DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 10 : OlympusDao ความเพ้อฝันหรือแนวคิดใหม่ของระบบ Liquidity Pool

สวัสดีครับ ในบทความก่อนเกี่ยวกับ Abracadabra ที่เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่อยู่ในกลุ่ม DeFi 2.0 คงจะได้เห็นความซับซ้อนและความพยายามในการสร้าง Stablecoin ที่ไม่มีศูนย์กลางแล้ว วันนี้ผมอยากจะมีแนะนำสองแพลตฟอร์มด้วยกัน ตัวแรกคือ OlympusDao ที่มีเป้าหมายในการสร้างเงินสำรองที่ไม่มีตัวกลาง  (Decentralized Reserve Currency) และอีกแพลตฟอร์มหนึ่งซึ่งแยกออกมาชื่อ Olympus Pro ที่ตั้งใจจะช่วยแพลตฟอร์มอื่นๆในการแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่อง โดยรายละเอียดการทำงานของทั้งสองแพลตฟอร์มมีอะไรบ้าง ผลตอบแทนเป็นอย่างไร หรือความเสี่ยงอะไรบ้างที่ต้องรู้ก่อนลงทุน เกริ่นมาพอสมควรแล้วเดี๋ยวผมจะค่อยๆอธิบายไปในบทความนี้ครับ

ปัญหาเรื่องสภาพคล่อง

ก่อนที่จะอธิบายเนื้อหา ผมอยากอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม DEX ทั่วไปให้เข้าใจก่อนครับ โดยปกติแล้วทางแพลตฟอร์มจะไม่มีสภาพคล่องเป็นของตัวเอง จำเป็นต้องให้ผู้ใช้งานมาเพิ่มสภาพคล่องให้ ดังนั้นจึงสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาเพิ่มสภาพคล่องด้วยการแจก Governance Token แต่ปัญหามันเกิดขึ้น ดังนี้

  • Toxic Liquidity: ในช่วงแรก คนที่เข้ามาเพิ่มสภาพคล่องเข้ามาเพราะผลประโยชน์เท่านั้น เมื่อได้ Governance Token มาก็จะเปรียบเทียบว่าระหว่างการขายทำกำไรหรือถือไว้ ทางไหนได้ผลตอบแทนสูงที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแพลตฟอร์มที่เปิดมาใหม่ก็ยังไม่ได้มีการใช้งาน Governance Token ที่มากพอ จึงเกิดแรงเทขายเพื่อทำกำไรทั้งหมด ไม่ได้ต้องการมีส่วนร่วมอะไรกับแพลตฟอร์มในระยะยาว
  • Price Drop: แรงเทขายจาก Toxic Liquidity จะส่งผลให้ Governance Token มีแต่ตกลงอย่างเดียว เพราะในเมื่อเหรียญนั้นยังทำใช้ประโยชร์อะไรไม่ได้ก็เลยไม่มีเหตุผลในการถือ ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือในแพลตฟอร์มลดต่ำลงอีกด้วย
  • Impermanent Loss: การฟาร์มคู่เหรียญนั้นโดยปกติแล้วจะ Balance มูลค่าของทั้งสองฝั่งให้เท่ากันเสมอ ดังนั้นเมื่อ Governance Token ราคาตกหนัก เหรียญอีกฝั่งจะต้องถูกขายแล้วนำไปถัวอีกฝั่งเพื่อ Rebalance ให้เท่ากัน จึงเหมือนกับการถัวสินทรัพย์ขาลงและขาดทุนหนักขึ้นเรื่อยๆ
  • Remove Liquidity: ในเมื่อคนรู้ว่าราคา Governance Token จะตกลง จึงรีบถอนสภาพคล่องออกเพื่อป้องกันการโดน Impermanent Loss และการที่สภาพคล่องหายไปทำให้เกิด Slippage ที่มากขึ้นในการแลกเปลี่ยน
  • Loop: เหตุการณ์ด้านบนก็จะวนลูปไปเรื่อยๆ และทำให้สถานการณ์แย่ลงเรื่อยในระยะยาว
  • Research: บทวิเคราะห์จาก Nansen.ai เรื่อง Analysis of MasterChef เล่าว่า 1) 42% ของคนฟาร์มจะ ถอนสภาพคล่องออกภายใน 24 ชั่วโมง  2) 16% จะออกภายใน 48 ชั่วโมง  3) ภายใน 3 วัน 70% ของสภาพคล่องจะถูกถออนออกไป นี่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของการเปิดให้ผู้อื่นมาเพิ่มสภาพคล่อง ทางออกที่พยายามแก้กันคือการเพิ่มประโยชน์ในการใช้งาน Governance Token ให้มากที่สุดจนคนไม่อยากขาย

