นางทิพยสุดา ถาวรามร อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการความมั่นคงและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ออกมาตั้งคำถามถึงความถูกต้องของการเก็บภาษีคริปโตในประเทศไทย
ตามรายงานของ The Nation ระบุถึงความคิดเห็นจากอดีตเลขาฯ ก.ล.ต. กับสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการตัดสินใจของกรมสรรพากรของประเทศไทยที่จะหารือเกี่ยวกับภาษีสำหรับการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล
นางทิพยสุดา ถาวรามร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเศรษฐกิจการเงิน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA และอดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โพสต์ในเฟชบุ๊กบัญชีชื่อ “Tipsuda Sundaravej Thavaramara” ว่าด้วยเรื่องภาษีคริปโทฯ ข้อความระบุว่า
“เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่ากรมสรรพากรจะประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการเสียภาษีจากธุรกรรมในสินทรัพย์ดิจิทัล ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้เห็นสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ปัญหาภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีมานานหลายปีแล้ว และไม่ได้มีแค่เรื่อง capital gains tax ด้วย
“เนื่องจากดิฉันเคยมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะผู้กำกับดูแล และปัจจุบันก็ยังช่วยให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ ที่ผ่านมาดิฉันจึงได้มีโอกาสหารือกับทั้งผู้ประกอบการ นักกฎหมาย ตลอดจนคนสรรพากรในเรื่องนี้
“ประกอบกับระยะหลังมีผู้มาขอความเห็นหลายราย จึงขอแชร์ความเข้าใจและความเห็นของตัวเองไว้ในที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการหาทางออกสำหรับอุตสาหกรรมต่อไป
“เท่าที่ดิฉันทราบ ปัญหาภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลมี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
1. ภาษีกำไรจากการขาย (capital gains tax )
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
3. ภาษีจากการออกและเสนอขาย token
เรื่องที่ 1 : capital gains tax
ปัญหาของไทยคือเก็บอย่างไม่เป็นธรรม เพราะเก็บจากรายการที่มีกำไร แต่ไม่ให้เอารายการที่ขาดทุนมาหัก และ กำหนดภาระหักภาษี ณ ที่จ่าย (withholding tax) แบบที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะ exchange เป็นเพียงตัวกลางไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้
ส่วนผู้ซื้อที่จ่ายเงินได้นั้นก็ไม่รู้ข้อมูลต้นทุนของผู้ขาย เรียกว่าทั้งไม่ fair และไม่ practicable
การมี withholding tax ยังมีผลกระทบไปถึงกรณีโอนคริปโทไปชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย เพราะเปรียบเสมือนได้ขายคริปโทจำนวนนั้นในราคารวมเท่ากับมูลค่าสินค้า เป็นเหตุให้ร้านค้าต้องหักภาษี capital gains จากผู้ซื้อสินค้า ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ต้นทุนของเขา
ทางออกมีอยู่ 3 ทาง คือ
(1) ยกเว้นไปก่อน ทำนองเดียวกับที่เรายกเว้นให้บุคคลธรรมดาที่ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะทำให้สอดคล้องกัน ไม่ดูเลือกปฏิบัติ แต่อันนี้ก็ขึ้นกับนโยบายว่าจะส่งเสริมหรือไม่
(2) ถ้าไม่ส่งเสริม จะเก็บภาษี ก็ควรทำให้ fair เก็บจาก net gain ทั้งปี ให้เอาที่ขาดทุนมาหักกลบได้ และเมื่อคิด net ทั้งปี ก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ข้อมูลที่จะมาคำนวณ exchange หรือ broker สามารถช่วยส่งข้อมูล transaction เท่าที่ทำผ่านตนให้ทั้งผู้ลงทุนและสรรพากร
