หลังจากที่ Ethereum ได้มีการอัพเกรด EIP-1559 บน Testnets ทั้งหมดแล้ว ล่าสุดผู้ก่อตั้ง EthHub ได้มีการทวีตข้อความคาดการณ์การอัพเกรด ETH London Hard Fork (EIP-1559) ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการดำเนินการในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ โดยการอัพเกรดนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงด้าน Tokenomics ที่สำคัญมากๆของ Ethereum ก็ว่าได้ วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกันครับว่าการอัพเกรด EIP-1559 นี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและผู้ใช้งานอย่างไร
Ethereum คือระบบหรือแพลตฟอร์มกระจายศูนย์ที่เราสามารถสร้างเหรียญ สร้าง Smart Contract และสร้าง dApp ต่างๆได้มากมาย เปรียบเทียบง่ายๆ Ethereum เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ทำงานบนเครือข่ายระบบ decentralized ที่พร้อมจะให้ใครก็ตามมาออกแบบหรือปรับแต่งสิ่งต่างๆบนตัวมันได้ โดยจะมีการใช้เหรียญ ETH สำหรับจ่ายค่า gas หรือเป็นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆเช่น การโอนทรัพย์สินไปจนถึงการรันแอปพลิเคชั่นต่างๆบนระบบของ Ethereum
ซึ่ง Ethereum นั่นแตกต่างจาก Bitcoin ตรงที่มันมี supply ที่ไม่จำกัด จึงทำให้ผู้ใช้งานหลายๆคนมีความเป็นกังวลใจโดยเฉพาะในเรื่องของการเป็น Store of Value หรือการเก็บรักษามูลค่าในระยะยาวว่า Ethereum นั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสมจริงๆหรือไม่
และเนื่องจากปัจจุบันเทรนด์ของ Defi และ NFT กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายจึงส่งผลให้ blockchain ของผู้นำตลาดอย่าง Ethereum มีจำนวนธุรกรรมที่มากขึ้นหลายเท่าตัวจนเกิดปัญหาเครือข่ายล่าช้าจากความแออัดและค่า gas ที่ใช้ในการทำธุรกรรมก็เพิ่มสูงขึ้นมหาศาล จนทำให้ผู้ใช้งานหลายๆคนหันไปใช้งาน blockchain ที่มีค่าธรรมเนียมถูกกว่า เช่น BSC,Polygon และอื่นๆ
ซึ่งการทำงานของ Ethereum ในเวอร์ชันเดิมจะเป็นการคิดราคาค่าธรรมเนียมตามการประมูลของผู้ใช้ในระบบ และนักขุดจะเลือกตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมที่มีราคาสูงที่สุดก่อนซึ่งแปลว่าถ้าเราใส่ค่าธรรมเนียมที่ต่ำเกินไปก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมได้นั้นเอง โดยค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้งานทั้งหมดก็จะกลายเป็นรายได้แก่นักขุดโดยตรง
ด้วยเหตุนี้จึงมีการอัพเกรดที่เรียกว่า EIP-1559 (Ethereum Improvement Proposal ฉบับ 1559)
เพื่อแก้ไขปัญหาหลักๆข้างต้น นั้นคือ
EIP-1559 จะช่วยรองรับการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น และทำให้สามารถคาดการณ์ต้นทุนของค่าธรรมเนียมได้ โดยจะทำการเพิ่มขนาดบล็อกเป็นสองเท่า และมีการเปลี่ยนกลไกของการคิดราคาค่าธรรมเนียมโดยจะมีการใช้ Base Fee สำหรับการทำธุรกรรม ทำให้ค่าธรรมเนียมในเครือข่ายมีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้มากขึ้น
Base Fee จะถูกกำหนดโดยราคาตลาดของ ETH ในปัจจุบันและจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับปริมาณการทำธุรกรรมบนเครือข่าย และผู้ใช้สามารถจ่าย miner tip ให้แก่นักขุดหรือคนยืนยันธุรกรรมในระบบเพื่อเร่งการทำธุรกรรมให้เร็วขึ้นได้อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมได้อีกด้วย หมายความว่าในเวลาที่มีการทำธุรกรรมจำนวนมากธุรกรรมที่มี Base Fee ต่ำกว่าจะถูกจัดคิวอย่างมีประสิทธิภาพแทนที่จะถูกปฏิเสธอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นสูงจนทำให้ค่า gas สูงมากเกินไป Base Fee จะเพิ่มขึ้นตามและเมื่อมีการทำธุรกรรมต่ำกว่าขีดจำกัดที่ตั้งไว้ Base Fee จะลดลงซึ่งการเปลี่ยนแปลง Base Fee จะอยู่ในกรอบที่กำหนด ดังนั้นจึงง่ายต่อการคาดการณ์ค่าธรรมเนียม และจะทำให้ค่าธรรมเนียมในตลาดมีความโปร่งใสและเชื่อถือได้มากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับ EIP-1559 คือ Base Fee ที่จ่ายเป็นเหรียญ ETH ในทุกธุรกรรมจะนำไปเผาทิ้งจากระบบซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีกลไก Ethereum deflationary เกิดขึ้นเพื่อที่จะเพิ่มภาวะเงินฝืดให้แก่ระบบของ Ethereum ทำให้มีปริมาณ supply ที่น้อยลงและยิ่งถ้ามีคนใช้ ETH เพิ่มมากขึ้นจำนวน Base Fee ก็จะยิ่งถูกเผาจากระบบมากขึ้นเช่นกัน
ในส่วนนักขุดจะมีความแตกต่างจากเดิมตรงที่ก่อนหน้านี้ค่าธรรมเนียมจะจ่ายให้แก่นักขุดเต็มจำนวนโดยนักขุดจะได้รับทั้งรางวัลบล็อกและค่าธรรมเนียมเต็มจำนวน แต่ภายหลังจากการอัพเกรดนี้นักขุดจะได้รับเพียง block reward และ miner tip ที่มีการเสนอให้เท่านั้น
โดยส่วนตัวแอดมินมองว่าการอัพเดตนี้จะส่งผลดีต่อระบบนิเวศโดยรวมในระยะยาวเพราะ การที่ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบนเชนของ Ethereum ถูกลงก็ทำให้มีการใช้งานบนเชนเพิ่มมากขึ้น จำนวน block reward และ miner tip ที่นักขุดจะได้รับก็เพิ่มมากขึ้นตาม อีกทั้งเหรียญยังมีกลไกภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้นมา โดยการนำค่า Base Fee ที่เป็น ETH ในระบบไปเผาทั้งหมด อาจจะส่งผลให้ราคา Etheruem สูงขึ้นเนื่องจาก ปริมาณ supply ลดลง แต่ demand ยังเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น
และในแง่ของการลงทุนแล้วการอัพเดต EIP-1559 ของ Ethereum จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้แก่ Ethereum และคาดว่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากสถาบันรายใหญ่และรายย่อยเพื่อเป็นตัวเลือกในการลงทุนหรือเลือกถือ Ethereum เป็นทุนสำรองของบริษัทในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย
Credit Feature Image : Yield App