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่หลายๆแพลตฟอร์มต้องพบเจอ มี Governance Token เพียงไม่กี่แพลตฟอร์มที่ยังรักษาราคาให้ไม่ตกได้ แต่แพลตฟอร์มที่ได้ผลกระทบจากการเทขาย Governance Token มีเยอะมาก และเคสล่าสุดเกิดกับ Latteswap มีข่าวว่า Sam Bankman-Fried เจ้าของ FTX Exchange อาจจะนำสินทรัพย์จาก Adamant Finance มาฝากที่ Latteswap เพื่อฟาร์มเหรียญ Latte จนได้พอสมควรจึงเทขาย Governance Token อย่างแรงทำให้จากราคาประมาณ $8 ร่วงอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันนี้ราคาเหลือเพียง $0.2 แต่ OlympusDAO นั้นใช่วิธีการที่ต่างออกไปที่จะแก้ปัญหา Toxic Liquidity

OlympusDAO

ปัจจุบันมี Market Cap ที่ 3,600 ล้านดอลลาร์ เป้าหมายหลักของแพลตฟอร์มคือการสร้างสินทรัพย์ที่เก็บมูลค่าได้ดีและมีความกระจายศูนย์ (Decentralized Store of Value) ใช้ชื่อว่า OHM เนื่องจากปัจจุบันในโลก DeFi จะมีความผันผวนสูงอยู่แล้ว Stablecoin มากกว่า 90% ก็ยังเป็นแบบ Centralized มาก เช่น USDT, USDC และ BUSD อาจถูกควบคุมโดยรัฐและเงินเฟ้อกัดกินอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย (Purchasing Power) OlympusDAO จะมีสินทรัพย์ค้ำมูลค่าและสินทรัพย์เหล่านั้นยังสามารถหาผลตอบแทนได้สม่ำเสมอ 

ปัจจุบันสินทรัพย์ที่ใช้สำรองก็มีหลากหลายทั้งเป็น Stablecoin เช่น DAI, FRAX, LUSD หรือเป็น Cryptocurrency เช่น ETH, และ LP token เช่น OHM-DAI LP และ OHM-ETH LP ผู้ใช้ OHM จะทราบว่าราคา OHM มีมูลค่าแท้จริงเท่าไหร่ เราจะเรียกว่า Backing per OHM

Bond (1,1)

โดยปกติแล้วหากราคา OHM มีค่าเท่ากับราคาสินทรัพย์ที่ค้ำอยู่ก็คงจะไม่มีใครเห็นค่าของมัน OlympusDao จึงคิดค้นวิธีการขาย OHM ที่เรียกว่าว่า Bond (1,1) โดยหลักการก็คือ

  • OlympusDao เปิดขาย Bond ที่นำไปแลก OHM ในราคาส่วนลดที่กำหนด (ROI ในภาพ) 
  • สินทรัพย์ที่ใช้ซื้อ Bond จะมีตามที่แพลตฟอร์มกำหนดและอาจเพิ่มได้ในอนาคต 
  • เมื่อซื้อ Bond แล้ว ทางแพลตฟอร์มจะลอค OHM ไว้ 33,110 blocks หรือประมาณ 5 วัน 
  • เมื่อครบกำหนดสามารถเคลม OHM ออกมาได้ จะนำไป Stake ต่อหรือขายก็ได้
  • ราคา Bond จะค่อยๆลดลงเรื่อยๆจนถึงจุดที่นักลงทุนคำนวณแล้วว่าคุ้มจึงซื้อ หลังจากนั้นราคา Bond ก็จะกลับขึ้นมาใหม่
  • ส่วนลด 3% นั้นเป็นผลตอบแทนภายใน 5 วัน หากทำซ้ำทุกๆ 5 วันจะได้ APR  219% เลยทีเดียว และยังสามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆ ทำให้มีแรงซื้อ Bond มาเรื่อยๆจนผลักดันราคา OHM ให้สูงกว่า Backing per OHM ที่เป็น Intrinsic Value อย่างมาก

Staking (3,3)

