เจ้าสัวธนินท์ เผย!! สนใจศึกษา Bitcoin แม้เสียเงินไป 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วก็ตาม

ที่เพจ Facebook ของ THE STANDARD WEALTH ได้รายงานว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์นั้น สนใจศึกษา ‘Bitcoin’ แม้จะเสียเงินไป 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.30 -12.05 น. นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์  ได้เข้าร่วมให้ความเห็นหัวข้อ SME Clinic ในแอปพลิเคชั่นคลับเฮ้าส์ โดยมีหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้เข้าร่วมฟัง 8,000 คน พร้อมแนะนำไอเดียนำธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด

“ตื่นเต้นเหมือนกัน” คือคำทักทายแรกที่ ‘เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์’ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือ CP กล่าวทักทายบน #Clubhouse ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มแรกที่เจ้าสัวเปิดแอคเค้าท์ภายใต้ชื่อของตัวเองอย่างเป็นทางการ โดยในช่วงเช้าวันนี้ (26 ก.พ.) ได้มีการพูดคุยเป็นครั้งแรกผ่านห้องที่ชื่อว่า ‘SME Clinic โดยคุณธนินท์ ร่วมคิดฝ่าวิกฤตด้วยช่วยคุณ’ ซึ่งดำเนินรายการโดย หนุ่ย พงศ์สุข มีการพูดคุยเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง

“ผมว่า Clubhouse มีคนตั้งใจจริงๆ ที่จะเข้ามาฟัง พูดแล้วมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจยุคใหม่ไม่เหมือนแบบเก่า เราต้องเปิดใจเรียนรู้กับคนใหม่ๆ เรามันรุ่นเก่า ประสบการณ์ของเราผ่านมากับธุรกิจที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับคน การบริหารคน การลงลึก รู้จริง”

“ผมอาจถนัดธุรกิจหนักๆ แต่ผมก็กำลังทำธุรกิจหนักให้เป็นธุรกิจเบาๆ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม เช่น โลจิสติกส์ เรื่องใหม่ๆ เราต้องเรียนรู้กับคนใหม่ๆ ที่ทำสำเร็จในโลกนี้ เรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ ปรับให้เหมาะสมกับเครือ และผมสนใจมากเรื่องธุรกิจสตาร์ทอัพ เล็ก กลาง เพราะเด็กในวันนี้จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า”

เจ้าสัวธนินท์ ระบุว่า ยุค 4.0 จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งมาเจอ ‘วิกฤตโควิด-19’ ซึ่งรุนแรงกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ได้เร่งให้การเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งในวิกฤตตามมาด้วยโอกาส ส่วนตัวเป็นคนที่ไม่มองวิกฤตอย่างเดียว เพราะมีวิกฤตก็ต้องมีโอกาส มีโอกาสก็จะตามมาด้วยวิกฤตคู่กัน

ในมุมของ เจ้าสัวธนินท์ มองว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาสโดยเฉพาะสตาร์ทอัพ แต่สตาร์ทอัพในเมืองไทยยังขาดเงินที่เข้ามาสนับสนุน ตลอดจนการส่งเสริมจากภาครัฐ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจะมีการเก็บภาษีรายได้จากนักลงทุน ในขณะที่การลงทุนในสตาร์ทอัพไม่ได้การรันตีว่าจะมีกำไรเสมอไป อาจจะขาดทุนก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน

“คนเก่งๆ ต้องการมาอยู่เมืองไทย แต่กฎหมายของเราไม่ต้อนรับคนเก่ง และเรามัวแต่ใช้แรงงานราคาถูกซึ่งหมดยุคไปแล้ว ต่อไปนี้ต้องพูดว่า ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด และคำว่าแรงงานจะไม่มี จะมีแต่วิศวกร ช่างเทคนิค ใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรหมด ทำแทนคนหมด ไม่มีสวัดดิการ ไม่มีสหภาพแรงงาน และประเทศที่เจริญแล้วจะไม่มีเกษตร แต่การขายจะง่ายขึ้น เรื่องวัสดุดิบจะอยู่บนเว็บไซต์ทั้งหมด”

เจ้าสัวธนินท์ กำลังจะตั้งกองทุนมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,000 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนสตาร์ทอัพโดยมุ่งไปที่ธุรกิจที่เป็น 4.0 และเป็นธุรกิจแบบใหม่ที่ยังขาดเงินหรือความรู้ที่ช่วยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งกองทุนจะเติมเต็มให้ทั้งคู่ เช่น มีสตาร์ทอัพรายหนึ่งจะผลิตสินค้าสำหรับ 7-Eleven ทาง 7-Eleven ก็ต้องไปดูว่า สินค้านั้นเหมาะสมกับ 7-Eleven ไหม แล้วจะทำอย่างไรให้สินค้านั้นเป็นของดีราคาถูก เพื่อที่จะได้นำมากระจายให้กับลูกค้าของ 7-Eleven