(3) อีกวิธีก็เก็บเป็น transaction tax จากมูลค่าซื้อขายแทน แบบเดียวกับอากรแสตมป์ แต่อัตราต้องไม่สูงเกินไป เก็บแล้วจบ
เรื่องที่ 2 : VAT
ปัญหาคือสรรพากรมองคริปโทเป็นสินค้า ผลที่ตามมาคือ
- เวลาธุรกิจขายของ มี VAT จากขายสินค้า ถ้ารับชำระเป็นคริปโทแล้วตอนเอาคริปโทไปขายเป็นบาทก็ถือเป็นสินค้าอีกตัว โดน VAT ซ้ำ
- เวลาผู้ลงทุนขายคริปโทก็หาว่าขายสินค้า ถ้าคนไหนมี volume ขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องจด VAT และเสีย VAT ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเขียนใบกำกับภาษียังไง ขายใครยังไม่รู้เลย
ประเทศอื่นเขาเห็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งลูกค้าและธุรกิจ ทยอยแก้กันแล้ว ไม่ต้องเสีย VAT หรือ GST สำหรับการโอนคริปโทเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการหรือในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ว่าสหภาพยุโรป (EU) ออสเตรเลีย สิงคโปร์ คือเขายอมรับแนวคิดการใช้คริปโทเพื่อการชำระเงิน (payment) จึงยกเว้น VAT/GST ให้
ปัญหานี้กระทบมากกว่าผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง กิจการใดที่รับคริปโทหรือถือคริปโทเป็นสินทรัพย์ลงทุนก็กระทบ ดีไม่ดีเขาอาจจะเลือกไปจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ประเทศอื่นเลย
เรื่องที่ 3 : ภาษีจากการออกและเสนอขาย token
ดิฉันเคยคุยกับคนสรรพากรเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่า เวลากิจการระดมทุนด้วยการออก investment token ไม่ควรจะถือเป็นเงินได้ที่ต้องเอามาคำนวณภาษี (เหมือนเงินที่บริษัทได้จากการออกหุ้นหรือหุ้นกู้ไม่ถือเป็นเงินได้)
สรรพากรบอกว่า ทุกอย่างถือเป็นเงินได้ไว้ก่อน เว้นแต่จะมีประกาศยกเว้นให้เป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่ง investment token ควรจะมี แต่ยังไม่มี รอมา 3 ปี ก็เข้าใจว่ายังไม่มี
แม้ตอนที่มีธุรกิจออก investment token ระดมทุนปีที่แล้ว ก็ยังไม่เคยเห็นประกาศสรรพากรที่ชัดเจนเรื่องนี้ แต่ดิฉันหวังว่า พอธุรกิจออกมาแล้วก็คงจะนำไปสู่การตีความไปในทางที่ควรจะเป็น และประกาศออกมาต่อไป (ถ้าตีไปอีกทางคงจะปั่นป่วนแน่)
การพิจารณาปัญหาภาษีคริปโทฯ มีประเด็นคำถามว่า
1. เป็นธรรมหรือไม่ (fairness)
2. ชัดเจนหรือไม่ (clarity)
3. ปฏิบัติได้หรือไม่ (practicability )
4. เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้หรือไม่ (promotion)
เรามักจะให้ความสำคัญกับข้อ 4 และยกเหตุผลต่างๆ นานามาสนับสนุนการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วยการยกเว้นภาษี ซึ่งดิฉันก็เห็นด้วยกับที่หลาย ๆ คนยกขึ้นมา
อย่างไรก็ดี ดิฉันคิดว่าเราต้องพยายามแยกแยะประเด็นเหล่านี้ อย่าไปปนกันหมด เพราะการส่งเสริมอุตสาหกรรมใดเป็นการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งอาจมองคำตอบที่แตกต่างกันได้ แต่การเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ภายใต้กติกาที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ น่าจะเป็นหลักที่สรรพากรควรจะยึดถือ ไม่ว่านโยบายจะต้องการส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม
รัฐบาลไทยกำลังคิดภาษี 15% สำหรับการซื้อขาย crypto และผู้บริหารด้านการเงินทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวนมาก ต่างออกมาเพื่อแสดงข้อกังวลของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่เมื่อวาน ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ผู้อำนวยการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่าข้อเสนอภาษีใหม่จะบ่อนทำลายการเติบโตของตลาด