หลังจากได้ OHM จะมีทางเลือกให้ขายหรือนำ OHM ไป Stake ในแพลตฟอร์มเพื่อรับ OHM ส่วนเกินจากการ Bond ได้ โดย OHM ใหม่ที่ได้รับนั้นจะทบต้นให้โดยอัตโนมัติ ทำให้ผลตอบแทนได้รับคำนวณเป็น APY

จากตัวอย่างปัจจุบัน การ Stake OHM ได้ผลตอบแทนที่สูงถึง 8,312.5% APY สาเหตุที่มันได้เยอะแบบนี้มาจากกลไกการรักษาราคา OHM ครับ 

กลไกการรักษาราคา OHM

กรณี 1 OHM < Backing per OHM: OlympusDAO จะใช้เงินในคลังซื้อคืน OHM ในตลาดที่ราคาต่ำ และ Burn ทิ้ง ทำให้จำนวน OHM ในตลาดลดลงส่งผลทางอ้อมให้ราคาขึ้น

กรณี 2 OHM > Backing per OHM (สถานการณ์ปัจจุบัน): OlympusDAO จะ Mint OHM ใหม่ขึ้นโดยการขายที่ Bond (1,1) คนซื้อ Bond จะได้ OHM ราคาถูก ซึ่งในเบื้องหลังนั้นต้นทุนการ Mint OHM จะใช้เงินเท่ากับ Backing per OHM นั่นก็หมายความว่าส่วนต่าง OHM กับ Backing per OHM จะเป็นกำไรให้แพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มจะนำเงินส่วนเกินนี้หักค่าใช้จ่ายในการบริหารและนำกลับไปให้คนที่ Stake OHM นั่นเอง 

สถานการณ์ปัจจุบันของ OlympusDAO

  • OHM ราคา $923.43
  • Discount OHM  ของ OHM-DAI LP ราคา $894.01
  • Backing per OHM ราคา $167.01

ผู้ซื้อ OHM-DAI Bond: จะได้กำไรจากส่วนลดราคาของ Bond เท่ากับ 923.43-894.01 = $29.42 คิดเป็น APR 236.52%

ผู้ Stake OHM: จะได้กำไรจากส่วนต่างราคา OHM ที่ขายกับ Backing per OHM เท่ากับ 894.01-167.01 =  $727 คิดเป็น APR 435.3% หรือ 7473.55% APY ใกล้เคียงกับที่แสดงบน Dashboard

ตราบใดที่ OHM ยังราคาสูงกว่า Backing per OHM แพลตฟอร์มจะขาย Bond เพื่อ Mint OHM ออกมาเรื่อยๆ และกำไรจากส่วนต่างนั้นก็จะนำมาทบให้กับผู้ที่ Stake OHM เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ราคา OHM จะลดต่ำลงไปจนถึง Backing per OHM ได้ สำหรับผู้ที่ Stake ไม่ชิงขายก่อนแม้จะได้รับผลกระทบจากราคา OHM ที่ตก แต่ APY ที่สูงก็น่าจะชดเชยให้ผู้ที่ Stake OHM ได้กำไรเช่นกัน ผมจะยกสถานการณ์ปัจจุบันมาคำนวณให้ดูนะครับ

เปรียบเทียบการขายและการ Stake OHM กำหนดให้วันที่ 1 มกราคม  Alice มี 1 OHM และต้องการผลกำไรสูงที่สุดจะเลือกอะไรระหว่างการขาย OHM วันนี้แล้วนำไปลงทุนที่อื่นหรือ Stake OHM ?

ทางเลือก 1 ขาย OHM แล้วนำไปฝาก Anchor

  • Alice ขาย 1 OHM ได้ $894.01
  • นำไปฝาก Anchor ที่ได้ดอกเบี้ย 20% APY รวมมีเงินตอนสิ้นปี $1,072.81

ทางเลือก 2 Stake OHM

  • Alice stake OHM ใน Staking (3,3)
  • ปัจจุบัน APY 8,043.6% แต่อนาคตจะลดลงเรื่อย จึงขอเฉลี่ยที่ APY 1,000%
  • สิ้นปี Alice จะมีทั้งสิ้น 11 OHM
  • ถ้าสิ้นปีราคา OHM ตกจนเหลือเท่ากับ Backing per OHM จะติดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น $1,837.11

