด 10 BTZ จากช่องทางนี้ 
  • การร่วมกิจกรรมต่างๆของทาง Bitazza : ทาง Bitazza จะมีการแจก BTZ ผ่านกิจกรรมอยู่เป็นประจำ โดยสามารถติดตามกิจกรรมได้ที่เพจ Bitazza Thailand

**รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้**

รายละเอียดของ BTZ Token

จากการเพิ่มจำนวนโทเคนทั้งหมด 10 เท่าจาก 300 ล้านโทเคน เป็น 3,000 ล้านโทเคนนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ที่ถือ BTZ มาก่อนได้รับผลกระทบแต่อย่างใดเพราะทาง Bitazza ได้มีการปรับปริมาณโทเคนในกระเป๋าของผู้ถือก่อนหน้านี้ทุกคนเพิ่ม 10 เท่าด้วยเช่นกัน ทำให้มูลค่าของ BTZ ทั้งหมดของผู้ถือนั้นมีค่าเท่าเดิม รวมถึงมูลค่าตลาดของ BTZ ด้วย

จากข้อมูลข้างต้นอาจจะยังบอกไม่ได้มากนักว่าโอกาสในการเติบโตนั้นเป็นไปได้อย่างไรบ้างหากเรายังไม่ได้ลองเปรียบเทียบข้อมูลสำคัญกับคริปโตเคอเรนซี่ตัวอื่นๆที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ซึ่งเราจะมาอธิบายแนวทางการประเมินเบื้องต้นในหัวข้อถัดไป

การประเมินมูลค่าสินทรัพย์บนโลกคริปโตเคอเรนซี่เบื้องต้น

ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดคริปโตเคอเรนซี่นั้นมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงรวมถึงผลตอบแทนที่ได้รับก็สูงเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบดั้งเดิมจะเห็นได้ชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นปัจจัยหลักๆที่ดึงดูดให้ผู้คนในปัจจุบันเลือกมาลงทุนในตลาดคริปโตเคอเรนซี่อย่างล้นหลาม

แต่หลายคนก็อาจจะลืมนึกถึงความเสี่ยงและไม่ทราบวิธีการประเมินมูลค่าเบื้องต้น จนเกิดหนึ่งในคำถามยอดฮิตจากมือใหม่หลายๆคนก็คือ เราสามารถประเมินมูลค่าของเหรียญได้ไหม? จะรู้ได้อย่างไรว่าราคาตอนนี้ราคาแพงไปหรือยัง?  ดังนั้นวันนี้เราจะมาแนะนำหนึ่งในเทคนิคยอดฮิตที่มือใหม่สามารถใช้งานและเข้าใจได้ไม่ยาก นั่นก็คือการวิเคราะห์ Market Cap และ Fully Diluted Valuation ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้สองตัวชี้วัดนี้ก็เพราะจำนวนเหรียญของแต่ละเหรียญที่มีไม่เท่ากัน เราจึงวิเคราะห์ที่ราคาเหรียญตรงๆไม่ได้ 

Market Cap หรือ Market Capitalization คือ มูลค่าของคริปโตเคอเรนซี่ ตามราคาตลาด ณ ปัจจุบัน ซึ่งถูกคิดมาจากการนำจำนวนเหรียญที่หมุนเวียนทั้งหมดในปัจจุบันคูณด้วยราคาปัจจุบันของเหรียญนั้นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมาจัดอันดับขนาดของคริปโตเคอเรนซี่นั้นๆ โดยจะสามารถเขียนเป็นสมการให้เห็นภาพได้ง่ายๆคือ