“ผมอยากจะฝากไปถึงสตาร์ทอัพต้องศึกษาข้อมูลว่า เราจะทำอะไรก็ตาม ข้อมูลวัตถุดิบ ข้อมูลตลาด ตลาดต้องการอะไร ดีที่สุดต้องไปศึกษาว่า มีคนเริ่มทำไปหรือยัง เขาทำได้ดียังไง เราต่อยอดได้ไหม แล้วเรายังขาดคนแบบไหนที่จะมาเสริมทีม ก็ต้องเชิญมาจากทั่วโลก มาผนึกกำลังกัน วันนี้ไม่ใช่เก่งคนเดียว แต่ต้องเอาคนเก่งเป็นทีมมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ ยุค 4.0 ไม่ใช่ One Man Show อีกแล้ว”

ในส่วนของการพัฒนาคนนั้น เจ้าสัวธนินท์ให้มุมมองว่า ต้องคิดว่าพนักงานของเราเหมาะสมอะไร แล้วเราจะทำอะไร เราต้องศึกษาและมีเป้าหมาย ถึงจะจับคู่คนให้เหมาะสมกับงาน ที่สำคัญต้องให้อำนาจตัดสินใจ ไม่ใช่บงการ และโอกาสให้ได้ลองผิดลองถูก แต่ผิดวันนี้ต้องแก้พรุ่งนี้ ที่สำคัญชี้แนะได้แต่ห้ามชี้นำ อีกเรื่องที่สำคัญคือ ‘การตลาด’ ต้องมีข้อมูลให้ได้ลองถูกลองผิด

“ผมชอบเรียนรู้และต่อยอด เราอย่านึกว่าเราเก่ง มีคนเหนือคนนะครับ” เจ้าสัวธนินท์ กล่าว โดยนอกเหนือจากกองทุนที่ลงกับสตาร์ทอัพโดยตรง อาจมีการตั้งกองทุนขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จแล้ว

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการพูดคุยแล้วยังเปิดโอกาสให้มีการถามตรงกับเจ้าสัวธนินท์ หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่ ‘แจ็คหม่า’ ผู้ก่อตั้ง Alibaba แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากแดนมังกร แต่ในวันนั้นยังเป็นเพียง SME ตัวเล็กๆ ในนักลงทุน 22 รายที่ทำรายชื่อไว้ คนแรกที่เดินทางมาหาถึงที่คือ เจ้าสัวธนินท์ เพื่อขอทุนตั้งบริษัท Alibaba แต่ เจ้าสัวธนินท์ ไม่ได้ตอบตกลง

เจ้าสัวธนินท์ตอบว่า ยังทบทวนถึงวันนี้เลย ตอนนั้นไปเข้าคอร์สเรื่องอีคอมเมิร์ซที่ฮ่องกง ได้พบกับ ‘แจ็คหม่า’ และรู้จักอย่างดี โดยที่ไปเข้าคอร์สเพราะต้องการไปเสาะหาสตาร์ทอัพเก่งๆ เพื่อลงทุน พอเจอเข้าไปจริงๆ กลับฟังไม่รู้เรื่อง เจ้าสัวธนินท์ยอมรับว่าตัวเองทำตัวหนักมาตลอด จึงฟังแจ็คหม่าแล้วเหมือนเพ้อฝันหรือเปล่า

“ทุกอย่างมีเหตุมีผล แต่ผมมองไม่เห็นตัวตนเลย คุณบอกว่าภูเขานี้เป็นทอง แต่ผมมองทีไรก็เป็นภูเขา ต้นไม้ และก้อนหิน ทำไมคุณถึงมองเป็นทอง เหมือนวันนี้ไม่มีผิดอย่างที่บิทคอยน์ ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเนื้อแท้ เมื่อ 3 ปีก่อนได้เสียเงินให้บิทคอยน์ไปนิดหน่อยประมาณ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่วันนี้ผมยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ กำลังเรียนรู้อยู่”

“ถ้าวันนั้นผมเชื่อมั่นแจ็คหม่า วันนี้ผมรวยไม่รู้เรื่องแล้ว เพราะผมรู้จักแจ็คหม่าต้นๆ เลย” เจ้าสัวธนินท์กล่าว

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Radius

ผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin , คริปโตเคอเรนซี่ และ Blockchain ทั้งในไทยและต่างประเทศ อัพเดทราคา มุมมองการลงทุน ใหม่ล่าสุดทุกวัน
ข่าวต่อไป