สรุปได้ว่าการ Stake ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า แม้ว่าราคา OHM จะค่อยๆตกลงไปก็ตาม นอกจากนี้สินทรัยพ์ที่มาค้ำมูลค่าก็มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ราคา Backing per OHM จะค่อยๆสูงขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน หรือจะใช้ wsOHM price บนหน้า Dashboard เป็นการประเมินราคา OHM ปัจจุบันจะมีค่าประมาณเท่าไหร่ก็ได้เช่นกัน 

3,3 Together

นอกจากนี้การ Stake OHM จะได้ sOHM มาเป็นสัญญาในการฝาก รายได้จากการขาย Bond จะมาทบต้นใน sOHM Pool ทำให้ sOHM เป็นแหล่งเก็บสะสมมูลค่าที่โตขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถฝาก sOHMไว้ใน 3,3 Together จาก Pool Together ซึ่งเป็น Partnership กับ OlympusDAO โดยถ้าเราฝาก sOHM ไว้ที่นี่จะมีโอกาสได้รับรางวัลพิเศษ ยิ่งฝากมากก็ยิ่งมีโอกาสได้มาก ลักษณะคล้ายกับสลากออมสินของธนาคารออมสินครับ และเมื่อเราต้องการ Unstake การแลก sOHM กลับเป็น OHM จะทำให้ได้ OHM มากกว่าเดิม เพราะมี OHM เสริมจากรายได้ขาย Bond 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นภาพรวมการทำงานคร่าวๆของ OlympusDAO ครับ ต่อจากนี้เราจะไปดูที่ Olympus Pro กัน

Olympus Pro

Olympus Pro เป็นแพลตฟอร์มที่แยกออกมาจาก OlympusDAO โดยจะเน้นไปที่การขาย Bond เท่านั้น เพราะการขาย Bond โดยใช้ LP ในการซื้อนั้นจะส่งผลดีอย่างมากกับทางแพลตฟอร์มเอง และตัวผู้ซื้อที่ได้ของในราคาถูกก็ได้ประโยชน์มากขึ้นเช่นกัน โดยรวมแล้วจะช่วยให้แพลตฟอร์มต่างๆแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องได้ ส่วนที่ต่างจะมีแค่ระยะเวลาปลดลอคเป็น 7-14 วัน แล้วแต่แพลตฟอร์มกำหนด และปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่เข้าร่วมการขายแล้วถึง 11 แพลตฟอร์มและมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ 

ความยั่งยืนของ OlympusDAO และ Olympus Pro

จากข้อมูลที่เล่ามา คงจะเห็นได้ว่าการ Stake นั้นให้ผลตอบแทนที่สูงมาก และ Bond ก็ยังให้ประโยชน์กับทั้งแพลตฟอร์มและผู้ซื้อเช่นกัน เรามาไล่ประโยชน์ที่ตัวแพลตฟอร์มได้รับและประโยชน์ที่ผู้ซื้อ Bond ได้รับกันครับ

ประโยชน์กับแพลตฟอร์ม

  • Protocol Owned Liquidity (POL): LP ที่ได้ได้จากการขาย Bond จะกลายเป็นของแพลตฟอร์มทำให้ลดคนที่จะถอนสภาพคล่องออกไปได้เยอะ แลกกับการขาย Governance Token ในราคาส่วนลด ถือว่าดีลนี้ Win-Win ทั้งสองฝ่าย
  • Shift in Market Dynamics: เมื่อก่อนที่เป็น Pool 2 ผู้เข้าร่วมจะเพิ่มสภาพคล่องแล้วรีบกอบโกยผลประโยชน์ออกให้เร็วที่สุด การใช้ Bond ทำให้ผู้เพิ่มสภาพคล่องกอบโกยโดยการซื้อ Governance Token ในราคาส่วนลด ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิธีการหารายได้จากแพลตฟอร์มไปหมด
  • Bond through LP: การขาย Bond ด้วยการนำ LP มาแลกทำให้สภาพคล่องจะมีแต่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลดีต่อแพลตฟอร์มด้านการรักษาราคา เรื่อง Slippage จากการซื้อครั้งละมากๆ ทำให้ผู้คนมั่นใจในแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น
  • New Revenue Stream: LP ที่ได้รับมานั้นเป็น Interest-bearing Token หมายความว่ามันสามารถหารายได้เพิ่มได้ด้วยการรับ Trading Fee จากการเป็น Liquidity Provider ทำให้แพลตฟอร์มมีการหารายได้ได้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก
  • Partnership: หลักการนี้ทำให้ Olympus Pro ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางให้แพลตฟอร์มอื่นนำ Governance Token มาแลกกับ LP ได้เช่นกัน ส่งผลดีต่อภาพรวมแพลตฟอร์มทั้งหมดของ DeFi
  • 3.3% Fee: ทุกครั้งที่มีการขาย Bond ค่าธรรมเนียม 3.3% จะถูกส่งเข้าไปที่ OlympusDAO เพื่อให้แก่ผู้ Stake OHM
  • Usage: การ Stake เป็นการเพิ่มประโยชน์ในการถือ OHM ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วการ Stake ยังให้ผลตอบแทนดีกว่าการขายทำกำไร