Market Cap = Circulating Supply x Current Price

ซึ่ง Market Cap นี้จะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญที่ใช้ในการจัดอันดับและใช้ในการเปรียบเทียบมูลค่าของคริปโตเคอเรนซี่แต่ละตัวกับคริปโตเคอเรนซี่ตัวอื่นๆที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ยกตัวอย่างอย่างเช่น ในประเภทของ DeFi ถ้าเราอยากรู้ว่าราคาของ $CAKE มีโอกาสเติบโตได้มากน้อยขนาดไหนเราสามารถประเมินได้โดยการนำ Market Cap ไปเทียบกับเหรียญผู้นำของ DeFi อย่าง $UNI 

ซึ่งจะเปรียบเทียบได้ดังนี้

  • $UNI มี Market Cap อยู่ที่ประมาณ $7,093,587,793 ดอลลาร์สหรัฐ
  • $CAKE มี Market Cap อยู่ที่ประมาณ $2,784,990,386 ดอลลาร์สหรัฐ

หากพิจารณาแค่ Market Cap เพียงอย่างเดียวจะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบ $CAKE ให้มี Market Cap เท่ากับ $UNI จะพบว่า $CAKE อาจมีโอกาสเติบโตได้อีกถึงประมาณ 2.5 เท่า (ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน) 

Fully Diluted Valuation คือ มูลค่ารวมของคริปโตเคอเรนซี่ ณ ราคาปัจจุบัน หากอุปทาน(Supply)ของเหรียญทั้งหมดที่เป็นไปได้หมุนเวียนอยู่ในระบบ(เหรียญทั้งหมดถูกปลดแล้ว) โดยคิดมาจากจำนวนเหรียญทั้งหมดโดยรวมจำนวนที่ยังไม่ถูกปลดด้วย x ราคาปัจจุบันของเหรียญนั้นๆ โดยจะสามารถเขียนเป็นสมการให้เห็นภาพได้ง่ายๆคือ

Fully Diluted Valuation = Max Supply x Current Price

ยกตัวอย่างเช่น bitcoin

ทุกครั้งที่ปิดบล็อก bitcoin สำเร็จ เหรียญใหม่จะถูกสร้างขึ้น โดยในขณะนี้มีจำนวน $BTC ที่หมุนเวียนอยู่ราวๆ 19 ล้าน $BTC (ณ วันที่ 19 มกราคม 2022)  และซอร์สโค้ดของ bitcoin กำหนดว่าจำนวนเหรียญสูงสุดที่สามารถสร้างได้จะถูกจำกัดไว้ที่ประมาณ 21 ล้าน $BTC

จากข้อมูลข้างต้นเราจะสามารถคำนวน Market Cap และ Fully Diluted Valuation คร่าวๆได้ดังนี้

$BTC มี Market Cap = 19,000,000 x $41,333 = $785,327,000,000

$BTC มี Fully Diluted Valuation = 21,000,000 x $41,333 = $867,993,000,000

**อ้างอิงราคาขณะที่เขียนบทความ**

การใช้ Fully Diluted Valuation จะมีประโยชน์ในการประเมินเพิ่มขึ้นเนื่องจากนักลงทุนบางคนใช้เพียงแค่ Market Cap (Circulating Supply x Current Price) ในการประเมินเท่านั้น โดยลืมพิจารณาปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งบางครั้งนักลงทุนอาจจะประเมินว่าคริปโตเคอเรนซี่ตัวใดตัวหนึ่ง มี Market Cap ต่ำมากน่าจะมีโอกาสเติบโตไปได้อีกไกล แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้าลองพิจารณา Fully Diluted Valuation (Max Supply x Current Price) เช่นการดู Mcap/FDV หรือการวิเคราะห์ FDV ในหลายๆแง่มุม อาจจะพบว่ามูลค่าของคริปโตเคอเรนซี่ตัวนั้นสูงกว่าที่ควรแล้วก็เป็นได้ และ Fully Diluted Valuation ที่ต่ำนั้นก็ไม่ได้แปลว่าจะคุ้มค่าแก่การเลือกลงทุนด้วยเช่นกัน เพราะความจริงแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยและหลายตัวชี้วัดที่ควรนำมาวิเคราะห์ร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น 

อัตราการผลิตเหรียญใหม่เข้ามาในระบบ เพราะส่วนใหญ่แล้วแต่ละเหรียญจะมีวิธีการปล่อยเหรียญเข้ามาในระบบในอัตราที่ไม่เท่ากัน ซึ่งหากมีการเพิ่มเหรียญเข้ามาในระบบจำนวนมากอย่างรวดเร็วก็จะทำให้ Market Cap สูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามสมการ ทำให้ Mcap/FDV มีสัดส่วนที่มากขึ้น และส่วนมากการเพิ่มจำนวนเหรียญในลักษณะนี้จะทำให้ราคาต่อเหรียญปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นการทำให้มีอัตราการเฟ้อของเหรียญที่สูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนตัดสินใจขายเพื่อลดความเสี่ยง 

**แต่กรณีนี้จะไม่เหมือนกับกรณีการเพิ่มปริมาณของ BTZ แต่อย่างใด เนื่องจาก BTZ ยังไม่มีการเปิดให้เทรดและทาง Bitazza มีการปรับราคาต่อเหรียญและเพิ่มจำนวนเหรียญในกระเป๋าทุกคนด้วย จึงทำให้ Market Cap และ Fully Diluted Marketcap รวมถึงมูลค่าของ BTZ ในกระเป๋าทุกคนมีค่าเท่าเดิม**

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการใช้งานของโทเคน ยิ่งมีใช้งานที่ดีและมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ความต้องการมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นการทำให้มูลค่าพื้นฐานของโปรเจคเติบโตได้เร็วกว่าปริมาณ supply เหรียญที่กำลังจะถูกปล่อยออกมานั่นเอง และสุดท้ายนักลงทุนควรใช้ตัวชี้วัดหลายตัวในการประเมินมูลค่าและประเมินความเสี่ยงให้เหมาะสมในการลงทุนของตัวเอง

ผู้อ่านสามารถดู Market Cap และ Fully Diluted Valuationได้ที่ Coinmarketcap หรือ Coingecko

โอกาสในการเติบโต

เมื่อเรารู้จักวิธีการประเมินเบื้องต้นแล้ว เรามาลองวิเคราะห์โอกาสในการเติบโตคร่าวๆของ BTZ กันโดยคริปโตเคอเรนซี่ที่เราจะนำมาเปรียบเทียบกับ BTZ นั้นก็ควรอยู่ในหมวดหมู่หรือประเภทเดียวกัน ในที่นี้ก็คือเหรียญหรือโทเคนของ Centralized Exchange นั่นเอง

ล้วอะไรคือ Centralized Exhange ?

ในโลกคริปโตเคอเรนซี่นั้นการซื้อขายแลกเปลี่ยนมักจะเกิดขึ้นบน 2 แพลตฟอร์มหลักๆนั่นคือ

  1. Centralized Exchange 

เช่น Bitazza, Bitkub, Zipmex, SatangPro, Binance, FTX, Crypto.com

  1. Decentralized Exchange

เช่น Uniswap, Pancakeswap

โดยในที่นี้เราจะลองยกตัวอย่างเหรียญหรือโทเคนของ Centralized Exchange อย่าง Bitkub, Zipmex, Crypto.com และ FTX มาเปรียบเทียบกับของ Bitazza กัน

