เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า “เมื่อวานนี้ในที่ประชุมกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ มีการพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล”
ซึ่งได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในประเด็นนี้มาชี้แจง ประกอบไปด้วย กรมสรรพากร, ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย, สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO และผู้ก่อตั้ง Itax
ในการประชุม นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสมาพันธ์ตลาดทุนไทย กล่าวว่า การเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นและการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอาจทำให้สภาพคล่องในตลาดลดลง 40% นอกจากนี้ เขายังเตือนด้วยว่าการเก็บภาษีจำนวนมากจะขัดขวางนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อยจากการซื้อขาย
ด้าน ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO และผู้ก่อตั้ง iTAX เสนอว่าการจัดเก็บภาษีจากผู้ลงทุนจะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรม และเขายังชี้แจงอย่างชัดเจนว่าลักษณะการกระจายอำนาจของ crypto ทำให้การรวบรวมข้อมูลของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นเรื่องยากมาก ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรวบรวมข้อมูลภาษีและทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ขณะที่ กรมสรรพากร แจ้งว่ากรมฯมีหน้าที่จัดเก็บรายได้เพื่อหาเงินเข้าคลัง แต่ยอมรับว่ายังไม่ได้พิจารณาผลกระทบเรื่องสภาพคล่องหากมีการจัดเก็บภาษีหุ้น อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีหุ้นยังอยู่เพียงช่วงระหว่างการศึกษาเท่านั้น ส่วนการจัดเก็บ”ภาษีคริปโตฯ”ก็ยังมีปัญหาในการปฏิบัติจริง และจะบังคับใช้เมื่อได้ทำการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ตอนนี้กำลังศึกษาผลกระทบรอบด้านอยู่
แต่ได้ดำเนินการมาบางส่วนคือการประเมินการกระจายความเป็นธรรมในโครงสร้างการจัดเก็บภาษี ในส่วนของผลกระทบด้านสภาพคล่องของตลาดตามที่คุณไพบูลย์ชี้แจงยังต้องขอข้อมูลเพิ่มเพื่อประกอบการพิจารณา อยากบอกว่า ภาษีมีหน้าที่อำนวยรายได้ให้แก่รัฐ ซึ่งจุดนี้ยกเว้นมาแล้ว 30 ปี โดยปลายปี 2564 ตลาดหลักทรัพย์ฯโตมา 22 เท่าจากปี 2534 การจัดเก็บภาษีที่ 0.1 จึงมองว่าไม่ได้เยอะเกินไป
โดยศึกษาจากรายงานของ ADB การเก็บ FTT ภาษี 94% ปกติมาจาก นักลงทุนรายใหญ่แสดงว่าภาษีนี้อยู่กับกลุ่มคนมีรายได้สูง ปัจจุบันได้ศึกษาในส่วนของต้นทุนผู้ลงทุน โดยเทียบกับค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์และภาษีค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ที่คิดเป็น 90% ของ transaction cost ของนักลงทุนในปัจจุบัน เทียบกับมาเลเซียถือว่ายังไม่สูงเกินไป ในขณะที่ฮ่องกงนั้นเก็บทั้งฝั่งซื้อและขาย ต้นทุนการเทรดของไทยอยู่ราวๆ 0.22% ถือว่ายังต่ำกว่าบางประเทศ
นอกจากนี้แทบทุกประเทศในอาเซียน อย่างน้อยมีการเก็บภาษีตัวใดตัวนึงอย่างฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เก็บทั้ง Capital Gain Tax และ Transaction Tax
ดังนั้นไทยถือว่าจัดเก็บภาษีน้อยเมื่อเทียบหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าคงสร้างผลกระทบแต่ไม่มากนัก สำหรับตลาดคริปโตฯ สรรพากรทราบผลกระทบอยู่แล้ว และได้ร่วมหารือกับภาคเอกชนแล้ว ทุกข้อเสนอแนะเรารับทราบและพยายามปรับปรุงอยู่ ทั้งวิธีการคำนวนแบบ Capital Gain Tax กำลังศึกษาเรื่องการปรับกฏหมาย และอนาคตของตลาดกำลังศึกษาว่าจะให้ Exchange เก็บแทน หรือ เก็บแบบ FTT ที่กระทบรายย่อยน้อยที่สุด ยังอยู่ระหว่างทำแบบสอบถามกับนักลงทุน เรื่องการบันทึกการลงทุนของนักลงทุนว่าจะเป็นในรูปแบบไหน
และสุดท้าย “เดียร์ “คิดว่าการประชุมเมื่อวานเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลให้รับทราบร่วมกัน กรมสรรพากรก็ได้รับฟังข้อมูลรอบด้านจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้จะมีการศึกษา และวิเคราะห์ ถึงผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างถี่ถ้วน อย่าให้เข้าทำนองดังที่ประธานกรรมาธิการได้ให้ข้อสรุปว่า “เชือดไก่เพื่อเอาไข่” ค่ะ
การเก็บภาษีคริปโตได้กลายเป็นประเด็นร้อนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่รัฐบาลเสนอเก็บภาษี 15% สำหรับกำไรจากคริปโต ซึ่งผู้บริหารทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ออกมาเตือนถึงข้อเสนอดังกล่าว รวมถึงอดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้สั่งให้กรมสรรพากรชี้แจงนักลงทุนและสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีคริปโตในเร็ว ๆ นี้