ประโยชน์กับผู้ซื้อ Bond

  • Discounted Token: สำหรับผู้ตั้งใจถือ Governance Token ระยะยาว การได้มันมาในราคาส่วนลดก็ยิ่งดีต่อตัวเขาเอง
  • No Impermanent Loss: การผูก LP นั้นมีข้อเสียคือเรื่อง IL แต่การถือ Governance Token ไม่มีความเสี่ยงด้านนี้
  • Confidence in Liquidity: การมี LP ที่คงอยู่ถาวรจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานแพลตฟอร์มนี้ได้อย่างมาก และมี Slippage น้อย

เปรียบเทียบการขาย Bond กับระบบการเงินในปัจจุบัน

แม้ว่าการขาย Bond ใน DeFi จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกใหม่ แต่จริงๆแล้วระบบนี้ใช้กันแพร่หลายมากในธนาคารกลางทั่วโลก จากข้อมูลของ messari ธนาคารกลางใช้หลักการนี้ในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินประเทศตัวเองเช่นกัน จากในรูปตัวอย่างจะเป็นธนาคารกลางของจีนที่มีสินทรัพย์ในคลังเป็นเงินดอลลาร์และทอง หากเกิดสถานการณ์ที่สั่นคลอนเสถียรภาพของประเทศทำให้เงินหยวนอาจถูกเทขาย รัฐบาลจีนก็จะใช้เงินในคลังนี้นำมาช้อนซื้อเงินหยวนเพื่อรักษาราคาไว้ให้ได้

Game Theory ของ OlympusDAO

หลายคนอาจจะคิดว่า APY มหาศาลแบบนี้คงจะอยู่ได้ไม่นาน ซักพักฟองสบู่ก็จะแตกและทำให้ OHM คงมูลค่าไว้ไม่ได้ จริงๆแล้วเบิ้องหลังการ Staking (3,3) และ Bond (1,1) นั้นมีที่มาที่ไปและได้รับการคำนวณมาอย่างดีแล้วค OlympusDAO มีวิธีการคิดนี้มีเบื้องหลังมาจากการวิเคราะห์ Game Theory และหาทำผลลัพธ์ออกมาให้เยอะที่สุดจากการร่วมมือกันให้แพลตฟอร์มไปต่อได้ 

หากใครไม่เคยได้ยิน Game Theory จะขอเล่าให้ฟังแบบคร่าวๆ คือ เป็นการศึกษาการตัดสินใจของคน โดยเกมนี้แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่ายและทั้งสองสามารถเลือกกระทำการได้ 1 อย่างจากตัวเลือก 2 อย่าง ผลลัพธ์ที่ออกมาจะดีหรือไม่ดีจะต้องขึ้นอยู่กับอีกฝ่ายมาตัดสินใจเช่นกัน

ตัวอย่างคลาสสิคเรียกว่า Prisoner’s Dilemma นักโทษ A และ B ปล้นธนาคารด้วยกันแต่โดนจับได้ ทั้งสองมีทางเลือกสองทางคือ ”ทรยศ” หรือ “ปิดปากเงียบ” 

  • หากทั้งสองปิดปากเงียบจะได้รับโทษเพียงคนละ 1 ปี    
  • ถ้าทั้งสองคิดทรยศเหมือนกันก็จะได้รับโทษคนละ 2 ปี  
  • ทั้งสองคิดต่างกัน คนที่ทรยศจะไม่ต้องติดคุก ส่วนอีกฝั่งหนึ่งจะติดคุก 5 ปี หากมองที่จำนวนปีรวมที่ติดคุกแล้ว การร่วมมือกันเป็นทางออกที่ดีที่สุด