รายละเอียดของแต่ละเหรียญ/โทเคนโดยสังเขป

  • Bitazza Token ($BTZ) : เป็น Native Token(ERC-20) ของ Bitazza ซึ่งสามารถถูกใช้ในการรับสิทธิประโยชน์พิเศษจากทาง Bitazza ที่ถูกสงวนไว้ให้เฉพาะผู้ถือ $BTZ เท่านั้น
  • Bitkub Coin ($KUB) : เป็น Native Coin ของ Bitkub Chain ที่จะถูกใช้เป็นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบนเครือข่ายรวมถึงการใช้งานอื่นๆใน ecosystem ของ Bitkub
  • Zipmex Token ($ZMT) : เป็น Native Token(ERC-20) ของ Zipmex Exchange ซึ่งสามารถถูกใช้ในการรับสิทธิประโยชน์พิเศษจากทาง Zipmex ที่ถูกสงวนไว้ให้เฉพาะผู้ถือ $ZMT เท่านั้น
  • Crypto.com Coin ($CRO) : เป็น Native Coin ของ Cronos Chain ที่จะถูกใช้เป็นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบนเครือข่ายรวมถึงการใช้งานอื่นๆใน ecosystem ของทาง Crypto.com
  • FTX Token ($FTT) : เป็น Native Token(ERC-20) ของ FTX Exchange ซึ่งสามารถถูกใช้ในการรับสิทธิประโยชน์พิเศษจากทาง FTX ที่ถูกสงวนไว้ให้เฉพาะผู้ถือ $FTT เท่านั้น

ตารางการเปรียบเทียบโดยเรียงตาม Market Cap

จากตารางด้านบนหากเราลองเปรียบเทียบ Market Cap และ Fully Diluted Valuation ของ BTZ กับตัวอื่นๆที่อยู่ในประเภทเดียวกันแล้วนั้น จะเห็นได้ว่ามูลค่าตลาดของ BTZ นั้นยังเล็กกว่าตัวอื่นๆมากๆ แต่ถึงแม้ BTZ จะมีมูลค่าตลาดน้อยกว่าหลายเท่า แต่ก็ไม่ได้มีอะไรการันตีได้ว่า BTZ จะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในเร็วๆนี้เช่นกัน เรายังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆในหลายๆด้านควบคู่กันไปด้วยเนื่องจากแต่ละตัวต่างก็มีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันแม้ว่าจะจัดอยู่ในประเภท Centralized Exchange เหมือนกันก็ตาม ตัวอย่างเช่น Binance, Bitkub, Crypto.com นั้นมี Blockchain เป็นของตัวเอง ซึ่ง Native Coin ของ Blockchain นั้นๆ ในที่นี้คือ $BNB, $KUB และ $CRO ตามลำดับ จะถูกใช้จ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบน Blockchain รวมถึงการใช้งานอื่นๆใน ecosystem ของตัวเองอีกด้วย

แต่หากพิจารณาจากข้อมูลในปัจจุบันเราอาจประเมินได้ว่าในอนาคต BTZ อาจมีการใช้งานที่มากขึ้นจนทำให้มีมูลค่าตลาดใกล้เคียงกับ $ZMT ในปัจจุบันหรือมากกว่าก็เป็นได้ ส่วนในระยะยาวอาจมีมูลค่าตลาดเทียบเท่าหรือมากกว่า $CRO ในปัจจุบัน ก็อาจไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริงเท่าไหร่นักเนื่องจากยังมีฟีเจอร์อีกหลายอย่างที่กำลังจะมา ไม่ว่าจะเป็น การลดจำนวนโทเคนลงทุกไตรมาส(Burning Mechanism) หรือการเปิดให้เทรดได้ใน Bitazza Global ซึ่งจะทำให้มีความต้องการ (Demand) จากต่างประเทศด้วย หรืออาจมี blockchain ของตัวเองในอนาคตก็ได้ ซึ่งนี่เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น นักลงทุนควรพิจารณาตัวแปรอื่นๆควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

Disclaimer : การเปรียบเทียบ Market Cap และ Fully Diluted Valuation เป็นเพียงหนึ่งวิธีในการประเมินมูลค่าเท่านั้น นักลงทุนควรพิจารณาตัวแปรอื่นๆควบคู่ไปด้วยรวมถึงพิจารณาความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป

FOLLOW ME

Blockchain Life 2024

Crypto Coffee

Cryptomind Research Talk

CryptOmakase

ข่าวต่อไป