กลับมาที่ Game Theory ของ OlympusDAO ทางแพลตฟอร์มได้วิเคราะห์ออกมาดังนี้ แบ่งเป็นสองฝ่าย คือ เราและคนอื่น แต่มีการกระทำ 3 อย่างคือ Stake, Bond และ Sell OHM

  • จากการวิเคราะห์แล้ว การ Stake และ Bond เป็นทางออกที่ดีแก่ทุกฝ่าย 
  • ส่วนการเทขาย OHM จะส่งผลเสียต่อเราที่ได้รับกำไรไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยและยังส่งผลเสียต่อระบบเช่นกัน อ่านการวิเคราะห์ของ OlympusDAO ได้ที่นี่

การออกแบบเช่นนี้ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความร่วมมือกันและช่วยกันรักษาระบบให้อยู่รอดได้นานที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองแต่ส่งผลดีต่อภาพรวมแพลตฟอร์มเช่นกัน

Wonderland แพลตฟอร์มทางเลือกของ OlympusDAO

ด้วยความที่ OlympusDAO นั้นตั้งอยู่บน Ethereum Chain หลายคนคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าค่าแก๊สในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งแพงมาก อย่างต่ำๆแล้วประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป เพราะฉะนั้นคนทั่วไปคงใช้งานยาก ดังนั้นผมแนะนำแพลตฟอร์ม Wonderland ที่ตั้งอยู่บน Avalanche Chain แพลตฟอร์มนี้ถูกพัฒนาโดย Daniele Sesta คนเดิมที่พัฒนา Abracadabra จากบทความก่อน จุดแข็งของ Wonderland คืออยู่บน Avalanche Chain ที่มีความเร็วและค่าแก๊สที่ถูกมาก เหรียญของ Wonderland ชื่อ TIME ส่วนการซื้อจะใช้คำว่า Mint แทนคำว่า Bond แต่หลักการคือการขาย TIME ลดราคาให้แก่ผู้ซื้อเหมือนกัน ใครสนใจอยากลองใช้งาน OlympusDAO ก็ใช้ Wonderland แก้ขัดไปก่อนได้ครับ

ความเสี่ยงของ OlympusDAO

นอกเหนือจากความผิดพลาดของผู้ใช้งานที่ทำ Seed หลุด หรือช่องโหว่ที่เกิดจาก Code ที่เขียนมาไม่รับกุมพอ หรือ Tokenomics ของ OHM ที่อาจมีจุดอ่อนแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลจากการขาย Bond คือผลกระทบจากการขาย Bond ครับ

คุณ Justin Bram ได้วิเคราะห์ OlympusDAO แล้วพบความเสี่ยงหนึ่งที่ค่อนข้างน่ากังวลก็คือ จำนวนผู้ถือ OHM ในช่วงหลังๆมานี้กระจุกอยู่เพียงแค่คนไม่กี่คน และปัจจุบันนี้ก็น่าจะได้กำไรไปพอสมควรแล้ว จึงกังวลว่าอาจเกิดการ Cash out หรือการเทขาย OHM เพื่อทำกำไรบ้างก็เป็นได้ อาจส่งผลให้ APR ตกลงอย่างรวดเร็วจนไม่คุ้มที่จะ Stake จึงเกิดการเทขายกันเป็นทอดๆจนระบบพังในที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลเช่นกัน ใครสนใจรายละเอียดเข้าไปดูได้ที่นี่

สรุป

OlympusDAO และ Olympus Pro นั้นล้วนเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่มีความต้องการช่วย Community ในโลก DeFi ให้ดียิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก และแม้ว่า Code จะไม่ได้ Fork เคสสำเร็จที่ไหนมาแต่ก็ยังไม่มีประวัติการถูกแฮคหรือโจมตีช่องโหว่ จึงถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่น่าจับตามาก ถ้าหากว่า OlympusDAO เกิดสำเร็จขึ้นมา จะเป็นการพลิกโฉม DeFi ใหม่ทั้งหมดเพราะการฟาร์มแบบเดิมแทบจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว และความยั่งยืนของแต่ละแพลตฟอร์มก็มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนใน DeFi ยังมีความเสี่ยงซ่อนอยู่เสมอเพียวแต่ตอนนี้อาจจะยังไม่ถูกเปิดเท่านั้น เพราะฉะนั้นควรศึกษาให้ดีก่อนการลงทุนนะครับ

บทความนี้เขียนโดย Parit Boonluean

ตรวจสอบและช่วยเรียบเรียงโดยแอดมินหาญ

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป